ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กทม. ตั้งโรงเลี้ยงอาหารผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.ปทุมธานี

เดินหน้าส่งความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่วิกฤติจังหวัดต่างๆ ต่อเนื่อง ทุกช่องทาง ล่าสุดเปิด โรงเลี้ยงอาหารผู้ประสบภัย จ.ปทุมธานี รวม 2 จุด นาน 7 วัน พร้อมรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือทางศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยฯ บัญชีกองทุน กทม. ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และสายด่วน กทม. 1555

(30 ต.ค. 53) เวลา 11.00 น. : พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการจัดตั้งโรงเลี้ยงอาหารกรุงเทพมหานครช่วยผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดปทุมธานี ณ บริเวณ วัดบางเตยกลาง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งโรงเลี้ยงอาหารและน้ำดื่มสำหรับผู้ประสบอุทกภัย จ.ปทุมธานี จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณวัดบางเตยกลาง อ.สามโคก และจุดที่ 2 บริเวณวัดโบสถ์บ้านกลาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 29 ต.ค. - 4 พ.ย. 53 รวม 7 วันๆ ละ 2 มื้อ

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาค “ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤติ” ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) อีกทั้งตั้งเต็นท์รับบริจาคเงินและสิ่งของ ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม. และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ซึ่งได้จัดส่งถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤตใน อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี อ.พระนครศรีอยุธยา อ.ท่าเรือ อ.บางปะอิน อ.บางไทร อ.ผักไห่ จ.อยุธยา อ.บำเหน็จณรงค์ อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ อ.เสาไห้ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี อ.เมือง จ.อ่างทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี อ.พิมาย จ.นครราชสีมา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท และ อ.เมือง จ.ปทุมธานี เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์เบื้องต้นแก่ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 21 – 28 ต.ค. 53 รวม 28,890 ถุง นอกจากนี้ ได้สนับสนุนรถพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่เพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย สำนักอนามัยสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ จำนวน 20,000 ชุด สำนักการระบายน้ำสนับสนุนเรือท้องแบน จำนวน 20 ลำ สำนักสิ่งแวดล้อมสนับสนุนรถสุขา จำนวน 10 คัน รถบรรทุกน้ำดื่ม จำนวน 10 คัน ถุงใส่มูลฝอย 20,000 ใบ พร้อมเจ้าหน้าที่ จำนวน 120 คน และสำนักการโยธา สนับสนุนรถบรรทุก จำนวน 10 คัน รถซ่อมบำรุงจำนวน 1 คัน อีกทั้ง สำนักปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบสิ่งของสำหรับบรรจุถุงยังชีพ จำนวน 8,500 ถุง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ส่งมอบให้ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี จ.ชัยภูมิ และ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เรียบร้อยแล้ว

อนึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความยินดีที่จะสนับสนุนถุงยังชีพและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยให้จังหวัดและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ที่ประสบภัยประสานขอรับการสนับสนุนถุงยังชีพจากกรุงเทพมหานคร ได้ที่ ศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤติโดยกรุงเทพมหานคร สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร. 0 2224 2958 โทรสาร 0 2224 4680 พร้อมกันนี้ กรุงเทพมหานคร ขอเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคเงิน สิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ช่วยผู้ประสบอุทกภัยได้ที่ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ศาลาว่าการ กทม.2 (ดินแดง) และสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง รวมถึงบริจาคเงินช่วยเหลือผ่านบัญชี “กองทุนกรุงเทพมหานครช่วยเหลือผู้ประสบภัย” บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนข้าวสาร เลขที่บัญชี 027-0-17081-2 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ ฝ่ายบรรเทาผู้ประสบภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. โทร. 0 2271 2162 หรือ สายด่วน กทม. โทร. 1555

กทม.รุดเยี่ยมอาการผู้บาดเจ็บ พร้อมสั่งสอบเหตุนั่งร้านถล่ม

รผว.มาลินี รุดเยี่ยมอาการผู้บาดเจ็บจากเหตุนั่งร้านถล่มระหว่างการซ่อมแซมอาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมกำชับผู้เกี่ยวข้องเร่งหาสาเหตุและผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

(30 ต.ค.53) เวลา 14.00 น. แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครเดินทางเข้าเยี่ยมอาการผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุนั่งร้านอาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ถล่ม ณ โรงพยาบาลตำรวจ เขตปทุมวัน พร้อมมอบกระเช้าผลไม้และให้กำลังใจแก่ญาติผู้ป่วยที่มาเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยด้วย โดยในเบื้องต้นได้ประสานกับทีมแพทย์ของทางโรงพยาบาลตำรวจให้ช่วยติดตามอาการของผู้บาดเจ็บอย่างใกล้ชิด

แพทย์หญิงมาลินี กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บยังพักรักษาตัวอยู่ ณ ห้องไอซียู จำนวน 2 ราย คือ นายจำเนียร บุญยงค์ อายุ 44 ปี ได้รับบาดเจ็บแขนขวาขาด แต่โชคดีที่ผู้ป่วยมาถึงมือแพทย์ทันเวลาและแพทย์สามารถต่อเส้นเลือดและต่อแขนได้ หากไม่มีการติดเชื้อหรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ก็ไม่ถือว่าพ้นขีดอันตรายแล้ว และนายจำนงค์ บุญยงค์ อายุ 17 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บที่ช่องท้อง ตับแตก อาการยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากคนไข้มีเลือดออกในช่องท้องจำนวนมาก เบื้องต้นแพทย์ได้ให้เลือดแล้ว 30 ขวดและให้สารช่วยให้เลือดแข็งตัว ส่วนผู้ป่วยรายสุดท้ายพักรักษาตัวที่หอผู้ป่วยออโธปิดิกส์ชาย คือ นายเสรี บรรลือทรัพย์ อายุ 40 ปี ได้รับบาดเจ็บแขนซ้าย ขาซ้ายหัก และมีอาการปวดท้องร่วมด้วย

ทั้งนี้ แพทย์หญิงมาลินี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ระหว่างการร่วมประชุม AESM ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้ทราบเรื่องแล้วและได้กำชับว่าเรื่องดังกล่าวต้องดำเนินการตามกฎหมาย เบื้องต้นได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อสรุปข้อมูลและจะแถลงข่าวให้ทราบในเร็วๆนี้

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กทม. รับสมัครงานหลายอัตรา

น.ส.กุลกันยา ศุขะพันธุ์ รักษาการผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ กทม. แจ้งว่า หน่วยงานของกรุงเทพมหานครเปิดรับสมัครงานหลายอัตรา ดังนี้

เขตบางบอน รับสมัครสอบและคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งภารโรง จำนวน 1 อัตรา คนเลี้ยงเด็ก จำนวน 3 อัตรา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนในสังกัด ผู้ประสงค์จะสมัครสอบให้ขอและยื่นใบสมัครด้วยตนเองได้ที่ฝ่ายการศึกษา สำนักงานเขตบางบอน ตั้งแต่วันที่ 1-5 พ.ย. 53 ในวันและเวลาราชการ สอบถามโทร. 0 2450 3271 ต่อ 6128

เขตหลักสี่ รับสมัครสอบและคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นครูสอนภาษาจีน วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป อัตราค่าจ้างชั่งโมงละไม่เกิน 600 บาท จำนวน 7 อัตรา ปฏิบัติงานที่โรงเรียนเคหะทุ่งสองห้องวิทยา 1 โรงเรียนเคหะทุ่งสองห้องวิทยา 2 โรงเรียนทุ่งสองห้อง โรงเรียนเคหะท่าทราย โรงเรียนวัดหลักสี่ และโรงเรียนบางเขน ผู้ประสงค์จะสมัครสอบให้ขอและยื่นใบสมัครด้วยตนเองได้ที่ฝ่ายการศึกษา สำนักงานเขตหลักสี่ ตั้งแต่วันที่ 1-5 พ.ย.53 ในวันและเวลาราชการ สอบถามโทร. 0 2982 2093 ต่อ 7429

เขตมีนบุรี รับสมัครสอบและคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่น จำนวน 1 อัตรา เพื่อปฏิบัติงานในโรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน ผู้ประสงค์จะสมัครสอบให้ขอและยื่นใบสมัครด้วยตนเองได้ที่โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 1 พ.ย.53 ในวันและเวลาราชการ สอบถามโทร .0 2543 8669

หารือแผนฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม กทม. หลังน้ำลด

กทม.เตรียมพร้อมแผนฟื้นฟูบ้านเรือนและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังน้ำลด พร้อมจับมือนักเรียนอาชีวะเร่งซ่อมแซมบ้านเรือน และสาธารณูปโภคคืนสู่สภาพเดิม ดีเดย์หลังวิกฤตน้ำทะเลหนุนสูงสุด 8 พ.ย.นี้ปูพรมทุกพื้นที่ประสบภัยของกทม.

(29 ต.ค.53) นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมแผนฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครภายหลังระดับน้ำในพื้นที่ลดลง เพื่อเร่งเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วที่สุด เบื้องต้น กทม.ได้กำหนดแผนจะเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 27 ชุมชนจากพื้นที่ 13 เขต รวม 13,000 ครัวเรือน รวมถึงประชาชนในพื้นที่เขตหนองจอก และลาดกระบัง เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเช่นกัน

ทั้งนี้ กทม.จะจัดเตรียมงบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซม พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับสถาบันการอาชีวะศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครซ่อมแซมบ้านเรือน และสาธารณูปโภคต่างๆ ให้คืนสู่สภาพเดิม โดยขณะนี้สำนักงานเขตพื้นที่ประสบภัย ซึ่งอยู่ระหว่างให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของประชาชนในพื้นที่ ได้ทำการสำรวจความเสียหายของแต่ละครัวเรือนไปพร้อมกัน โดยหลังจากวันที่ 8 พ.ย. 53 กทม.และนักศึกษาสถาบันการอาชีวะจะเริ่มลงพื้นที่เข้าไปปรับปรุงและฟื้นฟูบ้านเรือนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เนื่องจากพ้นช่วงวิกฤตน้ำทะเลหนุน และคาดว่าสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ จะเข้าสู่ภาวะปกติ

วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ASEM Meeting for Governors and Mayors ประชุมนานาชาติร่วมมือพัฒนาเมืองสู่ความยั่งยืน

กทม. เข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติ “ASEM Meeting for Governors and Mayors” ครั้งที่ 1 ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ในกรอบการหารือถึงความร่วมมือกันบริหารจัดการท้องถิ่น การเป็นเมือง การย้ายถิ่น การรวมกันเป็นสังคม ความยั่งยืนของการพัฒนาและการจัดการภาวะโลกร้อน โดยผู้ว่าฯกทม. จะเป็นประธานประชุมภาคที่ 3 เรื่องความยั่งยืนของการพัฒนาและการจัดการกับภาวะโลกร้อน โดยจะมีการหารือถึงการจัดการน้ำท่วมที่ กทม.กำลังประสบอยู่ขณะนี้ด้วย

28 ต.ค. 53 ณ โรงแรมอินโดนีเซียเคมปินสกีร์ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย : กรุงเทพมหานครโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้ ร้อยเอกหญิงเดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วยนางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม. นางประพิม บริสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่กองการต่างประเทศและกองประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมประชุม “ASEM Meeting for Governors and Mayors” ครั้งที่ 1 ซึ่งกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย จัดขึ้นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 28-29 ต.ค. 53 มีเมืองต่างๆ เข้าร่วมประชุมหลายเมือง อาทิ กรุงเวียงจันทร์ ประเทศลาว ประเทศบรูไน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมืองเฮลซินกิ ประเทศฟินแลนด์ เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน เป็นต้น

สำหรับการประชุมครั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเมืองต่างๆ เพื่อนำไปสู่แนวทางการพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืน โดยจะเน้นความร่วมมือกับเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียนและยุโรป เช่น การบริหารจัดการท้องถิ่นที่ดี การเป็นเมือง การย้ายถิ่น การรวมเป็นสังคม ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งจะมีการลงนามปฏิญญาร่วมกันภายหลังการประชุมด้วย

ในวันแรกของการประชุม Dr.Ing.Fauzi Bowo ผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา กล่าวเปิด พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากองค์กรต่างๆ โดยได้กล่าวถึงแนวทางที่จะพัฒนาเมืองต่างๆ ของประเทศในกลุ่มอาเซียนให้มีความยั่งยืนเป้าหมายหลักคือประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม การย้ายถิ่นฐาน เศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะนำผลการพัฒนาที่ดีที่สุดของแต่ละเมืองมาเป็นแบบอย่างสำคัญในการนำไปปรับและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับเมืองต่างๆ โดยจุดมุ่งหมายของการประชุมครั้งนี้ คือ การสร้างความร่วมมือและช่วยเหลือกันให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ด้านการนำเสนอตัวอย่างการพัฒนาเมืองที่น่าสนใจนั้นด้านของเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ได้นำเสนอถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความแตกต่างและหลากหลายของประชากร ให้การเข้าถึงบริการด้านต่างๆ ของประชาชนง่าย สะดวกและประหยัด ส่วนกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เสนอแนวทางจัดการเมืองด้วยการคิดค้น สร้างสรรค์เมือง โดยประชาชนทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ออกแบบความเป็นเมืองใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ การติดต่อสื่อสาร สิ่งแวดล้อม การดำรงชีวิตอยู่ ศิลปวัฒนธรรม และด้านของกรุงจาการ์ตา ได้เสนอให้จัดการปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การระบายน้ำ การขนส่ง สิ่งแวดล้อม การจัดการมลภาวะ และขยายการพัฒนาไปสู่สังคม และการศึกษา โดยทั้งหมดไม่ละทิ้งประเด็นสำคัญคือการจัดการกับปัญหาภาวะโลกร้อน

ร้อยเอกหญิงเดือนเต็มดวง ได้เสนอแนวคิดการพัฒนาของกทม.ว่า กทม. มีการดำเนินการเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทุกด้าน โดยมีนโยบายสำคัญ คือ การสร้างความสุขและรอยยิ้มแก่ประชาชน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การจราจร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ในช่วงบ่ายจะมีการหารือถึงพัฒนาการของความเป็นเมือง การโยกย้ายถิ่นและการรวมตัวทางสังคม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการจัดการความได้เปรียบของความหลากหลาย

ในการประชุมวันที่สอง คือ วันที่ 29 ต.ค. 53 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะเดินทางมาเป็นประธานการประชุมภาคที่ 3 เรื่องความยั่งยืนของการพัฒนาและการจัดการกับภาวะโลกร้อน โดยประเด็นสำคัญจะมีการหารือถึงการจัดการปัญหาน้ำท่วมด้วย

29 ต.ค. - 4 พ.ย. นี้ กทม. เปิดโรงเลี้ยงอาหารสำหรับผู้ประสบอุทกภัย ที่ จ.ปทุมธานี

(28 ต.ค. 53) นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤต โดยล่าสุดได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาสังคม กทม. ไปจัดตั้งโรงเลี้ยงอาหารและน้ำดื่มสำหรับ ผู้ประสบอุทกภัยของจังหวัดปทุมธานี จำนวน 2 แห่ง ณ บริเวณวัดเทียนถวาย ต.บ้านใหม่ อ.เมืองปทุมธานี และบริเวณวัดบางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 29 ต.ค. - 4 พ.ย. 53 รวม 7 วันๆ ละ 2 มื้อ

ขณะเดียวกันจากการที่กรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์บริจาค “ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤติ” ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) และตั้งเต็นท์รับบริจาคเงินและสิ่งของ ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม. และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ได้จัดส่งถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปแล้วทั้งหมด จำนวน 27,390 ถุง โดยมาจากเงินที่ประชาชนบริจาค จำนวน 2.5 ล้านบาท และได้รับบริจาคเป็นสิ่งของจากประชาชน บริษัท ห้างร้านต่างๆ โดยกรุงเทพมหานครได้จัดส่งไปที่ อ.เมือง อ.ท่าเรือ อ.บางปะอิน อ.บางไทร อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา อ.เสาไห้ จ.สระบุรี อ.เมือง จ.อ่างทอง อบต.พิมลราช อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และ อ.เมือง จ.ปทุมธานี

โฆษกกทม. กล่าวว่า ขณะเดียวกันหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครได้สนับสนุนรถ พร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่เพื่อไปช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย สำนักอนามัยสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ จำนวน 20,000 ชุด สำนักการระบายน้ำสนับสนุนเรือท้องแบน จำนวน 20 ลำ สำนักสิ่งแวดล้อมสนับสนุนรถสุขา จำนวน 10 คัน รถบรรทุกน้ำดื่ม จำนวน 10 คัน ถุงใส่มูลฝอย 20,000 ใบ พร้อมเจ้าหน้าที่ จำนวน 120 คน และสำนักการโยธา สนับสนุนรถบรรทุก จำนวน 10 คัน รถซ่อมบำรุงจำนวน 1คัน

