กทม. ขานรับนโยบายสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก จับมือศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้ารณรงค์ลดผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้เสียชีวิตจากเอดส์ และลดการตีตราแบ่งแยกผู้ติดเชื้อ ก้าวสู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ ภายใน 5 ปี
(16 ม.ค. 55) เวลา 13.00 น. : นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงานเสวนาเรื่อง “สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ (Getting to zero)” โดยมี พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดขึ้นเพื่อรณรงค์และสร้างแรงผลักดันที่สำคัญในการเข้าถึงยุทธศาสตร์การก้าวสู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ Getting to zero ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ผู้เกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วนได้ร่วมอภิปราย ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบาย “Getting to Zero”และแลกเปลี่ยนแผนการดำเนินงาน วิธีการ การประสานงาน ให้บังเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ข้อมูลที่นำไปใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ของประเทศไทย
สำหรับการเสวนาดังกล่าวกำหนดจัดขึ้น 4 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 9, 16, 26 และ 30 ม.ค. 55 ในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ (Zero New Infection)” โดยมีรายละเอียดของการประชุมเสวนา ประกอบด้วย การบรรยายและการอภิปรายกลุ่มในหัวข้อที่หลากหลาย อาทิ การบรรยายเรื่อง “สถิติการติดเชื้อใหม่ในกลุ่มต่างๆ” โดย นายแพทย์ ภาสกร อัครเสวี สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค การอภิปรายหัวข้อ “ทำไมจึงยังมีคนติดเชื้อใหม่อยู่ทั้งๆ ที่เอชไอวีน่าจะป้องกันได้ไม่ยาก” โดยตัวแทนจากนิสิต นักศึกษา ศิลปิน ดารา ผู้ติดเชื้อและคนทำงานด้านเอดส์ และ ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย และการอภิปรายในประเด็น แนวทางการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การลดการติดเชื้อรายใหม่ โดย คุณไกรวิทย์ พุ่มสุโข เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
กรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากโรคเอดส์ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ ในแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555-2559 เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ Getting to Zero ของโครงการเอดส์สหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก พร้อมขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์ 1. การปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการเพื่อการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ รวมถึงการสร้างเสริมความเป็นเจ้าของและศักยภาพของภาคีเครือข่ายในทุกระดับ 2. การพัฒนาข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ควบคู่กับการพัฒนาระบบการติดตามประเมินผล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ 3.การขยายการดำเนินงานในกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีโอกาสสูงต่อการรับเชื้อเอชไอวีหรือที่เรียกว่ากลุ่ม Key Affected Population ได้แก่ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย กลุ่มสาวประเภทสอง ผู้ให้บริการทางเพศ และผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักตามยุทธศาสตร์ Getting to zero โดยจะใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้จริง เช่น การสื่อสารเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavioral Communication Change) หรือใช้กลยุทธ์ทางการตลาด (Social Margeting) 4.การพัฒนากลไกด้านการจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านเอดส์ (City Fund) 5.สร้างโครงสร้างและกลไกเพื่อลดการตีตราการเลือกปฏิบัติและการคุ้มครองสิทธิ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี สามารถเข้าถึงบริการการป้องกันและดูแลรักษาเอดส์ โดยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินการรณรงค์สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การจัดประชุมเสวนา เรื่อง “สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ (Getting to Zero) เกิดขึ้นเนื่องจากโครงการเอดส์สหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก ได้ริเริ่มโครงการรณรงค์เรื่องโรคเอดส์ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 - 2559 โดยใช้ชื่อยุทธศาสตร์หลักว่า สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ “Getting to Zero” โดยที่ Zero หรือศูนย์ ประกอบด้วย 3 ศูนย์ (000) ศูนย์แรก คือ การไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ (Zero new infection) ศูนย์ที่สอง คือ การที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ (Zero death) และศูนย์สุดท้าย คือ การไม่มีการตีตราหรือการแบ่งแยกผู้ติดเชื้ออีกต่อไป (Zero stigma and discrimination)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น