นอกจากนี้ สำนักปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบสิ่งของสำหรับบรรจุถุงยังชีพ จำนวน 8,500 ถุง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ส่งมอบให้ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี จ.ชัยภูมิ และ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความยินดีที่จะสนับสนุนพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยส่งความช่วยเหลือผ่านจังหวัดและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ซึ่งขณะยังมีจังหวัดต่างๆ ที่ประสบภัยขอรับการสนับสนุนถุงยังชีพจากกรุงเทพมหานครอีกจำนวนมาก จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคเงิน สิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น โดยสามารถร่วมบริจาคได้ที่ กทม.1 กทม.2 และสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง และบริจาคเงินช่วยเหลือผ่านบัญชี “กองทุนกรุงเทพมหานครช่วยเหลือผู้ประสบภัย” บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนข้าวสาร เลขที่บัญชี 027-0-17081-2 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ ฝ่ายบรรเทาผู้ประสบภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. โทร. 0 2271 2162 หรือสายด่วน กทม. โทร.1555

เตือนประชาชนระวังภัยจากโรคที่มากับน้ำท่วม

นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อีกทั้งมีฝนตกน้ำท่วมขังพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีนโยบายในการป้องกันและให้ความช่วยเหลือประชาชนเพื่อลดความเจ็บป่วยอย่างเต็มที่และทันท่วงที จึงได้สั่งการให้สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดเจ้าหน้าที่ทั้งทางบก ทางน้ำ และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เตรียมพร้อมคอยให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมขัง ตลอดจนเฝ้าระวังโรคต่างๆ ในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โรคที่มาพร้อมกับฤดูฝนและน้ำท่วม ได้แก่ โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องเดิน อุจจาระร่วง บิด อาหารเป็นพิษ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หอบ โรคไข้เลือดออก โรคเลปโตสไปโรสิส (โรคฉี่หนู) โรคตาแดง น้ำกัดเท้า พิษจากสัตว์ และแมลง

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด ไม่รับประทานน้ำแข็งที่ใช้แช่อาหาร ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งเมื่อปนเปื้อนสิ่งที่ไม่สะอาด และก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ถ่ายอุจจาระในส้วม ไม่ถ่ายลงน้ำ หากจำเป็นให้ถ่ายใส่ถุงพลาสติกแล้วใส่ปูนขาวปริมาณที่พอเหมาะปิดปากถุงให้แน่นใส่ถุงดำทับอีกชั้นก่อนนำไปทิ้งแล้วล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะ น้ำท่วมขัง เมื่อต้องย่ำน้ำหรือลุยน้ำที่ไม่สะอาดให้ล้างเท้าให้สะอาด ใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้งทุกครั้ง

สำหรับบริเวณที่น้ำท่วมขังเมื่อน้ำลดให้เก็บกวาดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลที่น้ำพัดพามารวบรวมทิ้งใส่ถุงพลาสติกผูกปากถุงให้มิดชิด เรียบร้อย ไม่ทิ้งเรี่ยราด เพราะอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคได้

ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ติดตามใกล้ชิดที่ลุ่มฝั่งตะวันออก สั่งเตรียมพร้อมรับมือ

ผู้ว่าฯกทม. ลงพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออกย่านมีนบุรี หนองจอก ตรวจความพร้อมประตูระบายน้ำแสนแสบ และประตูระบายน้ำคลองสิบสาม เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามแนวพระราชดำริ พร้อมเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือ เร่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป

(28 ต.ค. 53) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามแนวพระราชดำริ บริเวณประตูระบายน้ำแสนแสบ ตอนประชาร่วมใจ เขตมีนบุรี และประตูระบายน้ำคลองสิบสาม ตอนหนองจอก เขตหนองจอก โดยมีนายสัญญา ชีนิมิต ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปในเรื่องการควบคุมและการระบายน้ำ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออก บริเวณประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ และประตูระบายน้ำคลองสิบสาม ซึ่งสถานการณ์น้ำขณะนี้ทั้งด้านนอกและด้านในประตูระบายน้ำอยู่ในระดับปกติดี ในส่วนของพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 30 หลังคาเรือนกรุงเทพมหานครได้ให้การช่วยเหลือแล้ว ด้านการเยียวยาทางกายภาพได้ประสานกับโรงเรียนอาชีวะในพื้นที่เพื่อเข้าซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ส่วนโรงเรียน ที่อยู่ในพื้นที่มีทั้งหมด 37 โรงเรียน จากการสำรวจพบว่ามี 4 โรงเรียนที่อาจได้รับผลกระทบหากปริมาณน้ำมากกว่านี้ ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมตลอดเวลา และเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ต่อไป

สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครนอกคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีพื้นที่ประมาณ 400 ตร.กม. ครอบคลุมเขตหนองจอก คลองสามวา มีนบุรี และลาดกระบัง ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว มีสาเหตุหลักมาจากน้ำเหนือหลาก น้ำทะเลหนุน และฝนตกหนักในพื้นที่ กรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของกรมชลประทาน เพื่อป้องกันน้ำจากภายนอกไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสร้างทำนบกั้นน้ำตามแนวคลองแยกคลองนครเนื่องเขต จำนวน 6 แห่ง สร้างทำนบกั้นน้ำตามแนวคลองแยกคลองหลวงแพ่งจำนวน 5 แห่ง พร้อมทำคันดินกั้นน้ำ สำหรับประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ ตอนถนนประชาร่วมใจ จะใช้การปิดเปิดประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำ โดยระดับน้ำในคลองควบคุมไว้ที่ระดับ +0.50 ม.รทก. และระดับน้ำที่วิกฤต +0.90 ม.รทก. ส่วนระดับน้ำด้านนอกควบคุมที่ +1.20 ม.รทก. นอกจากนี้ยังได้ขุดลอกคลองระบายน้ำสายหลัก ตามแนวเหนือ-ใต้ ระหว่างคลองแสนแสบกับคลองประเวศบุรีรมย์ และคลองตามแนวตะวันออก และตะวันตก ซึ่งในปี พ.ศ. 2553 นี้ยังได้จัดทำบันทึกข้อตกความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับกองทัพบก ในการดำเนินงานโครงการขุดลอกคูคลองในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 234 แห่ง เพื่อเปิดทางให้น้ำได้ไหลสะดวกรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กทม.มุ่งคว้ารางวัลเมืองหนังสือโลกจากยูเนสโก

กทม.จัดกิจกรรมสัมมนาเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน ระดมสมองร่วมผลักดันแผนยุทธศาสตร์สร้างกรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการอ่าน เพื่อเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่ง World Book Capital จาก UNESCO ในปี 2556
(28 ต.ค.53) ณ ห้องธาราเทพ ฮอลล์ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค เขตห้วยขวาง : นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนา “ภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการอ่าน” โดยมีภาคีเครือข่าทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ นักวิชาการ ครู อาจารย์ บรรณารักษ์ ผู้ผลิตและจำหน่ายหนังสือ มูลนิธิ และองค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนกิจกรรมการอ่านเข้าร่วมการสัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอมุมมอง และกิจกรรมที่แต่ละองค์กรได้ทำมาแล้ว เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างกัน และนำไปสู่การวางแผนยุทธศาสตร์ในการผลักดันกรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครแห่งการอ่านอย่างแท้จริงและยั่งยืน เพื่อเสนอชื่อกรุงเทพมหานครเข้าชิงตำแหน่ง World Book Capital (เมืองหนังสือโลก) ในปี 2556 จากองค์กร UNESCO

นางทยา กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายที่จะทำให้กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครแห่งการอ่านซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาศักยภาพเมือง เพื่อก้าวทันการแข่งขันทางเศรษฐกิจและเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้ พร้อมสนองนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคม โดยให้ประชาชนมีแหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย และพัฒนาห้องสมุดให้มีความทันสมัยเป็นห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีบ้านหนังสือซึ่งเป็นห้องสมุดขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และปลูกฝังเยาวชนและประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการแสวงหาความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

สำหรับยุทธศาสตร์ผลักดันกรุงเทพมหานครสู่เมืองหนังสือโลก ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ร่วมเปลี่ยนกระบวนทัศน์สังคม โดยทำให้ชาวกรุงเทพฯ เชื่อว่าการอ่าน..เปลี่ยนชีวิตได้ “Make reason to believe” ยุทธศาสตร์ที่ 2 นโยบายชัดเจนต่อเนื่อง โดยกรุงเทพมหานครเป็นหลัก ทุกภาคส่วนร่วมผลักดัน ยุทธศาสตร์ที่ 3 ร่วมมือเครือข่ายภาคี โดยสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางกับภาคีด้วย Win Win Strategy ยุทธศาสตร์ที่ 4 เปิดพื้นที่และทรัพยากรการอ่านที่เข้าถึงง่าย อ่านได้ทุกที่ ทุกเวลา Everyone Can Read Everywhere Everytime ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการอ่านที่หลากหลาย ผ่านหลากหลายกิจกรรม ครอบคลุมทุกช่วงวัย ใส่ใจผู้ปฏิบัติ และสร้างอาสาสมัคร ยุทธศาสตร์ที่ 6 สร้างการสื่อสารสาธารณะ โดยบูรณาการช่องทางการสื่อสาร Online & Offline Media Above & Below the line

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรือภัตตาคารสูญ 100 ล้าน

นาวาโทปริญญา รักวาทิน อุปนายกสมาคมเรือไทย เปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก ทำให้ปริมาณน้ำยกตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าทุกปี ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเรือท่องเที่ยวและเรือภัตตาคารสูญเสียรายได้จำนวนมาก ซึ่งคาดว่าช่วง 30 วันกว่าสถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ (15 ต.ค.-15 พ.ย.53) ธุรกิจท่องเที่ยวทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาของพื้นที่กรุงเทพฯ และนนทบุรี จะสูญเสียรายได้ราว 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ ล่าสุดบริษัทเรือท่องเที่ยว เรือภัตตาคาร ต้องยกเลิกให้บริการแก่ลูกค้า เพราะกังวลว่าจะไม่ปลอดภัย เช่น ทัวร์เที่ยวเกาะเกร็ด เรือเที่ยวแม่น้ำลำคลองชมวัดและวิถีชุมชน ส่วนเรือภัตตาคารที่ต้องหยุดบริการเดินเรือล่องแม่น้ำเพราะเรือไม่สามารถแล่นลอดสะพาน สะพานพุทธ และสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ได้ ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวที่จองแพ็กเกจทัวร์เที่ยวทางน้ำที่จะเดินทางในช่วงนี้ก็ขอยกเลิกทั้งหมดเช่นกัน

"เรือนำเที่ยวที่ให้บริการนักท่องเที่ยวข้ามฟากไหว้พระ ชมแหล่งโบราณสถาน ชุมชน ตามคลองสองฝั่งเจ้าพระยา จากปกติจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้บริการเฉลี่ยวันละ 600 คน ได้ลดเหลือ 150 คน และจะไม่มีเหลือแล้ว เพราะตอนนี้กระแสน้ำไหลเชี่ยว"

อย่างไรก็ตาม หากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากลับสู่ภาวะปกติได้ทัน 15 พ.ย.53 หวังว่า เทศกาลลอยกระทง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 21 พ.ย.53 จะช่วยฟื้นการท่องเที่ยวทางน้ำให้กลับมาคึกคักได้ และมีเงินสะพัด 50 ล้านบาท ในคืนดังกล่าว จากการให้บริการของเรือภัตตาคารราว 20 ลำ และเรือท่องเที่ยวอีกราว 30 ลำ

นายกรัฐมนตรีตรวจความพร้อมศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมและอุโมงค์ระบายน้ำวัดช่องลม

นายกฯ อภิสิทธิ์ พร้อมด้วยผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร และอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนสถานีสูบน้ำคลองขุดวัดช่องลม เพื่อตรวจสอบสถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

(27 ต.ค. 53) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ และนางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบสถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีนายสัญญา ชีนิมิต ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ พร้อมคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ ณ ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง จากนั้นนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้เดินทางไปอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน ตอนสถานีสูบน้ำคลองขุดวัดช่องลม เขตยานนาวา ซึ่งรับน้ำจากบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ตั้งอยู่บนชั้น 6 สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง เป็นศูนย์กลางสถานีเครือข่ายในการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ในการป้องกันน้ำท่วม เรียกว่า SCADA ซึ่งมีสถานีเครือข่ายย่อยอีก 76 แห่ง ตั้งอยู่ตามสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี โดยส่งข้อมูลระดับน้ำ ปริมาณน้ำฝน สถานภาพการเปิดและปิดประตูระบายน้ำ การเดินเครื่องสูบน้ำมายังสถานีแม่ข่ายที่สำนักการระบายน้ำ โดยใช้ระบบคลื่นสัญญาณทางวิทยุสื่อสาร เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากระบบ SCADA แล้ว ยังมีระบบตรวจวัดน้ำในคลองสายหลัก 39 จุด ระบบเชื่อมต่อวัดปริมาณฝนจากสำนักงานเขต 48 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนสายหลัก 71 จุด ระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) 17 จุด รวมถึงการติดตามสภาพฝนจากเรดาร์กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตภาษีเจริญ โดยรายงานให้ฝ่ายปฏิบัติการภาคสนามและผู้บังคับบัญชา เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

สำหรับอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน เป็นโครงการที่ใช้บึงมักกะสันในการเก็บกักน้ำชั่วคราว เพื่อช่วยลดระดับน้ำในคลองแสนแสบและคลองสามเสน มีอาคารระบายน้ำเข้าอุโมงค์ 4 แห่ง ได้แก่ อาคารระบายน้ำบึงมักกะสัน อาคารรับน้ำแสนเลิศ อาคารรับน้ำไผ่พิทักษ์ และอาคารรับน้ำเชื้อพระราม โดยการระบายน้ำผ่านอุโมงค์ใต้ดินที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 4.60 เมตร ความยาว 6.2 กิโลเมตร และลึกจากผิวดินประมาณ 20–30 เมตร มีประสิทธิภาพในการสูบน้ำ 45 ลบ.ม./วินาที เริ่มจากบึงมักกะสันลอดใต้แนวทางรถไฟสายมักกะสัน ถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิท ถนนพระราม 4 ไปสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานีสูบน้ำคลองขุดวัดช่องลม อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันมีความพร้อมในการเดินระบบ 100% ซึ่งจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิท และพื้นที่เขตพญาไท ปทุมวัน ราชเทวี ดินแดง ห้วยขวาง บางรัก สาทร วัฒนา คลองเตย และบริเวณใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี

ด้านสถานการณ์น้ำวันนี้ (27 ต.ค. 53) กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ปริมาณฝนในกรุงเทพมหานคร เดือน ต.ค. 53 จะมีปริมาณมากกว่าค่าปกติ (ค่าปกติ 241 มม.) และเดือน พ.ย.53 จะมีปริมาณมากกว่าค่าปกติ (ค่าปกติ 32.5 มม.) ส่วนน้ำเหนือกรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อออกทะเล ผ่านกรุงเทพมหานคร ปริมาณน้ำที่ระบาย ดังนี้ 26 ต.ค.53 ปริมาณน้ำ 4,652 ลบ.ม./วินาที และ 27 ต.ค.53 ปริมาณน้ำ 4,533 ลบ.ม./วินาที ส่วนน้ำทะเลหนุนสูงวันนี้ (27 ต.ค. 53) เวลา 10.00น. +1.15 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เวลา 19.10น. +1.03 ม.รทก. และ 28 ต.ค. 53 เวลา 11.40น. +1.12 ม.รทก. เวลา 19.38 น. +1.04 ม.รทก. ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุด ที่ปากคลองตลาด 26 ต.ค. 53 เวลา 09.00 น. ระดับ +2.10 ม.รทก. เวลา 18.45 น. ระดับ +1.78 ม.รทก. และ 27 ต.ค. 53 เวลา09.15น. +2.06 ม.รทก. คาดการณ์ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาโดยกรมอุทกศาสตร์และกรมชลประทาน ดังนี้ 27 ต.ค. 53 ระดับ +2.17ม.รทก. และ 28 ต.ค. 53 ระดับ +2.15 ม.รทก.

คาดน้ำเอ่อเจ้าพระยาที่ระดับ 2.20-2.30 ม.ไม่ทะลักเข้าพื้นที่

น้ำเจ้าพระยายังคงสูง ล่าสุด 25 ต.ค. 53 ระดับ 1.97 ม.รทก. ส่วน 26 ต.ค. 53 คาด 2.20-2.30 ม.รทก. มั่นใจกทม. รับมือน้ำท่วมได้ ส่วนพื้นที่ท่าเรือสาทรต่ำกว่าระดับอื่นที่ 2.00 ม. ได้วางกระสอบทรายเพิ่มอีก 50 ซ.ม. พร้อมประสานกรมทางหลวงชนบทยกพื้นให้สูงเท่ากับที่อื่น เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญ นอกนั้นผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ มอบถุงยังชีพชุมชนโรงสี เขตยานนาวา และตรวจท่าน้ำศิริราชสร้างความมั่นใจน้ำไม่ทะลักเข้าโรงพยาบาลศิริราชแน่นอน ส่วนเขตพระราชฐานได้เสริมแนวป้องกันอย่างเต็มที่แล้ว

(25 ต.ค. 53) เวลา 09.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ และนางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกทม. ลงพื้นที่ตรวจสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือสาทร เขตสาทร ซึ่งในวันนี้น้ำทะเลหนุนสูงสุดในเวลา 08.45 น. ที่ระดับ 1.97 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ที่บริเวณปากคลองตลาด และลดระดับลงมาเรื่อยๆ ส่วนปริมาณน้ำเหนือที่ปล่อยจากท้ายเขื่อนผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 4,573 ลบ.ม./วินาที สำหรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำในวันที่ 26 ต.ค. 53 น้ำจะขึ้นสูงสุดในเวลา 09.09 น. หากน้ำที่ปล่อยลงมาไม่เกิน 4,500ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำน่าจะอยู่ที่ 2.20-2.30 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งกทม. มั่นใจว่าสามารถรับมือได้ เนื่องจากคันกั้นน้ำที่สร้างขึ้นมีความสูง 2.50 เมตร จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ทั้งนี้อาจจะป้องกันไม่ได้ทั้งหมด และอาจมีชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่กทม. ก็พร้อมจะบรรเทาปัญหาให้ประชาชนอย่างเต็มที่


สำหรับการตรวจท่าเรือสาทรเนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญของกรุงเทพฯ มีทั้งการโดยสารเรือโดยสาร เรือข้ามฟาก รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งระดับพื้นที่บริเวณนี้จะต่ำกว่าพื้นที่อื่น อีกทั้งคันกั้นน้ำก็มีระดับต่ำเพียง 2.00 เมตร จึงได้วางแนวกระสอบทรายเพิ่มขึ้นอีก 50 เซนติเมตร ให้เท่ากับคันกั้นในพื้นที่อื่น สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว กทม. จะประสานกรมทางหลวงชนบท ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เข้าปรับปรุงยกระดับพื้นที่ให้สูงขึ้น โดยใช้งบประมาณของกทม. เอง


จากนั้นเวลา 10.30 น. ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ นำคณะลงพื้นที่ชุมชนโรงสี เขตยานนาวา เพื่อมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำเอ่อล้น ซึ่งมีส่วนหนึ่งของพื้นที่มีน้ำทะลักจากคันกั้นน้ำเข้ามา ทางเขตฯ จึงแก้ปัญหาด้วยการวางกระสอบทรายชั่วคราวและสร้างสะพานไม้ให้ประชาชน และในเวลา 11.30 น. ได้ลงพื้นที่ท่าเรือศิริราชเพื่อตรวจสอบคันกั้นน้ำให้แน่ใจว่าน้ำจะไม่ทะลักเข้าพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณโรงพยาบาลศิริราชคันกั้นจะสูง 2.80 เมตร จึงมั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ อนึ่งในพื้นที่เขตพระราชฐานในพื้นที่อื่นๆ ก็ได้มีการเตรียมการป้องกันไว้อย่างดีแล้ว

“ผมมีความชื่นชมเจ้าหน้าที่ของกทม. ทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาปัญหาให้พี่น้องประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง จึงขอให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ อย่าตื่นตระหนกกับสถานการณ์ และเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ไม่เลวร้าย” ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ กล่าวในที่สุด

ติดตามวิกฤตน้ำกรุงเทพฯ อีกรอบ 8 พ.ย. นี้

สถานการณ์น้ำใน จ.นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ ยังวิกฤต ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก กทม. ยังรับบริจาคต่อเนื่อง พร้อมช่วยเหลือจังหวัดปริมณฑลหากร้องขอ สำหรับน้ำขึ้นสูงสุด 26 ต.ค. อยู่ที่ 2.10 ม.ยังรับมือได้ รอประเมินอีกรอบ 8 พ.ย. นี้ หากปล่อยท้ายเขื่อนไม่เกิน 5,000 ลบ.ม.ต่อวินาที และน้ำทะเลไม่หนุนมากเชื่อไม่น่ามีปัญหา ด้าน ผู้ว่าฯกทม. เป็นห่วงประชาชนหลังน้ำลดเข้าฤดูหนาวต้องดูแลสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิด

(26 ต.ค. 53) เวลา 09.00 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ และนางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะช่างภาพสื่อมวลชน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2) สนามเป้า เพื่อตรวจสภาพน้ำท่วมในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดปทุมธานี เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงไหลผ่านกรุงเทพฯ สะพานพระราม 8 สะพานพระราม 9 คลองลัดโพธิ์ แก้มลิงบึงหนองบอนและแก้มลิงบึงมักกะสัน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการตรวจสภาพน้ำ ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ยังวิกฤต ประชาชนจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา และสมุทรปราการ ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งกทม. ยินดีให้ความช่วยเหลือหากมีการร้องขอมาจากพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางจังหวัด หรือหน่วยงานต่างๆ โดยกทม. จะยังคงตั้งศูนย์รับบริจาคอย่างต่อเนื่อง ประชาชนสามารถบริจาคผ่านกทม. หรือองค์กรอื่นที่จัดตั้งขึ้นอย่างถูกกฎหมายได้ตลอดเวลา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ทั้งนี้หากพื้นที่ใดต้องการความช่วยเหลือให้ประสานมาโดยตรงที่กทม. จะได้เข้าให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้สามารถรับมือได้ และในวันนี้ (26 ต.ค. 53) ซึ่งเป็นวันที่ระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด วัดได้เมื่อเวลา 09.09 น. ที่ระดับ 2.10 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง น้ำท้ายเขื่อนปล่อยลงมาผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปริมาณ 4,600 ลบ.ม./วินาที แต่จะน่าเป็นห่วงอีกครั้งในวันที่ 8 พ.ย. 53 เนื่องจากระดับน้ำทะเลจะหนุนสูง และจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ซึ่งหากปริมาณน้ำปล่อยลงมา 5,000 ลบ.ม./วินาที แต่น้ำทะเลหนุนไม่มากก็เชื่อว่าสามารถรับมือได้

ในระยะต่อไปหลังจากสถานการณ์น้ำคลี่คลายจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ผู้ว่าฯกทม. จึงได้สั่งการสำนักอนามัยเร่งเข้าให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคต่างๆ และเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนสำนักการแพทย์ให้เตรียมการรับมือสำหรับประชาชนที่เกิดการเจ็บป่วย

จากนั้นเวลา 11.00 น. ผู้ว่าฯกทม. ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทหาร ร.1 พัน 2 รอ.ในการวางกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วมพื้นที่วิกฤต ซ.โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด ซึ่งเป็นพื้นที่ฟันหลอไม่มีแนวคันกั้นน้ำ เนื่องจากมีสถานประกอบการร้านอาหารบางร้านไม่ยินยอมให้ก่อสร้าง ทำให้น้ำทะลักเข้าพื้นที่ชุมชนในบริเวณดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ทหารจึงประสานกับสำนักงานเขตบางพลัดในการเสริมแนวกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำเข้าพื้นที่

เวลา 11.30 น. ผู้ว่าฯกทม. เดินทางไปตรวจความพร้อมที่พักผู้ประสบภัยน้ำท่วมและมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลนี เขตบางพลัด ซึ่งมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเนื่องจากอยู่นอกคันกั้นน้ำจำนวน 9 หลังคาเรือน 20 ครอบครัว ก่อนจะเดินทางไปตรวจระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ในเวลา 13.00 น.

กทม.แถลง 6 มาตรการด้านการท่องเที่ยว เพื่อรักษาแชมป์เมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก

ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์แถลง 6 มาตรการด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย การส่งเสริมการตลาดในประเทศ นอกประเทศ ส่งเสริมงานศิลป์ พัฒนามาตรฐานคุณภาพ ดูแลความปลอดภัย และการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เพื่อรักษาอันดับแชมป์เมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก

(27 ต.ค.53) ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ Mr.Ed Kelly ผู้บริหารนิตยสาร Travel & Leisure และคณะจากนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ที่เดินทางมาแสดงความยินดีกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ในโอกาสที่กรุงเทพมหานครได้รับการโหวตและได้รับรางวัลเมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก ประจำปี 2553 (World’s Best Award 2010) จากการโหวตผ่านเว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยว และได้ประกาศผลการจัดอันดับโดยนิตยสาร Travel & Leisure นิตยสารด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก

พร้อมกันนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้กล่าวขอบคุณคณะผู้บริหารจากนิตยสาร Travel & Leisure และกล่าวถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อรักษาระดับความเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลกและเอเชียให้คงไว้ ประกอบด้วย 6 มาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ 1ส่งเสริมการตลาดในประเทศ โดยเข้าร่วมกิจกรรม Road Show ในประเทศให้คนไทยสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศมากยิ่งขึ้น มาตรการที่ 2 ส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศด้วยการเข้าร่วมกิจกรรม Road Show ในตลาดด้านการท่องเที่ยวระดับโลก อาทิ อังกฤษ เยอรมัน อินเดีย จีน และอีกหลายประเทศซึ่งมีนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการเดินทางมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเชิญผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ร่วมเดินทางไปประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมถึงการสนับสนุนความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ (TCEB) ที่ให้ความสำคัญกับตลาด MICE เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการจัดประชุมในภูมิภาค มาตรการที่ 3 จัดกิจกรรมส่งเสริมงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และงานเทศกาลระดับโลกต่างๆ อาทิ งานเทศกาลปีใหม่ งานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร งานวันวิสาขบูชาโลก งานเทศกาลวันลอยกระทง งานเทศกาลอาหารโลก งาน Bangkok Fashion Week

มาตรการที่ 4 ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานคุณภาพสถานประกอบการที่เกี่ยวเนื่องและสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ มาตรฐานด้านความสะอาดและคุณภาพของธุรกิจอาหาร มาตรฐานด้านการบริการขนส่งสาธารณะ โดยขอความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนามาตรฐานด้านคุณภาพของสินค้าและบริการให้เป็นที่ประทับใจแก่นักท่องเที่ยว มาตรการที่ 5มาตรการรักษาไว้ซึ่งความเป็นมิตร ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และการส่งเสริมการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ มัคคุเทศก์ แท็กซี่ รถสามล้อ ผู้ประกอบการเดินเรือ การขนส่งสาธารณะ และอาสาสมัครพิทักษ์นักท่องเที่ยว ให้คอยช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ มาตรการที่ 6 การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เช่น การปรับปรุงข้อมูลด้านการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครที่จำเป็นต่อนักท่องเที่ยวให้ทันสมัยเข้าใจง่าย และมีรูปแบบหลากหลาย เช่น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ แผนที่ เว็บไซต์ ตู้ทัชสกรีน เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการท่องเที่ยวง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ความเชื่อมั่นว่ามาตรการทั้งหมดที่กล่าวมาจะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครเติบโต และรักษาระดับความเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลกสำหรับปีต่อๆ ไปได้อย่างแน่นอน

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คาดน้ำเอ่อเจ้าพระยา 26 ต.ค.53 ที่ระดับ 2.20-2.30 ม.ไม่ทะลักเข้าพื้นที่

น้ำเจ้าพระยายังคงสูง ล่าสุด 25 ต.ค.53 ระดับ 1.97 ม.รทก.ส่วน 26 ต.ค.53 คาด 2.20-2.30 ม.รทก. มั่นใจ กทม.รับมือน้ำท่วมได้ ส่วนพื้นที่ท่าเรือสาทรต่ำกว่าระดับอื่นที่ 2.00 ม.ได้วางกระสอบทรายเพิ่มอีก 50 ซ.ม.พร้อมประสานกรมทางหลวงชนบทยกพื้นให้สูงเท่ากับที่อื่น เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญ นอกนั้นผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์ มอบถุงยังชีพชุมชนโรงสี เขตยานนาวา และตรวจท่าน้ำศิริราชสร้างความมั่นใจน้ำไม่ทะลักเข้าโรงพยาบาลศิริราชแน่นอน ส่วนเขตพระราชฐานได้เสริมแนวป้องกันอย่างเต็มที่แล้ว

25 ต.ค.53 เวลา 09.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร กทม.ลงพื้นที่ตรวจสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเรือสาทร เขตสาทร ซึ่งในวันนี้น้ำทะเลหนุนสูงสุดในเวลา 08.45 น.ที่ระดับ 1.97 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางที่บริเวณปากคลองตลาด และลดระดับลงมาเรื่อยๆ ส่วนปริมาณน้ำเหนือที่ปล่อยจากท้ายเขื่อนผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 4,573 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สำหรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำในวันที่ 26 ต.ค.53 น้ำจะขึ้นสูงสุดในเวลา 09.09 น. หากน้ำที่ปล่อยลงมาไม่เกิน 4,500ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำน่าจะอยู่ที่ 2.20-2.30 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่ง กทม.มั่นใจว่าสามารถรับมือได้ เนื่องจากคันกั้นน้ำที่สร้างขึ้นมีความสูง 2.50 เมตร จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ทั้งนี้อาจจะป้องกันไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งมีชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ กทม.ก็พร้อมจะบรรเทาปัญหาให้ประชาชนอย่างเต็มที่

สำหรับการตรวจที่ท่าเรือสาทรเนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญของกรุงเทพฯ มีทั้งการโดยสารเรือโดยสาร เรือข้ามฟาก รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งระดับพื้นที่บริเวณนี้จะต่ำกว่าพื้นที่อื่น อีกทั้งคันกั้นน้ำก็มีระดับต่ำเพียง 2.00 เมตร จึงได้วางแนวกระสอบทรายเพิ่มขึ้นอีก 50 เซนติเมตร ให้เท่ากับคันกั้นในพื้นที่อื่น สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว กทม.จะประสานกรมทางหลวงชนบทที่เป็นเจ้าของพื้นที่เข้าปรับปรุงยกระดับพื้นที่ให้สูงขึ้น โดยใช้งบประมาณของ กทม.เอง

จากนั้นเวลา 10.30 น. ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ นำคณะลงพื้นที่ชุมชนโรงสี เขตยานนาวา เพื่อมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีส่วนหนึ่งของพื้นที่มีน้ำทะลักจากคันกั้นน้ำเข้ามา ทางเขตจึงแก้ปัญหาด้วยการวางกระสอบทรายชั่วคราวและสร้างสะพานไม้ให้ประชาชน และในเวลา 11.30 น.ได้ลงพื้นที่ท่าเรือศิริราชเพื่อตรวจสอบคันกั้นน้ำให้แน่ใจว่าน้ำจะไม่ทะลักเข้าพื้นที่ โดยบริเวณโรงพยาบาลศิริราชคันกั้นจะสูง 2.80 เมตร จึงมั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ อนึ่งในพื้นที่เขตพระราชฐานในพื้นที่อื่นๆ ก็ได้มีการเตรียมการป้องกันไว้อย่างดีแล้ว

และในช่วงเวลา 14.00 น. ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ พร้อมคณะผู้บริหารได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กทม.2 เขตดินแดง โดยยืนยันว่า กทม.มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์น้ำในวันพรุ่งนี้

“ผมมีความชื่นชมเจ้าหน้าที่ของ กทม.ทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาปัญหาให้พี่น้องประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง จึงขอให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ อย่าตื่นตระหนกกับสถานการณ์ เชื่อมั่นสถานการณ์ไม่เลวร้าย” ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ กล่าวในที่สุด

วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กทม.ตรวจเยี่ยมชุมชนนอกแนวป้องกันน้ำท่วม

(24 ต.ค.53) เวลา 09.00 น. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนพร้อมมอบถุงยังชีพ และเวชภัณฑ์ให้แก่ชุมชนสันติชนสงเคราะห์ เขตบางกอกน้อย ชุมชนวัดราชผาติการาม และชุมชนวัดเทวราชกุญชร เขตดุสิต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง และน้ำเหนือที่ปล่อยจากเขื่อนพระราม 6และเขื่อนเจ้าพระยาในปริมาณ 4,468 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในวันนี้อยู่ที่ 1.98 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และท่วมบ้านเรือนซึ่งตั้งอยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกทม.ยังไม่สามารถสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เนื่องจากยังมีประชาชนริมน้ำบางครัวเรือนไม่ยินยอมยกพื้นที่ให้กทม.ดำเนินการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม จึงส่งผลให้ทั้งชุมชนนอกแนวป้องกันน้ำท่วมมีระดับน้ำท่วมสูงและทะลักเข้าบ้านเรือนได้รับความเสียหาย

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ จะเป็นวันที่น้ำทะเลหนุนสูงสุด ขณะเดียวกันหากกรมชลประทานปล่อยน้ำท้ายเขื่อนในปริมาณ 4,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ระดับ 2.30 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งกทม.ยังสามารถรับมือได้เนื่องจากแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยามีความสูง 2.50 เมตร แต่เพื่อความไม่ประมาท กทม.ได้เตรียมความพร้อมทั้งวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ประจำทุกจุดเพื่อช่วยเหลือประชาชนและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ พร้อมกันนี้ได้ประสานความร่วมมือไปยังกรมเจ้าท่าแจ้งเตือนเรือหางยาวในแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ความระมัดระวังในการขับเรือ อีกทั้งชะลอความเร็วบริเวณบ้านเรือนที่ตั้งอยู่นอกแนวเขื่อนป้องกันด้วย เนื่องจากคลื่นน้ำขนาดใหญ่จะทะลักเข้าภายในบ้านเรือนประชาชนและได้รับความเสียหาย ทั้งนี้หากประชาชนต้องการกระสอบทรายเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมเข้าพื้นที่ โปรดติดต่อขอรับกระสอบทรายที่สำนักงานเขตใกล้บ้าน และอย่าหยิบกระสอบทรายที่กทม.จัดเรียงเพื่อเป็นแนวป้องกัน เพื่อไม่ให้น้ำท่วมทะลักเข้าพื้นที่ซึ่งจะยากต่อการแก้ไขต่อไป

วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์เผย 5 มาตรการรับมือน้ำท่วมกรุง

(23 ต.ค. 53) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงมาตรการป้องกันและความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์น้ำที่รุนแรงผิดปกติ และคาดการณ์ได้ยาก ที่สำคัญขณะนี้น้ำ 3 ด้าน คือ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนสูงพร้อมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณน้ำเหนือไหลหลากสูงมากเป็นประวัติการณ์ จนเขื่อนต่างๆ ไม่สามารถรองรับได้ และกรมชลประทาน ได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไหลสู่กทม. เพิ่มขึ้นถึง 4,323 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

นอกจากนี้ยังมีปริมาณน้ำฝนที่ตกหนัก ซึ่งในเร็วๆ นี้ อาจจะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้ง และปริมาณน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือคาดการณ์ว่า น้ำทะเลจะหนุนสูงสุดในช่วงวันที่ 26-27 ตุลาคม นี้ ที่ระดับ 1.21 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้กทม. มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดภาวะน้ำท่วม สำหรับในวันนี้น้ำทะเลหนุนสูงที่ระดับ 1.06 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่วัดแล้วระดับน้ำจริงอยู่ที่ 1.76 จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อย่างไรก็ตาม กทม.ได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา น้ำท่วมฉับพลัน โดยมอบหมายให้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมกันวางแผน และดำเนินการป้องกันอย่างเต็มที่ในทุกด้าน โดยมีนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เป็นผู้ดูแลหลัก และรองผู้ว่าฯ ทั้ง 3 ท่านเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยกันสกัดกั้นปัญหารุนแรง

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯกทม. ได้กล่าวถึง 5 มาตรการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำล้นทะลักเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า มาตรการที่ 1 สั่งการให้นำกระสอบทรายจำนวน 200,000 ใบ จากจำนวนที่จะปฏิบัติการได้ 4,000,000 ใบ อุดจุดฟันหลอทุกจุดตามแนวเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยานอกแนวคันกั้นน้ำตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของเขต กทม. มาตรการที่ 2 นำกระสอบทรายไปเสริมแนวคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นตามจุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ชุมชนริมแม่น้ำในเขตบางกอกน้อย บางพลัด และดุสิต มาตรการที่ 3 ประสานกับ ทางกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดเพื่อปล่อยน้ำจากเขื่อนอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดโอกาสการเกิดน้ำท่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่จะช่วยป้องกันเพราะน้ำที่ไหลลงมามีปริมาณมาก มาตรการที่ 4 ได้มีการสร้างสะพานและทางเดินชั่วคราว โดยจะครอบคลุม 27 ชุมชน ในพื้นที่ 13 เขตเสี่ยงน้ำท่วม มาตรการที่ 5 เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาด 4-20 นิ้ว จำนวนกว่า 1,065 เครื่อง ติดตั้งไว้ในจุดสำคัญๆ ต่างๆ และพร้อมใช้งานทันทีหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม

นอกจากนี้ กทม.ได้จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว หรือหน่วย BEST และเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำจุดเสี่ยง พร้อมยานพาหนะ และอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ที่พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และยังได้เตรียมถุงยังชีพ เวชภัณฑ์ และเครื่องอุปโภคบริโภค หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งประสานวัด โรงเรียน มัสยิด ในพื้นที่จุดเสี่ยงทั้ง 13 เขต เพื่อรองรับประชาชนกรณีจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากที่อยู่อาศัย โดยเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและสำนักเทศกิจจากเขตต่างๆ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนเคลื่อนย้ายทรัพย์สินไว้ในที่ปลอดภัย แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่พี่น้องประชาชนชาวกทม. จะช่วยกันทำได้ คือ ขอให้พี่น้องประชาชนหมั่นตรวจตรา และทำความสะอาดไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง ขยะ หรือสิ่งอุดตันท่อระบายน้ำบริเวณหน้าบ้านของตนเอง เพื่อไม่กีดขวาง การระบายน้ำด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายของวันนี้ (23 ต.ค. 53) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในศูนย์รับบริจาคและเยี่ยมชุมชนลำปลาทิว เขตลาดกระบัง ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พร้อมทั้งตรวจสอบความพร้อมในการเตรียมการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เขตลาดกระบัง

น้ำทะเลหนุนสูง 26 ต.ต. และหนุนสูงสุดในรอบปี 8 พ.ย. นี้

สำหรับวันที่จะมีน้ำทะเลหนุนสูง ได้แก่ วันที่ 26 ต.ค. 53 ระดับ +1.17 ม.รทก. โดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้คาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกองบัญชาการ กองทัพเรือ ในวันที่ 26 ต.ค. ซึ่งเป็นวันที่น้ำทะเลหนุนสูง ดังนี้ หากปริมาณน้ำที่ผ่านกรุงเทพมหานคร 3,500 ลบ.ม./วินาที จะมีระดับสูง 1.86 + 0.10 ม.รทก. ปริมาณน้ำที่ผ่าน 4,000 ลบ.ม./วินาที จะมีระดับสูง 2.13 + 0.10 ม.รทก. และหากปริมาณน้ำที่ผ่าน 4,500 ลบ.ม./วินาที จะมีระดับสูง 2.35 + 0.10 ม.รทก. นอกจากนี้ในวันที่ 8 พ.ย. 53 ระดับน้ำทะเลหนุนจะสูงสุดในรอบปีที่ระดับ +1.32 ม.รทก.

กรมชลฯ ระบายน้ำลงเจ้าพระยาต่อเนื่องตั้งแต่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 53 กรมชลประทานได้เริ่มระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อออกทะเลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยวันที่ 21 ต.ค. ระบายน้ำปริมาณ 3,835 ลบ.ม./วินาที วันที่ 22 ต.ค. ระบายน้ำปริมาณ 4,134 ลบ.ม./วินาที วันที่ 23 ต.ค. 53 ระบายน้ำปริมาณ 4,323 ลบ.ม./วินาที

นอกจากนี้ กรมอุทกศาสตร์คาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ 23 ต.ค. ที่ระดับ + 1.60 ม.รทก. กรมชลประทานคาดการณ์ว่าอยู่ที่ระดับ +1.90 ม.รทก. สำหรับวันที่ 24 ต.ค. กรมอุทกศาสตร์คาดการณ์ ระดับ + 1.80 ม.รทก. กรมชลประทานคาดการณ์ ระดับ +2.08 ม.รท

กทม. เตรียมการป้องกันและรับมือน้ำท่วมในพื้นที่

เดินหน้าเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ต่อเนื่อง รุกชุมชนสร้างขวัญ กำลังใจ และให้ความช่วยเหลือชาวคลองลำปลาทิวหมู่ 10 – 12 เขตลาดกระบัง ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

(23 ต.ค. 53) เวลา 14.00 น. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ และมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนในชุมชนคลองลำปลาทิว เขตลาดกระบัง จำนวน 5 หมู่บ้าน รวม 500 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เนื่องจากฝนตกหนักมีน้ำขังไม่สามารถระบายลงคลองได้ ในพื้นที่ไม่มีคันกั้นน้ำ อีกทั้งปริมาณน้ำในคลองเอ่อขึ้นมาเป็นจำนวนมากจนไหลลงสู่นาข้าวของประชาชนได้รับความเสียหาย ซึ่งมีไร่นาและบ่อเลี้ยงปลาได้รับความเสียหายรวม 320 ไร่ จากนั้นตรวจความพร้อมการเตรียมการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เขตลาดกระบัง โดยมีนายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ให้ข้อมูลและบรรยายสรุปถึงภาพรวมสถานการณ์น้ำล่าสุด นายธีรบูรณ์ มานุพีรพันธ์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง ชี้แจงรายละเอียดความเสียหายในพื้นที่

ผู้ว่าฯ กทม.เข้ม 21 เขตติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด

ผู้ว่าฯ กทม.เรียกประชุมเขตริมน้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ฝั่งตะวันออกรายงานสถานการณ์น้ำใกล้ชิด กำชับเข้มปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนจนกว่าจะสภาวะน้ำเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกันเร่งประสานกรมเจ้าท่าขอความร่วมมือเรือในแม่น้ำลดความเร็วในการขับขี่ป้องกันคลื่นน้ำทะลักเข้าบ้านเรือนเสียหาย พร้อมวอนประชาชนอย่าหยิบกระสอบทรายแนวป้องกันริมเจ้าพระยา หากต้องการกระสอบทรายให้ติดต่อเขตพื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1555 ตลอด 24 ชั่วโมง

(23 ต.ค.53) เวลา 16.00 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมผู้อำนวยการเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เพื่อรายงานสถานการณ์ภายในพื้นที่และซักซ้อมแผนรับมือน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนนอกแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่เขตฝั่งตะวันออกรวม 21 เขต ประกอบด้วย เขตบางซื่อ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย บางพลัด บางกอกน้อย ธนบุรี คลองสาน ราษฎร์บูรณะ ทวีวัฒนา บางกอกใหญ่ ตลิ่งชัน สาทร บางนา ลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก และคลองสามวา

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการรับมือเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ นั้น สำนักงานเขตได้ประสานความร่วมมือกับสำนักการระบายน้ำในการเสริมแนวกระสอบทรายในบริเวณจุดอ่อนน้ำท่วมและเตรียมกระสอบทรายสำรองประจำจุดเสี่ยง อีกทั้งเตรียมเวชภัณฑ์ อาหาร รถขนย้ายสิ่งของ สร้างสะพานไม้ชั่วคราว การอพยพและเคลื่อนย้ายประชาชนไปยังที่พักชั่วคราวให้แก่ประชาชนที่ประสบภัย อาทิ โรงเรียน และวัด อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนเร็ว หรือหน่วยเบสท์ 79 หน่วย และเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำพื้นที่เสี่ยงและบริเวณท่าเรือ พร้อมกันนี้ กทม.จะประสานกรมเจ้าท่าเพื่อแจ้งเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา โปรดใช้ความระมัดระวังในการขับเรือ และไม่ให้ขับเรือด้วยความเร็ว เนื่องจากจะเกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่ทะลักท่วมบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำได้รับเสียหายได้

ผู้ว่าฯ กทม. ได้กำชับผู้อำนวยการเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติงาน ช่วยเหลือประชาชนจนกว่าสถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งหากประชาชนต้องการกระสอบทรายเพื่อสร้างแนวป้องกันบริเวณหน้าอาคารบ้านเรือนโปรดติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่ และขอความร่วมมืออย่าหยิบกระสอบทรายที่กทม.จัดเรียงไว้เป็นแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากจะทำให้น้ำทะลักเข้ามาในพื้นที่โดยรวมและยากต่อการแก้ไข หรือหากประชาชนต้องการความช่วยเหลือโปรดแจ้งผ่านสายด่วนกทม. โทร. 1555 และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โทร. 0 2248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ในวันอาทิตย์ที่ 24 ต.ค.53 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะ จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพร้อมมอบถุงยังชีพผู้ประสบภัยเขตดุสิตและบางกอกน้อย โดยในเวลา 09.00 น. ตรวจเยี่ยมชุมชนสันติชนสงเคราะห์ และชุมชนปากคลองน้ำตาล เขตบางกอกน้อย และเวลา 10.30 น. ตรวจเยี่ยมชุมชนวัดราชผาติการาม และชุมชนวัดเทวราชกุญชร เขตดุสิต

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สภากทม. กระตุ้นกทม. เร่งป้องกันและเตือนประชาชนริมน้ำเตรียมพร้อมรับน้ำหนุน

สภากทม. จี้สำนักระบายน้ำ กทม. ประชาสัมพันธ์พื้นที่จุดเสี่ยงให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนเตรียมการป้องกันก่อนน้ำท่วม ทั้งเสนอกทม. ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาววางระบบระบายน้ำ พร้อมกันนี้ ส.ก. ได้แสดงความห่วงใยพื้นที่เสี่ยงภัย กระตุ้นผู้บริหารสำนักระบายน้ำ เร่งป้องกันและเตรียมการรับมือน้ำท่วมให้เต็มที่

(22 ต.ค. 53) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายเกียรติฟ้า เลาหะพรสวรรค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล และคณะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 13 เขต พื้นที่เสี่ยงนอกแนวป้องกันน้ำท่วมจากน้ำหนุนริมแม่น้ำเจ้าพระยา พลัด ร่วมประชุมนอกรอบเพื่อรับทราบแผนการป้องกันและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือจุดอ่อนน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีนายธรรมมนัส ชื่นเสนาะ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมชี้แจง ณ ห้องประชุมสภากทม.2 ศาลาว่าการกทม.

สภากทม. จี้สำนักระบายน้ำเร่งแจ้งเตือนให้ประชาชนในจุดเสี่ยงเตรียมการป้องกันก่อนเจอน้ำหนุน
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับมาตรการเตรียมความพร้อมของสำนักการระบายน้ำในการป้องกันและเตรียมแผนรับมือน้ำทะเลหนุนในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมทั้ง 13 เขต คือ เขตดุสิต เขตบางซื่อ เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตคลองเตย เขตบางเขตบางกอกน้อย เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตทวีวัฒนา เขตราษฎร์บูรณะ ตั้งข้อสังเกตว่า ควรเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมที่อาจจะได้รับผลกระทบได้รับทราบและเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้หากเกิดน้ำท่วม เนื่องจากการสำรวจบางพื้นที่ประชาชนยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีพื้นที่ใดที่ได้รับผลกระทบบ้าง ทั้งนี้ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบข้อมูลเพื่อเตรียมการป้องกันก่อนได้รับผลกระทบ โดยสำนักการระบายน้ำควรร่วมมือกับสำนักงานเขตในการจัดส่งเจ้าหน้าลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจและเป็นเตือนภัยจุดเสี่ยงเพื่อให้ประชาชนย้ายข้าวของที่จำเป็นและมองหาที่พักสำรองไว้ตั้งแต่ต้น อีกทั้งจะเป็นการแจ้งภัยล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครตื่นตระหนกจากสถานการณ์ในครั้งนี้ รวมถึงควรใช้งบประมาณในการก่อสร้างสะพานไม้ในพื้นที่จุดเสี่ยงในการแก้ปัญหาและเตรียมความพร้อมล่วงหน้า และเป็นการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้าวของอีกด้วย

แนะกทม. ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวร่วมกัน
นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา โฆษกสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันสำนักการระบายน้ำที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแล ควรมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาทุกข์ในพื้นที่จุดเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบ รวมถึงควรให้ข้อมูลที่ชัดเจนและตรงไปตรงมากับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกในสถานการณ์อีกด้วย โดยเฉพาะพื้นที่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมที่จะได้รับผลกระทบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรวางมาตรการแก้ไขตั้งแต่ต้นและเตรียมแผนในการเยียวยาทางจิตใจให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน รวมถึงประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมแผนแม่บทระยะยาวในการวางระบบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ทั้งควรตั้งคณะกรรมการหารือร่วมกับพื้นที่เขตที่ได้รับผลกระทบโดยตรงสรุปปัญหาและนำเสนอต่อผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมประชุมกับรัฐบาลในการบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวต่อไป

17–21 พ.ย. นี้ ชวนคนไทยย้อนอดีตรำลึกความทรงจำเมื่อวันวาน ในงานรัตนโกสินทร์ เฟสติวัล 2553

กทม. จับมือหอการค้าไทย ชวนคนกรุงเทพฯ ย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ชมความงดงามของร้านค้าและบ้านเมืองที่ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำ พร้อมร่วมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 228 ปี ใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งราชวงศ์จักรี ในงาน “รัตนโกสินทร์ เฟสติวัล 2553” จัดต่อเนื่อง 17-21 พ.ย. นี้ ที่ลานคนเมือง
(22 ต.ค. 53) ณ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) : นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการจัดงาน “รัตนโกสินทร์ เฟสติวัล 2553” ร่วมกับคุณดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย และคุณฉัตรชัย บุญรัตน์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน โดยกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-21 พ.ย. 53 ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ตั้งแต่เวลา 17.00–24.00 น. เพื่อย้อนรำลึกถึงความเจริญของบ้านเมือง ความงดงามของห้างร้านที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนไทยไม่เสื่อมคลาย ให้ชาวไทยได้ย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 228 ปี ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารแห่งราชวงศ์จักรีทั้ง 9 รัชกาล
นางทยา กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ หอการค้าไทย ซึ่งถือเป็นตัวแทนของภาคเอกชนที่สำคัญ จัดงาน “รัตนโกสินทร์ เฟสติวัล 2553” ขึ้น และในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 จากแนวคิดในปีที่ผ่านมา ซึ่งกรุงเทพมหานครตั้งใจจะบรรจุกิจกรรมนี้ไว้ในปฏิทินกิจกรรมประจำปี เพื่อให้การจัดงานดังกล่าวเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกและให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกมาเยี่ยมชมทุกปี พร้อมกันนี้ยังตั้งใจให้เป็นงานประจำปีที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ และประชาสัมพันธ์กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่เก่าแก่และมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่งดงาม จนได้รับเลือกให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในทวีปเอเชีย และเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดของโลกด้วย สำหรับปีนี้กรุงเทพมหานครได้รวบรวมสินค้าพื้นบ้านจากทุกเขตของกรุงเทพฯ มาไว้ที่โซนสินค้าที่มีชื่อเสียงของทุกเขตในกรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้เที่ยวชมและจับจ่ายใช้สอย พร้อมเพลิดเพลินไปกับสินค้าที่มีให้คุณเลือกหลากหลายอีกมากมาย
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการ “ตำนานคู่แผ่นดิน” ที่คุณสามารถชื่นชมประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัท หรือห้างร้านต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ โดยจะนำสินค้าที่มีในประวัติศาสตร์ที่เติบโตมาพร้อมกับความเจริญของบ้านเมืองมาจัดแสดง พร้อมทั้ง “การจัดแสดงรถยนต์โบราณ” หลากหลายรุ่น หลากหลายแบบ เพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้ร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกนอกจากนี้ยังมี “ตลาดโบราณ” ร่วมย้อนบรรยากาศตลาดโบราณ สื่อให้เห็นถึงการค้าขายสินค้าต่างๆ หมวดหมู่ต่างๆ อาทิ ร้านอาหาร, เครื่องดื่ม, ขนมโบราณ, สมุนไพร, เครื่องใช้สอย, ของที่ระลึก และของตกแต่งบ้านต่างๆ พร้อมด้วยลานการแสดงดนตรี ซึ่งจะมีการแสดงดนตรีประกอบแสง สี เสียง เพื่อให้ผู้ที่มาเที่ยวชมได้รับความสุขในบทเพลงย้อนยุคและเพลง “วันเวลาดีดี ที่ย้อนกลับมา” บทเพลงพิเศษสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ เพื่อขับขานให้ทราบถึงบรรยากาศเก่าๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมบทเพลงจากศิลปินที่ได้รับความนิยมรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่จะมามอบความสุขและความบันเทิงในงานอีกด้วย
พิเศษสำหรับในปีนี้หอการค้าไทย ร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) มอบตำแหน่ง “ทูตหอการค้า” ให้ผู้ได้รับตำแหน่งนางสาวไทย และรองนางสาวไทยอันดับ 1 และรองนางสาวไทยอันดับ 2เพื่อทำหน้าที่ด้านการค้า ประชาสัมพันธ์บทบาทและกิจกรรมของหอการค้าไทย ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่สำคัญอื่นที่ได้รับมอบหมายด้วย

กทม. วอนอาสาสมัครบรรจุสิ่งของช่วยผู้ประสบภัยด่วน

กทม. ส่งความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่างจังหวัด ทุกด้าน ส่งถุงยังชีพแล้วกว่า 24,000 ถุง ที่เหลือบรรจุใน 6 กลุ่มเขต โรงเรียนวิชูทิศ และศาลาว่าการกทม. โดยรับสมัครอาสาสมัครช่วยบรรจุของไม่จำกัดตั้งแต่บัดนี้จนสถานการณ์จะเข้าสู่ปกติ ที่ศาลาว่าการกทม.
22 ต.ค. 53 นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับรายงานการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่ประสบภาวะอุทกภัย จากนายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลังจากที่กทม. รับบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. 53 ได้ส่งความช่วยเหลือไปยัง จ.นครราชสีมา เช่น รถลำเลียง เรือท้องแบน สุขาเคลื่อนที่ ถุงเก็บขยะมูลฝอย ถุงยังชีพ 10,000 ถุง พร้อมเจ้าหน้าที่ 120 คน ไปเมื่อวันที่ 19 และ 20 ต.ค. 53 ส่งไปยัง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี 2,000 ถุง จ.อยุธยา 2,000 ถุง จ.ชัยภูมิ ใน 3 อำเภอ 4,000 ถุง อ.ปักธงชัย อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 2,000 ถุง อ.เสาให้ จ.สระบุรี 2,000 ถุง จ.อ่างทอง 2,000 ถุง รวมแล้วมากกว่า 24,000 ถุง และยังมีการส่งไปอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการรับบริจาคยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้แบ่งสถานที่บรรจุถุงยังชีพสิ่งของที่ประชาชนนำมาบริจาคที่สำนักงานเขต โรงเรียนวิชูทิศ และศาลาว่าการกทม. โดยในถุงยังชีพประกอบด้วย ข้าวสาร ปลากระป๋อง ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผักกาดกระป๋อง ไฟแช็ค บะหมี่ ผ้าอนามัย เวชภัณฑ์ ซึ่งหากรายการใดขาดจะนำเงินที่ได้รับบริจาคไปซื้อจนกว่าจะครบ ทั้งนี้อุปสรรคคือขาดแคลนผู้บรรจุสิ่งของลงถุง กทม. จึงรับสมัครอาสาสมัครบรรจุสิ่งของจำนวนมาก สามารถมาบรรจุได้ที่ศาลาว่าการกทม. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ด้านจังหวัดรอบกรุงเทพฯ ประกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี จะร่วมประสานให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ การจัดโรงทานประกอบอาหารแจกจ่ายผู้ประสบภัย นอกจากนั้นยังได้มีการเตรียมอาหารที่พร้อมรับประทานได้ทันทีไว้สำหรับประชาชนที่ไม่สามารถประกอบอาหารได้

ปลัดฯ เจริญรัตน์ย้ำมั่นใจ กทม.พร้อมรับสถานการณ์น้ำไหลผ่านเจ้าพระยา

(21 ต.ค.53) นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร หารือร่วมกับคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤต โดยได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่วิกฤตโดยกรุงเทพมหานครขึ้น ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร บริเวณลานคนเมือง เพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟูสภาพปัญหาต่างๆ แก่ประชาชนผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ทันต่อเหตุการณ์ แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ มีปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อำนวยการฝ่าย และฝ่ายรับบริจาคเงินและสิ่งของ มีผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้อำนวยการฝ่าย ซึ่งในวันนี้ (21 ต.ค.53) กทม.จะนำถุงยังชีพบรรจุสิ่งของที่ประชาชนชาวกรุงเทพฯบริจาคเข้ามา จำนวน 2,000 ชุด ไปมอบให้กับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ที่ได้รับความเดือนร้อนสามารถประสานขอรับความช่วยเหลือมายังกรุงเทพมหานคร ในส่วนของประชาชนที่ต้องการบริจาคสามารถร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือผ่านบัญชี “กองทุนกรุงเทพมหานครช่วยเหลือผู้ประสบภัย” บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนข้าวสาร เลขที่บัญชี 027-0-17081-2 และร่วมบริจาคสิ่งของได้ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) รวมถึงสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 08.00-18.00 น. และรับบริจาคเงินตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายบรรเทาผู้ประสบภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. โทร. 0 2271 2162

ปลัดกรุงเทพมหานครยังได้กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนี้ โดยย้ำความมั่นใจ กทม.ยังสามารถรับมือได้ อย่างไรก็ตามได้สั่งการทุกสำนักงานเขต โดยเฉพาะ 13 เขตที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาเตรียมความพร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ การสร้างสะพานทางเดินไม้ชั่วคราว กระสอบทราย รถสุขาเคลื่อนที่ ยารักษาโรค และเครื่องอุปโภคบริโภค พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งเตรียมที่พักชั่วคราวสำหรับประชาชนที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วม ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งขอรับความช่วยเหลือที่สายด่วน กทม. 1555 หรือ โทร. 0 2248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง

กทม. มั่นใจรับมือน้ำเหนือได้มากกว่า 4,500 ลบ.ม./วินาที

กทม.แจ้งประชาชนให้อุ่นใจ เขื่อนริมเจ้าพระยารองรับน้ำได้ 2.50 เมตร แม้น้ำจากท้ายเขื่อนมากกว่า 4,500 ลบ.ม./วินาที ก็ไม่น่าห่วง หากมากกว่านั้นยังเสริมกระสอบทรายสูงขึ้นอีก 20-30 ซ.ม. แต่เตือนประชาชน 27 ชุมชน ใน 13 เขต 1,273 ครัวเรือน เฝ้าระวังน้ำทะลัก เตรียมพร้อมขนย้ายตลอดเวลา

22 ต.ค. 53 นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและหารือถึงแผนการเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กทม. โดยมีนางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการโยธา สำนักอนามัย

จากการรายงานของสำนักการระบายน้ำ ถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันมีฝนตกรวม 1,886 มิลลิเมตร มากกว่าปริมาณเฉลี่ย 30 ปี และจากสถิติทุกเดือนที่ผ่านมาในปีนี้พบว่ามีปริมาณมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งสิ้น โดยมีการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาปริมาณ 4,134 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะถึงเขตกรุงเทพฯ ในวันที่ 24 ต.ค. 53 คาดการณ์ว่าจะมีระดับน้ำสูง 2.08 เมตร อีกทั้งการคาดการณ์จากกรมอุทกศาสตร์ ระหว่างวันที่ 25-26 ต.ค. 53 รายงานว่าหากมีปริมาณน้ำท้ายเขื่อน 3,500 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำอยู่ที่ 1.86 เมตร หรือหากมีปริมาณ 4,000 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำอยู่ที่ 2.13 เมตร และหากมีปริมาณ 4,500 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำจะอยู่ที่ 2.35 เมตร ซึ่งหากไม่มีฝนตกในวันดังกล่าว กทม. สามารถรองรับน้ำได้ โดยระดับเขื่อนกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยามีความสูง 2.50 เมตร อีกทั้งได้มีการเสริมแนวเขื่อนด้วยกระสอบทรายสูงขึ้นอีก 20-30 เซนติเมตรด้วย

ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ลงมาถึงเขตกรุงเทพฯ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำ และพื้นที่ที่ยังไม่สร้างแนวเขื่อน และชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา 27 ชุมชน ใน 13 เขต 1,273 ครัวเรือน ซึ่งได้มีการเตรียมรับสถานการณ์ไว้แล้ว ทั้งการเตรียมวางกระสอบทราย การอพยพ การเตรียมเวชภัณฑ์ อาหาร รถขนย้ายสิ่งของ สะพานไม้ แต่ประชาชนก็ต้องเตรียมพร้อมตัวเองด้วย หากมีเหตุฉุกเฉินได้มีการเตรียมโรงเรียน วัด มัสยิด ไว้สำหรับเคลื่อนย้ายประชาชน จำนวน 20 แห่งแล้ว ในส่วนของการเตรียมพร้อมในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ ก็ได้เตรียมการไว้ตลอดเวลา หากมีน้ำไหลเข้าพื้นที่ก็สามารถระบายน้ำด้วยประตูระบายน้ำ 214 แห่ง สถานีสูบน้ำ 157 สถานี เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 1,065 เครื่อง บ่อระบายน้ำใต้ดินจากท่อสู่คลอง 180 แห่ง หน่วยเบสท์ 79 หน่วย หน่วยเทศกิจให้ความช่วยเหลือ 3 ชุด โดยอาจมีการขังอยู่บ้าง 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ กทม. ขอให้ประชาชนอย่าได้ตระหนก แต่ให้ตื่นตัวตลอดเวลาในการรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านหน่วยงานของ กทม.หรือสื่อมวลชน โดยสามารถแจ้งเหตุน้ำท่วมได้ตลอด 24 ชั่วโมง โทร. 1555 และ 0 2248 5115 และช่องทางเครือข่ายสังคม Facebook Twitter และสื่อมวลชนทุกสาขา และติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวที่ Facebook ชื่อ “ประชาสัมพันธ์ กทม.” Twitter ชื่อ “bangkok_pr”

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กทม. ยังไม่วิกฤติ แนวกันน้ำเจ้าพระยายังไหวรับน้ำเพิ่มได้อีก 1 เมตร

คณะผู้บริหาร กทม. ลงเรือล่องเจ้าพระยา ตรวจความพร้อมป้องกันน้ำท่วม พร้อมจัดเตรียมเวชภัณฑ์ ยา สถานที่พักชั่วคราว และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงคอยให้ความช่วยเหลือประชาชนหากเกิดน้ำท่วม แจ้งเหตุและขอรับความช่วยเหลือโทร. 1555 ได้ 24 ชั่วโมง

(20 ต.ค. 53) นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ และนางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจงานแนวเรียงกระสอบทรายริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนทรงวาด และตรวจงานก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองบางกอกน้อย บริเวณชุมชนสันติชนสงเคราะห์

นายพรเทพ กล่าวว่า กทม. มีความพร้อมเต็มที่ในการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ต่างๆ และจากการประสานไปยังกรมชลประทาน ขณะนี้กรมชลประทานได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนพระราม 6 รวม 3,655 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากแนวป้องกันน้ำท่วมที่มีอยู่สามารถรับน้ำได้ที่ระดับความสูงประมาณ 2.5 เมตร จากระดับน้ำทะเล และจากการตรวจวัดปริมาณน้ำในช่วงเช้ามีความสูงประมาณ 1.5 เมตร ยังสามารถรับน้ำเพิ่มได้อีก 1 เมตร โครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยามีความยาวรวม 77 กิโลเมตร ก่อสร้างเสร็จแล้วกว่า 75 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2554 โดยจุดที่ยังไม่เสร็จ กทม. ได้นำกระสอบทรายกว่า 2 แสนใบ มาวางเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราวที่ความสูง 2.5 เมตร เช่นเดียวกัน พร้อมทั้งเตรียมเครื่องสูบน้ำ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ได้เตรียมเวชภัณฑ์ ยา และสถานที่พักชั่วคราวบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ

จากการพยากรณ์อากาศและคาดการสถานการณ์น้ำในระหว่างวันที่ 26 – 27 ต.ค. 53 คาดว่า จะมีน้ำเหนือไหลบ่าและน้ำทะเลหนุนสูง จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่เชื่อว่ายังสามารถรับมือได้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115 และสายด่วน กทม. 1555 ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับชุมชนนอกแนวป้องกันน้ำท่วมที่ได้รับผลกระทบหรือจุดอ่อนน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำหนุนริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 27 ชุมชน จำนวน 1,273 ครัวเรือนในพื้นที่รับผิดชอบ 13 สำนักงานเขต ได้แก่ เขตบางซื่อ มี 2 ชุมชน คือ ชุมชนพระราม 6 (ฝั่งติดแม่น้ำ) 25 ครัวเรือน และชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ 46 ครัวเรือน เขตดุสิต มี 5 ชุมชน คือ ชุมชนเขียวไข่กา(ถ.เขียวไข่กาช่วงปลาย) 20 ครัวเรือน ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ(เชิงสะพานกรุงธน) 40 ครัวเรือน ชุมชนซอยสีคาม(ซอยสามเสน 19 ช่วงปลาย) 11 ครัวเรือน ชุมชนปลายซอยมิตรคาม(ซอยสามเสน 13 ช่วงปลาย) 140 ครัวเรือน และชุมชนวัดเทวราชกุญชรฯ(ถ.ศรีอยุธยาช่วงปลาย) 40 ครัวเรือน เขตพระนคร มี 3 ชุมชน คือ ชุมชนท่าวัง 80 ครัวเรือน ชุมชนท่าช้าง 25 ครัวเรือน และชุมชนท่าเตียน 120 ครัวเรือน เขตสัมพันธวงศ์ มี 2 ชุมชน คือ ชุมชนวัดปทุมคงคา(ท่าน้ำสวัสดี) 12 ครัวเรือน และชุมชนตลาดน้อย 10 ครัวเรือน

เขตบางคอแหลม มี 4 ชุมชน คือ ชุมชนวัดบางโคล่นอก 36 ครัวเรือน ชุมชนหน้าวัดอินทร์บรรจง 13 ครัวเรือน ชุมชนซอยมาตานุสรณ์ 31 ครัวเรือน และชุมชนหลังร.พ.เจริญกรุงประชารักษ์ 14 ครัวเรือน เขตยานนาวา มี 1 ชุมชน คือ ชุมชนโรงสี(ถ.พระราม 3) 60 ครัวเรือน เขตคลองเตย มี 1 ชุมชน คือ ชุมชนสวนไทรริมคลองพระโขนง 9 ครัวเรือน เขตบางพลัด มี 1 ชุมชน คือชุมชนวัดฉัตรแก้ว 8 ครัวเรือน เขตบางกอกน้อย 4 ชุมชน คือ ชุมชนสันติชนสงเคราะห์ 153 ครัวเรือน ชุมชนปากคลองน้ำตาล-คลองพิณพาทย์ 103 ครัวเรือน ชุมชนตรอกวังหลัง 66 ครัวเรือน และชุมชนดุสิต-นิมิตรใหม่ 23 ครัวเรือน เขตธนบุรี 1 ชุมชน คือ ชุมชนปากคลองบางกอกใหญ่ 12 ครัวเรือน 11.เขตคลองสาน 1 ชุมชน คือ ชุมชนเจริญนครซอย 29/2 มี 11 ครัวเรือน เขตราษฎร์บูรณะ มี 1 ชุมชน คือ ชุมชนดาวคะนอง 157 ครัวเรือน และเขตทวีวัฒนา มี 1 ชุมชน คือ ชุมชนวัดปรุณาวาส 38 ครัวเรือน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายงานย้อนหลังของสำนักการระบายน้ำกทม.พบว่า ชุมชนที่เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมในเขตพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของกทม.มีอัตราลดลงเป็นระยะๆ ซึ่งจากเดิมในปี 50 มีชุมชนจุดเสี่ยงมากถึง 32 ชุมชนและมีจำนวนครัวเรือนกว่า 2,000 ครัวเรือน ต่อมาในปี 2551 ลดลงเหลือ 30 ชุมชน 1,563 ครัวเรือน และล่าสุดเมื่อปี 2552 มี 28 ชุมชน 1,331 ครัวเรือนก่อนที่จะเหลือ 27 ชุมชนในปัจจุบัน

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กทม.เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

กทม.เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤต เปิดรับบริจาคเงิน สิ่งของ เครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็น ขอเชิญประชาชนร่วมบริจาคได้ที่ กทม.1 กทม.2 สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง และบริจาคเงินผ่านบัญชีกองทุน กทม.ช่วยเหลือผู้ประสบภัย บัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงไทย เลขที่บัญชี 027-0-17081-2

(19 ต.ค.53) แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤต เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมรับมอบเงินช่วยเหลือ จำนวน 100,000บาท จากผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด และรับมอบข้าวสารมูลค่า 100,000 บาท จากผู้บริหารบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ศูนย์การค้าเทสโก้โลตัส) โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมในพิธี ณ เต็นท์รับบริจาคด้านหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยจึงเปิดศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤต เพื่อรับบริจาคเงิน สิ่งของ เครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็นสำหรับการยังชีพ เพื่อนำไปมอบให้กับพี่น้องประชาชน บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบอุทกภัยในภาคต่างๆ โดยร่วมบริจาคเงินและสิ่งของได้ที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) รวมถึงสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. และรับบริจาคเงินตั้งแต่เวลา 09.00 – 15.00น.

นอกจากนี้ ยังสามารถบริจาคเงินช่วยเหลือผ่านบัญชี “กองทุนกรุงเทพมหานครช่วยเหลือผู้ประสบภัย” บัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนข้าวสาร เลขที่บัญชี 027-0-17081-2 จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคเงินและสิ่งของได้ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ ฝ่ายบรรเทาผู้ประสบภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. โทร. 0 2271 2162 หรือสายด่วน กทม. โทร. 1555

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เตรียมจัดงาน Smarter Cities : Smart Bangkok Forum

กทม. เตรียมพร้อมจัดงาน Smarter Cities : Smart Bangkok Forum ร่วมกับ IBM 14 ธ.ค. 53 ณ หอศิลป์กทม. มุ่งนำเทคโนโลยีล้ำสมัยช่วยเมืองกำลังขยายตัวและปัญหา อีกทั้งมุ่งสร้างความพร้อมให้กับเมืองเสริมสร้างศักยภาพ ปัจจัยพื้นฐาน และระบบของเมืองสอดรับกับ “โอกาสในอนาคตตามวิสัยทัศน์ของเมือง”

นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังประชุมผู้บริหารกทม. ว่า คณะผู้บริหารกทม. เห็นชอบให้ บ.ไอบีเอ็ม จัดงาน Smarter Cities : Smart Bangkok Forum ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 14 ธ.ค. 53 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตามแนวคิดที่มุ่งนำเทคโนโลยีและวิธีการที่ล้ำสมัยเป็นเครื่องมือช่วยเมืองที่กำลังขยายตัวและปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่กำลังจะตามมา อีกทั้งมุ่งสร้างความพร้อมให้กับเมืองเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ปัจจัยพื้นฐาน และระบบของเมืองให้สอดรับกับ “โอกาสในอนาคตตามวิสัยทัศน์ของเมือง” โดยจะมีการเสนอแนวคิด Smart Cities และร่วมกันเสวนาในด้านความปลอดภัย (Public Safety) ด้านการจราจรและขนส่ง (Transportation) ด้านสุขภาพ (Healthcare) และด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) หลังจากนั้นจะมีการประกาศเจตนารมณ์และพันธกิจกรุงเทพมหานคร ร่วมกัน ทั้งนี้มุ่งเน้นให้กรุงเทพมหานครเป็นกรุงเทพฯ เมืองสวรรค์ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน ประกอบด้วย กลุ่มประชาสังคม นักวิชาการ ภาคเอกชน ประมาณ 140 คน บุคลากรหน่วยงานภาครัฐ และกทม. ประมาณ 60 คน

นอกจากนั้นยังมีการกำหนดให้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อยในภารกิจการสร้างกรุงเทพฯ เมืองสวรรค์โดย บ.ไอบีเอ็ม อำนวยความสะดวกในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่ม

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตั้งข้อสังเกตและเสนอให้มีการเพิ่มหัวข้อการเสวนาเพื่ออีก 1 หัวข้อ คือ ด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้ครอบคลุมการพัฒนาและการสร้างความพร้อมให้กับเมืองอย่างครบถ้วนด้วย ด้านปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เสนอให้เพิ่มหัวข้อการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการกรุงเทพมหานคร

เร่งเสริมฐานสะพานข้ามคลอง 72 แห่ง หลังพบสนิมเกาะคอสะพานทรุดตัว

กทม. กำหนดลงมือซ่อมสะพานข้ามคลองที่ชำรุด 72 สะพาน ส่วนใหญ่คอสะพานทรุด เกิดการหักตัว เหตุเชิงลาดที่ไม่มีโครงสร้างรองรับการทรุดตัว น้ำกร่อยกัดเซาะจนสะพานสึก และนโยบายรัฐเพิ่มน้ำหนักบรรทุก 21 เป็น 25 ตัน กำหนดเสร็จทั้งหมด มิ.ย.54 ผู้บริหารเห็นชอบก่อนอนุญาตสร้างต้องมีฐานรองรับคอสะพาน

นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารกทม. ว่า สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร แจ้งต่อที่ประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ถึงโครงการจัดซ่อมสะพานและเสริมกำลังสะพานข้ามคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 72 สะพาน เนื่องจากการออกแบบโครงสร้างสะพานในอดีตมีการออกแบบเชิงลาดที่ไม่มีโครงสร้างรองรับการทรุดตัวเพื่อประหยัดงบประมาณ อีกทั้งการออกแบบสะพานเป็นแบบช่วงเดียวจึงทำให้คอสะพานสูงชันมาก จึงเกิดปัญหาการทรุดตัวบริเวณเชิงลาดสะพาน นอกจากนั้นสภาพน้ำในคลองของ กทม.มีลักษณะเป็นน้ำกร่อย ทำให้เกิดการกัดเซาะผิวโครงสร้างสะพานและเกิดสนิมในโครงสร้างทำให้เกิดการแตกร้าว ความแข็งแรงลดลง อีกทั้งนโยบายรัฐบาลที่เพิ่มน้ำหนักบรรทุกจาก 21 ตัน เป็น 25 ตัน ทั้งที่สะพานไม่ได้ออกแบบให้รับน้ำหนักขนาดนั้นได้ จึงต้องมีการตรวจสอบและเสริมกำลังโครงสร้างสะพานให้สามารถรองรับน้ำหนักปัจจุบันอย่าปลอดภัย

สำหรับสะพานข้ามคลองทั้ง 72 สะพาน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 อยู่ในพื้นที่เขตหนองแขม บางแค ทวีวัฒนา และตลิ่งชัน จำนวน 28 สะพาน กลุ่มที่ 2 อยู่ในพื้นที่เขตภาษีเจริญ จอมทอง พระโขนง บางนา และสวนหลวง จำนวน 28 สะพาน และกลุ่มที่ 3 พื้นที่เขตบางพลัด บางกอกน้อย และบางกอกใหญ่ จำนวน 16 สะพาน โดยการปรับปรุงและซ่อมแซมสะพานคอนกรีตข้ามคลองทั้ง 72 สะพาน จะใช้เวลาทั้งหมด 360 วัน แบ่งเป็นการตรวจสอบความเสียหายและปริมาณงานโดยสถาบันการศึกษาและผู้รับจ้าง 120 วัน และการซ่อมแซมเสริมกำลังสะพานพร้อมกับการทดสอบการรับน้ำหนักสะพานอีก 240 วัน

ด้านความคืบหน้าการซ่อมสะพานกลุ่มที่ 1 มีการตรวจสอบและประเมินความสามารถการรับน้ำหนักสะพานแล้วเสร็จ กำลังตรวจสอบความเหมาะสมและถูกต้องของรูปแบบที่จะซ่อม โดยซ่อมทีละช่องจราจรแก้ปัญหาด้วยการเบี่ยงการจราจรในช่วงเวลาที่การจราจรไม่หนาแน่นมาก คาดว่าจะเริ่มซ่อมปลายเดือน ต.ค. 53 กำหนดเสร็จ มิ.ย. 54 ด้านสะพานกลุ่มที่ 2 ตรวจสอบและประเมินความสามารถการรับน้ำหนักสะพานแล้ว กำลังลงมือซ่อม เริ่มงานเมื่อ 23 ส.ค. 53 กำหนดเสร็จ 20 เม.ย. 54 โดยซ่อมทีละช่องจราจร เบี่ยงการจราจรในช่วงเวลาที่การจราจรไม่หนาแน่น แต่ต้องรื้อทำใหม่ 1 สะพาน คือ สะพานข้ามคลองกะจะ รามคำแหง 24 แยก 24 ส่วนสะพานกลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างการตรวจสอบและประเมินความสามารถการรับน้ำหนักสะพาน คาดว่าจะเริ่มซ่อมได้ปลายเดือน ต.ค. 53 กำหนดเสร็จ มิ.ย. 54 โดยจะเบี่ยงการจราจรในช่วงเวลา ที่การจราจรไม่หนาแน่น

โฆษกกทม. กล่าวอีกว่า การซ่อมสะพานในโครงการดังกล่าวจะดำเนินการให้กระทบกับการจราจรน้อยที่สุดด้วยวิธีการเสริมกำลังสะพานโดยใช้วัสดุเสริมกำลัง (CFRP) เพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักได้ 25 ตัน โดยการทำงานไม่กระทบการจราจร ส่วนการซ่อมเชิงสะพานจะทำด้วยการอัดวัสดุมวลเบาถมใต้สะพานซึ่งไม่ต้องปิดการจราจร ส่วนวิธีการใช้แผ่นเชิงลาดสะพานสำเร็จรูป เป็นการซ่อมสะพานที่หักไปแล้ว จะใช้เวลาซ่อม 3 วัน จำเป็นต้องปิดการจราจรทีละช่อง นอกจากนี้คณะผู้บริหารยังเห็นชอบเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างสะพานของหมู่บ้านจัดสรรว่าจะต้องมีการก่อสร้างที่สามารถรองรับน้ำหนักบริเวณคอสะพานด้วย อีกทั้งการก่อสร้างสะพานในอนาคตจะต้องพิจารณารายละเอียดความมั่นคงแข็งแรงของคอสะพานด้วย

การจัดเก็บป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย

กทม. จัดเก็บป้ายผิดกฎหมายครบขวบปีเกือบล้านป้าย หลัง 14 ก.ย. ระดมเทศกิจและฝ่ายรายได้ตรวจสอบหากพบผิดปิดสติ๊กเกอร์ “ป้ายผิดกฎหมาย” พร้อมเปรียบเทียบปรับ จากนั้นเร่งรัดฝ่ายรายได้เก็บภาษีและเทศกิจจัดการอย่างต่อเนื่อง

นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารกทม. ว่า กทม. ระดมจัดเก็บป้ายโฆษณาผิดกฎหมายทั่วกรุงเทพฯ เนื่องจากมีผู้ติดตั้งป้ายโฆษณาโดยผิดกฎหมายในที่สาธารณะและที่เอกชนจำนวนมากก่อให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนผู้สัญจรผ่านไปมา โดยตั้งแต่เดือน มิ.ย. 52 - ก.ย. 53 สามารถจัดเก็บป้ายเหล่านั้นได้ทั้งสิ้น 999,840 ป้าย เขตบางกอกน้อยมากสุด 197,289 ป้าย รองลงมาคือเขตวังทองหลาง 163,114 ป้าย
การดำเนินงานหลังจากวันที่ 14 ก.ย. 53 ได้สั่งการให้สำนักงานเขตโดยฝ่ายเทศกิจและฝ่ายรายได้ตรวจสอบการติดตั้งป้ายผิดกฎหมายในที่สาธารณะและที่เอกชนว่าได้ดำเนินการขออนุญาตและติดตั้งถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องปิดสติ๊กเกอร์ “ป้ายผิดกฎหมาย” หลังจากนั้นนับจากวันที่ 30 ก.ย. 53 เป็นต้นไปได้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด หากเป็นป้ายในที่สาธารณะไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด ให้จัดเก็บออกไป ถ้าทราบตัวผู้กระทำผิดจะจัดเก็บและเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ภาษีป้ายฯ ส่วนกรณีป้ายผิดกฎหมายในที่เอกชนจะปิดสติกเกอร์ป้ายผิดกฎหมายและจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย

ทั้งนี้สำนักงานเขตทุกเขตจะสรุปผลการดำเนินการส่งสำนักเทศกิจและรายงานผู้บริหารทราบภายในวันที่ 5 ของเดือน โดยสำนักเทศกิจมีการจัดชุดสายตรวจออกตรวจป้ายผิดกฎหมายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผลการดำเนินการระหว่างวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 2-3 ต.ค. 53 มีการจัดเก็บป้าย 320 ป้าย ปิดสติกเกอร์ 134 ป้าย วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 9-10 ต.ค. 53 จัดเก็บ 544 ป้าย ประสานเขตจัดเก็บ 168 ป้าย ปิดสติกเกอร์ 220 ป้าย

สำหรับการดำเนินการขั้นต่อไปควรให้ฝ่ายรายได้ของทุกสำนักงานเขตเร่งรัดจัดเก็บภาษีป้ายที่ติดตั้งในที่สาธารณะและที่เอกชน

ชวนเที่ยว 6 ชุมชนประวัติศาสตร์กลางกรุง 16 ต.ค.-16 พ.ย.นี้

16 ต.ค. - 16 พ.ย. นี้ 6 ชุมชนประวัติศาสตร์ย่านพระนคร ป้อมปราบฯ เปิดตรอก รั้วบ้าน ให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจชมวิถีชีวิต วิถีชุมชน หวังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและสถาปัตยกรรม ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยชาวชุมชน

(16 ต.ค. 53) นางเพียงใจ วิศรุตรัตน รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังเปิดงาน “เตร่ ตรอก ลัดรั้วบ้าน ฟื้นตำนานป้อมปราบฯ พระนคร ครั้งที่ 1" ในเทศกาลวันที่อยู่อาศัยโลก 2553 ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และเครือข่ายฯ จัดขึ้น ณ ลานคนเมืองศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) เพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์ 6 ชุมชน ประวัติศาสตร์ที่มีเอกลักษณะเฉพาะตัว ประกอบด้วย ชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ วังโบราณแหล่งสังฆทานเก่าแก่, ชุมชนบ้านบาตร “เล่าขานตำนาน 200 ปี อาชีพคนตีบาตร” สาธิต-ทดลองการทำบาตร 21 ขั้นตอน ชมรำวงบ้านบาตรสามัคคี เยี่ยมดูบ้านไม้เก่า, ชุมชนวัดสระเกศ “โรงศพดี ฝีมือเซี่ยงไฮ้” ชมวิถีชีวิตแบบจีน บริเวณตรอกเซี่ยงไฮ้ สาธิตการทำโลงศพ, ชุมชนสิตาราม “แหล่งค้าไม้ รวมคนมีฝีมือด้านละคร ทำขวัญนาค” ชมโบสถ์วิหารเก่าแก่ สมัยรัชกาลที่ 2 ณ วัดสิตาราม ชมสาธิตชกมวยไทย ดูการทำข้าวเกรียบ ปากหม้อ ตามดูเครื่องใช้โบราณสมัยรัชการที่ 6 ณ บ้านหลวงวิศาลดรุณกร, ชุมชนจักรพรรดิพงษ์ “แหล่งรวมกุ๊กฝีมือดี อาหารอร่อย” ชมร้านกาแฟกาแฟโบราณ บ้านไม้สักเก่า โรงพิมพ์โบราณ พร้อมชมนิทรรศการ 6 ชุมชน ณ ตึกอนุรักษ์ TAT, ชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน “ศูนย์รวมชาวนางเลิ้ง วัฒนธรรมเก่าในวังวรดิษฐ์” ชมบ้านศิลปะ ชุมชน ละครชาตรีรำซัด งานปักสะดึงชุดละคร โรงหนังเฉลิมานี เยี่ยมชมบ้านมิตร ชัยบัญชา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีและสถาปัตยกรรม อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยชาวชุมชน

นอกจากนี้ยังมีการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของ 6 ชุมชน ซึ่งจัดใน พิพิธภัณฑ์ (ชุมชน) แออัด (ผนังบ้าน ริมรั้ว และลานกิจกรรมของชุมชน) ผ่านมุมมองจากช่างภาพ 3 ท่าน ประกอบด้วย เรืองรอง รุ่งรัศมี นักคิด นักเขียน และนักเดินทาง 2 พี่น้องสตรีท โฟโต้กราฟเฟอร์ สุพจน์ อภัยสุวรรณ และ สมัชชา อภัยสุวรรณและศิลปินร่วมสมัย กลุ่ม มุตตะพร้อมกิจกรรมสาธิตอาชีพ แวะเวียนย้อนอดีต ทางสถาปัตยกรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ดั้งเดิม ศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ซุกซ่อนภายในพร้อมชมนิทรรศการชุมชนและการพัฒนา ร่วมกิจกรรมศิลปะร่วมสมัยและภาพถ่ายที่เริ่มต้น จากชุมชน (พิพิธภัณฑ์ (ชุมชน) แออัด) สนุกสนานกับการช้อปและชิมสินค้าอาหารที่พิเศษในย่านของดีและอร่อยใน 6 ชุมชน ประวัติศาสตร์ที่พลาดไม่ได้ พร้อมชมกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมของชุมชนในเวทีลานวัดสระเกศ ผู้สนใจสามารถชมนิทรรศการและวิถีชุมชนโครงการ “เตร่ ตรอก ลัดรั้วบ้าน ฟื้นตำนานป้อมปราบฯ พระนคร ครั้งที่ 1” ได้ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 53 – 16 พ.ย. 53 เวลา 08.00-17.00 น. กิจกรรมสาธิตและการแสดง วัฒนธรรมเวลา 08.30–20.00 น. นิทรรศการ และวิถีชีวิตชุมชนได้ทั้ง 6 ชุมชน ซึ่งเปิดให้ชมทุกวัน เวลา 08.00–17.00 น. สอบถามโทร. 08 9777 0541

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่ากิจกรรมดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโดยชาวชุมชนเป็นศูนย์กลางผ่านกระบวนการคิด การตัดสินใจ และการวางแผนระบบการบริหารจัดการร่วมกัน โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนี้จะเป็นแนวทาง การพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมีส่วนผลักดันให้ชาวชุมชนสามารถต่อยอดการพัฒนาที่อยู่อาศัยเชิงอนุรักษ์ คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวชุมชนเอง ผ่านวิถีการดำรงชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชน ที่จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และตระหนักในคุณค่าของเอกลักษณ์ชุมชนอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา การวางแผนการพัฒนาตามบริบทและความต้องการของชุมชนด้วยการดำเนินการของชุมชนเอง

กทม. จัดประกวดวงดนตรีคนตาบอด ยกระดับมาตรฐานสู่ความเป็นเลิศ

กทม. จัดประกวดวงดนตรีคนตาบอด แบ่งเป็น 6 ประเภท ได้แก่ กีต้าร์ กลอง เบส คีย์บอร์ด ร้องเพลงร่วมสมัย และเพลงลูกทุ่ง ชิงเงินรางวัลกว่าแสนบาท เปิดรับสมัครผู้พิการทางสายตาที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ตั้งแต่บัดนี้ – วันที่ 31 ต.ค.53

(18 ต.ค. 53) ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม. : นายทวีศักดิ์ เดชเดโช รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว การจัดกิจกรรมประกวดวงดนตรีคนตาบอด (Bangkok Blind Music Contest) ชิงเงินรางวัลรวมกว่าแสนบาท ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยจัดขึ้น เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ผู้พิการทางสายตาได้เห็นความสำคัญในด้านดนตรีมากขึ้น และเป็นการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาความสามารถทางด้านดนตรีของผู้พิการทางสายตาให้เท่าเทียมกับบุคคลปกติ เป็นที่ยอมรับ ของสังคมในวงกว้าง โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ กีต้าร์โซโล กลองชุด กีตาร์เบส คีย์บอร์ด และการประกวดขับร้องเพลงร่วมสมัย และเพลงลูกทุ่ง ซึ่งการประกวดรอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 5 พ.ย. 53 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน และผู้ชนะเลิศ ในแต่ละประเภทจะได้เข้าค่ายพัฒนาบุคลิกภาพและทักษะทางดนตรีด้วย นอกจากการแสดงจากผู้เข้าประกวดในประเภทต่างๆ แล้ว ภายในงานยังมีการแสดงพิเศษจากศิลปินวงไอโอเนียน ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินที่พิการทางสายตาศิลปินที่ได้รับการยอมรับระดับประเทศ ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้เปิดรับสมัครผู้พิการทางสายตาที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ตั้งแต่บัดนี้ – 31 ต.ค. 53 ผู้สนใจสามารถขอทราบรายละเอียดและใบสมัครได้ที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เลขที่ 85/1-3 ซ.บุญอยู่ ถ.ดินแดง แขวงสามเสนใน เขตพญาไท โทร. 0 2246 3835 โทรสาร 0 2245 9846 และศูนย์การเรียนและสาธิตอาชีพคนตาบอดธนบุรี เลขที่ 61/32-41 ซ.จรัญสนิทวงศ์ 11 ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงวัดท่าพระ บางกอกใหญ่ 10600 โทร. 0 2412 1382 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. โทร. 0 2246 0287

ขับขี่ปลอดภัยไม่เมา ไม่แว้นท์ ลดอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ

(18 ต.ค. 53) เวลา 15.00 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวโครงการรณรงค์เสริมสร้างวินัยและจิตสำนึกของประชาชนเพื่อลดอุบัติเหตุจราจร “ขับขี่ปลอดภัย ไม่เมาไม่แว้นท์” ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครจัดโครงการรณรงค์เสริมสร้างวินัยและจิตสำนึกของประชาชนเพื่อลดอุบัติเหตุจราจรขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เกิดความตระหนัก รับรู้ สร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติตามกฎ และวินัยจราจร เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้ร่วมทาง ตามนโยบายของกรุงเทพมหานครในการพัฒนาระบบจราจรให้มีความคล่องตัว มีระบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลาย และปลอดภัย เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุจราจรในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดความเสียหาย กว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี เฉพาะกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 45-51 มูลค่าความเสียหายกว่า 410 ล้านบาท พบผู้เสียชีวิต 730 คน เฉลี่ยแล้ววันละ 2 คน และผู้บาดเจ็บเฉลี่ยปีละ 21,400 คน โดยสาเหตุที่สำคัญที่สุด คือความไม่มีวินัยจราจร ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนน กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเกิดวินัยในการจราจร ตลอดจนสร้างเครือข่ายเพื่อกระจายความตระหนักรู้ให้กระจายไปในวงกว้าง อันนำสู่การลดอุบัติเหตุอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยได้มีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ อาทิ สื่อพิเศษอิเลกทรอนิกส์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ รวมทั้งโฆษณาทางโทรทัศน์ โดยมีมาร์กี้ ราศี บาเลนซิเอก้า และแจ๊ส ชวนชื่น เป็นตัวแทนโครงการฯ สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด และติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bangkok.go.th/traffic หรือโทร.023541212

กทม.เปิดตัว Bangkok Smile Bike จักรยานชมกรุงพร้อมขยายเส้นทางสู่ฝั่งธนบุรี

กทม.เปิดตัวโครงการ Bangkok Smile Bike จักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมขยายเส้นทางเพิ่มสถานีฝั่งธนบุรีอีก 7 จุด ส่งเสริมการท่องเที่ยวในย่านฝั่งธนบุรี และอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวยืม - คืนจักรยานได้ทุกจุด หากไม่ข้ามเขต

(17 ต.ค.53) เวลา 07.45 น. : นายทวีศักดิ์ เดชเดโช รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ Bangkok Smile Bike จักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ณ บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมนำขบวนปั่นจักรยานท่องเที่ยวนำชมแหล่งท่องเที่ยวจากฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรี

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการจักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์ Bangkok Smile Bike ให้บริการจักรยานเพื่อขับขี่ท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและน่าสนใจมากมายหลายแห่ง โดยถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบกรุงรัตนโกสินทร์ และในครั้งนี้จะขยายพื้นที่ให้บริการจากเดิมที่มีแต่ฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรีด้วย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในฝั่งธนบุรี โดยมีจุดให้บริการรวมทั้งสิ้น 12 จุด ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์

สำหรับเส้นทางจักรยานในพื้นที่ฝั่งพระนคร 5 จุด ได้แก่ บริเวณสนามหลวงตรงข้ามวัดพระแก้ว หน้ากองการท่องเที่ยว (ใต้สะพานปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร) สวนสันติชัยปราการ ลานคนเมือง (หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร) และสวนสราญรมย์ ส่วนฝั่งธนบุรี 7 จุด ได้แก่ บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี ท่าเรือรถไฟ วัดระฆัง (ใกล้ท่าน้ำวัดระฆัง) ถนนอรุณอมรินทร์ (ใกล้ทางเข้าวัดอรุณราชวราราม) ทางเข้าวัดกัลยาณ์ บริเวณใต้สะพานพุทธฝั่งธนบุรี และทางเท้าด้านหน้าวัดพิชยญาติการาม เขตคลองสาน โดยแต่ละจุดจะมีจักรยานสีเขียว – ขาว ไว้บริการนักท่องเที่ยวประมาณจุดละ 20 คัน และนักท่องเที่ยวสามารถปั่นจักรยานในทางจักรยานที่กรุงเทพมหานครจัดไว้ ทั้งบนถนน บนทางเท้า ซึ่งได้ขีดเส้นและทำสัญลักษณ์ระบุว่าเป็นทางจักรยานแล้ว

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถยืมและคืนจักรยานได้ฟรี โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนหรือพาสปอร์ต ซึ่งเจ้าหน้าที่จะถ่ายสำเนาเอกสารไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถยืมและคืนจักรยานในจุดใดก็ได้ (ฝั่งเดียวกัน) แต่ไม่สามารถยืมหรือคืนข้ามเขตกัน ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้รับแจกแผนที่เส้นทางจักรยานเพื่อเป็นคู่มือในการปั่นจักรยานเที่ยวชมเมือง พร้อมคำแนะนำเส้นทางและสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจจากเจ้าหน้าที่ด้วย โครงการจักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์ Bangkok Smile Bike เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ ระหว่างเวลา 10.00 – 18.00 น. และวันเสาร์ – วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 10.00 – 20.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กองการท่องเที่ยว กทม. โทร. 0 2224 0120, 0 2225 7612 – 5 ต่อ 213

ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ย้ำสร้าง Bangkok Eye ใช้งบเอกชนไม่เกี่ยวกทม.

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 27/2553 เกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง Bangkok Eye ซึ่งจะจัดสร้างในลักษณะหอชมเมือง คล้ายกับ London Eye ว่าโครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนของเอกชนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ โดยกรุงเทพมหานครเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องกฎหมายเท่านั้น ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์โครงการดังกล่าว เพราะถือเป็นสิทธิของเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนได้ โดยเชื่อว่าหากมีการก่อสร้าง Bangkok Eye ขึ้น จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น

ในส่วนของเหตุผลที่เอกชนสนใจมาลงทุนในโครงการนี้ เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนมีรายได้จากโครงการฯ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว ซึ่งจากข้อมูลพบว่ากรุงลอนดอนมีนักท่องเที่ยวไปเยือนถึง 4.5 ล้านคนต่อปี และได้มีการคำนวณออกมาแล้วว่าเฉพาะที่ไปเที่ยว London Eye นั้นมีมากถึงล้านกว่าคนต่อปี

ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ย้ำสร้าง Bangkok Eye ใช้งบเอกชนไม่เกี่ยวกทม.

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 27/2553 เกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง Bangkok Eye ซึ่งจะจัดสร้างในลักษณะหอชมเมือง คล้ายกับ London Eye ว่าโครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนของเอกชนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ โดยกรุงเทพมหานครเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องกฎหมายเท่านั้น ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์โครงการดังกล่าว เพราะถือเป็นสิทธิของเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนได้ โดยเชื่อว่าหากมีการก่อสร้าง Bangkok Eye ขึ้น จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น

ในส่วนของเหตุผลที่เอกชนสนใจมาลงทุนในโครงการนี้ เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนมีรายได้จากโครงการฯ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว ซึ่งจากข้อมูลพบว่ากรุงลอนดอนมีนักท่องเที่ยวไปเยือนถึง 4.5 ล้านคนต่อปี และได้มีการคำนวณออกมาแล้วว่าเฉพาะที่ไปเที่ยว London Eye นั้นมีมากถึงล้านกว่าคนต่อปี

กทม.เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

กทม.เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบอุทกภัยในภาคต่างๆ โดยประชาชนร่วมบริจาคเงินและสิ่งของได้ที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) และที่สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. โทร. 0 2354 6858

วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สำรวจอาคารเก่าเทคโนฯ พระราม6 แปลงเป็นที่พักพิงคนเร่ร่อนจากสนามหลวง

สำรวจอาคารเก่าเทคโนฯ พระราม6 แปลงเป็นที่พักพิงคนเร่ร่อนจากสนามหลวง
มีความเป็นไปได้ที่ กทม.จะใช้อาคารเก่า 4 ชั้น พื้นที่ 1,600 ตารางเมตร ของโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 เป็นบ้านพักพิงคนเร่ร่อนไร้บ้านจากสนามหลวง รองรับได้มากกว่า 400 คน เหมาะทั้งพักอาศัยและเดินทาง คาดปรับปรุงแล้วเสร็จภายใน 7 เดือนก่อนสนามหลวงปรับปรุงเสร็จ เพื่อป้องกันการกลับมานอนพักสนามหลวง เบื้องต้นจะเจรจากับเจ้าของเพื่อเช่า 1-3 ปี จากนั้นอาจซื้อเป็นทรัพย์สินของ กทม.
15 ต.ค.53 เวลา 11.00 น. ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะลงพื้นที่ตรวจสภาพอาคารโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 เก่า เพื่อพิจารณาเป็นสถานที่พักพิงสำหรับคนเร่ร่อนและคนไร้บ้านที่จะย้ายจากสนามหลวง ตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สนามหลวง และตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน คนเร่ร่อนของกรุงเทพมหานคร
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากที่ กทม.ร่วมกับกองทัพบกปรับปรุงภูมิทัศน์สนามหลวง และได้รับการยืนยันจากกองทัพบกว่าการปรับปรุงจะแล้วเสร็จตามแผนงาน คือประมาณเดือน พ.ค.54 จึงเหลือเวลาอีกประมาณ 7 เดือนที่จะต้องหาที่พักพิงให้กับคนไร้บ้านหรือคนเร่ร่อนที่เคยพักพิงที่บริเวณท้องสนามหลวง จึงได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาสถานที่เพื่อนำไปพิจารณาและนำเรียนผู้ว่าฯ กทม.จัดสรรงบประมาณดำเนินการ โดยในวันนี้สำนักงานเขตบางพลัดได้สำรวจพบอาคารเก่าของโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ที่ไม่ได้ใช้มานานเกิดการทรุดโทรม จึงได้ลงพื้นที่สำรวจ หากไม่มีปัญหาใดคาดว่าสามารถปรับปรุงเพื่อให้เข้าพักได้ภายในเวลา 7 เดือน เพื่อป้องกันการกลับมานอนพักสนามหลวงสร้างความไม่เป็นระเบียบอีก
ทั้งนี้อาคารเก่าของโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 อยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ ก่อนขึ้นสะพานพระราม 7 เป็นอาคาร 4 ชั้น ชั้นละ 4 ห้องเรียน พื้นที่รวม 1,600 ตารางเมตร มีบันไดขึ้น 2 ข้าง ติดถนนใหญ่ อยู่บนเนื้อที่ 1 ไร่ 95 ตารางวา การเดินทางสะดวกทั้งรถโดยสารประจำทาง เรือโดยสารแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ดินที่อาคารตั้งอยู่เป็นลักษณะแยกจากบ้านเรือนหรืออาคารอื่น มีรั้วรอบชัดเจน หากใช้อาคารดังกล่าวเป็นที่พักพิงสำหรับคนเร่ร่อนหรือคนไร้บ้านจะมีความเหมาะสมทั้งสถานที่และการเดินทาง เบื้องต้นจะมอบสำนักงานเขตบางพลัดเจรจากับเจ้าของอาคารเพื่อเช่าในระยะ 1-3 ปี สำนักการโยธาเข้าปรับปรุงให้เหมาะสมสำหรับการพักนอน หลังจากนั้นอาจซื้อเป็นทรัพย์สินของ กทม. ซึ่งจะมีการหารือเรื่องของการช่วยเหลือคนเร่ร่อนไร้บ้านร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสภาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ในวันที่ 21 ต.ค.53นี้
สำหรับการเปิดเป็นที่พักพิงคนเร่ร่อนไร้บ้านนั้นมีแนวทาง 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกจะจัดเป็นสวัสดิการ โดยให้สำนักพัฒนาสังคมเข้ามาดูแล ส่วนอีกแนวทางคือการจัดการเชิงพาณิชย์แบบเก็บเงินค่าเข้าพัก ซึ่งจัดเก็บเพียงวันละ 30 บาท เป็นค่าสถานที่และค่าสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า โดยสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยจะเข้ามาดูแลในส่วนนี้ ทั้งนี้จากการคำนวณอาคารดังกล่าวสามารถรองรับผู้เข้าพักได้กว่า 400 คน

18 ต.ค. เข้ารื้อถอนอาคารช่วงสะพานกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางเขน

18 ต.ค. เข้ารื้อถอนอาคารช่วงสะพานกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางเขน
สำนักการโยธา กทม. แจ้งว่า กองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา อาศัยอำนาจตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนดจะเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเอกชนที่อยู่ในแนวเวนคืนของโครงการก่อสร้างถนนเลียบคลองบางเขนเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน ระยะที่ 3 ช่วงสะพานกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางเขน ส่วนที่เหลือจำนวน 7 หลัง ในวันที่ 18 ตุลาคม 2553 เนื่องจากเจ้าของยังไม่ยอมรื้อถอนแม้ว่าจะรับเงินค่าตอบแทนไปบางส่วนแล้ว ในการนี้มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.น. 2 และ สน.ท้องที่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศกิจ มาคอยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และอำนวยการจราจรในการรื้อถอนด้วย
นายวีรภัทร์ พันธุ์หาญ หัวหน้ากลุ่มงานจัดกรรมสิทธิ์ 2 สำนักการโยธา ชี้แจงว่า บริเวณดังกล่าวเป็นทางกลับรถใต้คลองบางเขน (บางบัว) เมื่อก่อสร้างเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุได้ เนื่องจากรถที่มาจากเกษตรซึ่งมาปริมาณหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วนไม่จำเป็นต้องข้ามสะพานไปกลับรถที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 ในขณะที่รถออกจากซอยพหลโยธิน 49/1 ที่จะมุ่งหน้าไปเกษตรสามารถกลับรถใต้สะพานได้เลยเช่นกัน ทั้งนี้หลังจากที่ได้รื้อถอนอาคารบางส่วนไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องรื้อถอนอาคารที่เหลือให้แล้วเสร็จ โดยวัสดุก่อสร้างที่ทำการรื้อถอนและทรัพย์สินในครัวเรือนหากเจ้าของไม่รับ จะทำการขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นต่อไป และดำเนินคดีกับผู้ที่ขัดขวางการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้จากการที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธาได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนเลียบคลองบางเขน สายเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธิน กับถนนวิภาวดีรังสิต และสายเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 351 สายแยกของกรุงเทพมหานครควบคุม (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3202 (บึงกุ่ม) พ.ศ. 2543 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณดังกล่าว แต่ติดขัดไม่อาจก่อสร้างในระยะที่ 3 ต่อไปได้ เนื่องจากติดปัญหาอาคารบ้านเรือนในแนวก่อสร้าง โดยบริเวณดังกล่าวมีโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน จำนวน 151 หลัง รื้อถอนแล้ว 114 หลัง คงเหลือ 37 หลังที่เจ้าของรับเงินค่าทดแทนงวดแรกไป 75% ไปแล้วแต่ยังไม่ยอมรื้อถอนตามสัญญา โดยสำนักการโยธาได้มีหนังสือแจ้งกำหนดการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ และแจ้งวางเงินทดแทนครบทั้ง 100% แล้ว ประกอบกับมีความจำเป็นต้องเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้าง จึงต้องเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว

เตรียมเปิดถนนคนเดินอัษฎางค์ คลองหลอด เชื่อมปากคลองฯ ก่อนปรับปรุงสนามหลวงเสร็จ

เตรียมเปิดถนนคนเดินอัษฎางค์ คลองหลอด เชื่อมปากคลองฯ ก่อนปรับปรุงสนามหลวงเสร็จ
ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เขตพระนครเตรียมจัด ถ.อัษฎางค์ ตรอกสาเก เชื่อมปากคลองตลาด สะพานพุทธฯ ที่ย้ายผู้ค้าจากสนามหลวงมาค้าขายบริเวณดังกล่าวเป็นถนนคนเดินทั้งเส้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจะจัดระเบียบแผงค้าให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายซื้อของ ซึ่งปัจจุบันผู้ค้าที่ย้ายมาจากสนามหลวงมีความพึงพอใจในแหล่งขาย มีผู้มาจับจ่ายซื้อของแล้ว หากมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง และสร้างความเป็นระเบียบให้เกิดขึ้นคาดว่าจะสามารถเป็นถนนคนเดิน ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากได้ คาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการก่อนเปิดใช้สนามหลวง
สำหรับการปรับปรุงภูมิทัศน์สนามหลวง ขณะนี้กำลังขุดบล็อกและพื้นถนนเก่าออก วางท่อระบายน้ำ ในภาพรวมมีความคืบหน้าแล้วประมาณ 20% คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงาน คือภายในเดือน พ.ค. 54

สำรวจอาคารเก่าเทคโนฯ พระราม 6 แปลงเป็นที่พักพิงคนเร่ร่อนจากสนามหลวง

สำรวจอาคารเก่าเทคโนฯ พระราม 6 แปลงเป็นที่พักพิงคนเร่ร่อนจากสนามหลวง
มีความเป็นไปได้ที่กทม. จะใช้อาคารเก่า 4 ชั้น พื้นที่ 1,600 ตารางเมตร ของโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 เป็นบ้านพักพิงคนเร่ร่อนไร้บ้านจากสนามหลวง รองรับได้มากกว่า 400 คน เหมาะทั้งพักอาศัยและเดินทาง คาดปรับปรุงแล้วเสร็จภายใน 7 เดือน ก่อนสนามหลวงปรับปรุงเสร็จ เพื่อป้องกันการกลับมานอนพักสนามหลวง เบื้องต้นจะเจรจากับเจ้าของเพื่อเช่า 1-3 ปี จากนั้นอาจซื้อเป็นทรัพย์สินของกทม.
15 ต.ค. 53 เวลา 11.00 น. ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะลงพื้นที่ตรวจสภาพอาคารโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 เก่า เพื่อพิจารณาเป็นสถานที่พักพิงสำหรับคนเร่ร่อนและคนไร้บ้านที่จะย้ายจากสนามหลวง ตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สนามหลวง และตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน คนเร่ร่อนของกรุงเทพมหานคร
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากที่กทม. ร่วมกับกองทัพบกปรับปรุงภูมิทัศน์สนามหลวง และได้รับการยืนยันจากกองทัพบกว่าการปรับปรุงจะแล้วเสร็จตามแผนงาน คือ ประมาณเดือน พ.ค. 54 จึงเหลือเวลาอีกประมาณ 7 เดือนที่จะต้องหาที่พักพิงให้กับคนไร้บ้านหรือคนเร่ร่อนที่เคยพักพิงที่บริเวณท้องสนามหลวง จึงได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาสถานที่เพื่อนำไปพิจารณาและนำเรียนผู้ว่าฯกทม. จัดสรรงบประมาณดำเนินการ โดยในวันนี้สำนักงานเขตบางพลัดได้สำรวจพบอาคารเก่าของโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ที่ไม่ได้ใช้มานานเกิดการทรุดโทรม จึงได้ลงพื้นที่สำรวจ หากไม่มีปัญหาใดคาดว่าสามารถปรับปรุงเพื่อให้เข้าพักได้ภายในเวลา 7 เดือน เพื่อป้องกันการกลับมานอนพักสนามหลวงสร้างความไม่เป็นระเบียบอีก
ทั้งนี้อาคารเก่าของโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 อยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ ก่อนขึ้นสะพานพระราม 7 เป็นอาคาร 4 ชั้น ชั้นละ 4 ห้องเรียน พื้นที่รวม 1,600 ตารางเมตร มีบันไดขึ้น 2 ข้าง ติดถนนใหญ่ อยู่บนเนื้อที่ 1 ไร่ 95 ตารางวา การเดินทางสะดวกทั้งรถโดยสารประจำทาง เรือโดยสารแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ดินที่อาคารตั้งอยู่เป็นลักษณะแยกจากบ้านเรือนหรืออาคารอื่น มีรั้วรอบชัดเจน หากใช้อาคารดังกล่าวเป็นที่พักพิงสำหรับคนเร่ร่อนหรือคนไร้บ้านจะมีความเหมาะสมทั้งสถานที่และการเดินทาง เบื้องต้นจะมอบสำนักงานเขตบางพลัดเจรจากับเจ้าของอาคารเพื่อเช่าในระยะ 1-3 ปี สำนักการโยธาเข้าปรับปรุงให้เหมาะสมสำหรับการพักนอน หลังจากนั้นอาจซื้อเป็นทรัพย์สินของกทม. ซึ่งจะมีการหารือเรื่องของการช่วยเหลือคนเร่ร่อนไร้บ้านร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสภาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ในวันที่ 21 ต.ค. 53 นี้
สำหรับการเปิดเป็นที่พักพิงคนเร่ร่อนไร้บ้านนั้นมีแนวทาง 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกจะจัดเป็นสวัสดิการ โดยให้สำนักพัฒนาสังคมเข้ามาดูแล ส่วนอีกแนวทางคือการจัดการเชิงพาณิชย์แบบเก็บเงินค่าเข้าพัก ซึ่งจัดเก็บเพียงวันละ 30 บาท เป็นค่าสถานที่และค่าสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า โดยสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยจะเข้ามาดูแลในส่วนนี้ ทั้งนี้จากการคำนวณอาคารดังกล่าวสามารถรองรับผู้เข้าพักได้กว่า 400 คน

เร่งสางปัญหารถและเรือดับเพลิงกทม.

เร่งสางปัญหารถและเรือดับเพลิงกทม.
(15 ต.ค. 53) เวลา 15.15 น. : พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการแก้ไขปัญหาโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกทม. มูลค่า 6,800 ล้านบาท ว่า ขณะนี้กทม. ได้เร่งแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนของคดีความตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนว่ามีการทุจริตและให้สัญญาการซื้อขายเป็นโมฆะ ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้รับเป็นผู้ว่าความคดีให้แก่กทม. พร้อมทั้งยื่นฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ตนเองและคณะกรรมการแก้ไขปัญหาข้อตกลงซื้อขายรถและเรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย จะเดินทางไปยังกรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพื่อเจรจากับบริษัทสไตเออร์ เดมเลอร์พุค สเปเชียล ฟาซอยต์ เอจี จำกัด ในการเจรจาขอนำรถและเรือดับเพลิงมาใช้งานก่อนโดยไม่มีการตรวจรับ และไม่ให้มีผลผูกพันทางกฎหมายและคดีความ โดยให้มีคณะกรรมการของทั้งสองฝ่ายเข้าดูแลและร่วมตรวจสอบสภาพรถ เนื่องจากไม่ได้ใช้งานและอาจเกิดการเสื่อมสภาพ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ด้านการบรรเทาสาธารณภัยแก่ประชาชน
รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวด้วยว่า ในส่วนของภาระด้านภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มของรถและเรือดับเพลิงกว่า 1,000 ล้านบาทตามสัญญาระบุให้ผู้ซื้อ คือ กทม. เป็นผู้ชำระนั้น กทม. จะทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีผ่านกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังเพื่อให้พิจารณาขอยกเว้นภาษีที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากรถและเรือดับเพลิงเป็นอุปกรณ์ที่นำมาใช้เพื่อดูแลความปลอดภัยและบรรเทาสาธารณภัยให้แก่ประชาชน สมควรได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกับเมื่อครั้งอยู่ในความดูแลของกรมตำรวจในขณะนั้น นอกจากนี้หากจะนำรถและเรือดับเพลิงออกมาใช้งาน จะมีปัญหาเกี่ยวกับระเบียบการพัสดุ เนื่องจากรถและเรือดับเพลิงยังเป็นคดีความ ไม่มีการตรวจรับพัสดุ และเป็นรถไม่มีเจ้าของ ส่งผลให้รถและเรือดังกล่าวไม่มีป้ายทะเบียน ซึ่งจำเป็นต้องนำเรื่องดังกล่าวเจรจาร่วมกับกระทรวงคมนาคม ถึงความเป็นไปได้หากมีการนำรถออกมาใช้ปฏิบัติงาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน

ผู้สูงอายุกว่า 1,700 คน ยิ้มรับความสุขร่วมกิจกรรมเนื่องในวันผู้สูงอายุสากล ปี 53

ผู้สูงอายุกว่า 1,700 คน ยิ้มรับความสุขร่วมกิจกรรมเนื่องในวันผู้สูงอายุสากล ปี 53
กทม. จัดงานวันผู้สูงอายุสากล ปี 53 ชวนประชาชนตระหนัก ให้ความสำคัญ และระลึกถึงคุณค่าของผู้สุงอายุ พร้อมเปิดเวทีกิจกรรมแสดงศักยภาพ เสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่ผู้สูงอายุ ให้สามารถดูแลช่วยเหลือตนเอง และผู้สูงอายุด้วยกัน
(15 ต.ค. 53) เวลา 09.00 น. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมเนื่องในวันผู้สูงอายุสากล โดยมี พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีเปิด และผู้สูงอายุ 1,700 คน ร่วมกิจกรรม ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย–ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สหพันธ์ชมรมผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมเนื่องในวันผู้สูงอายุสากล เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีเวทีในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เป็นการเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ สามารถพึ่งพาและช่วยเหลือตัวเองได้ โดยจัดกิจกรรม ประกอบด้วย การเดินเพื่อสุขภาพ การแสดงบนเวทีของผู้สูงอายุ การจับรางวัลหางบัตรเดินเพื่อสุขภาพ พิธีมอบรางวัลผู้ชนะการแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุ ประจำปี2553 การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากชมรมผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 1 ต.ค. ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุสากล และเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองและสร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ตลอดจนระลึกถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ กรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญต่อการดูแลเอาใจใส่ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีเสมอมา โดยจัดกิจกรรมเนื่องในวันผู้สูงอายุสากลครั้งแรกในปี 2540 และจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จนถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 14

ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ เปิดตัวโฆษกของกรุงเทพมหานครคนใหม่

ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ เปิดตัวโฆษกของกรุงเทพมหานครคนใหม่
(15 ต.ค. 53) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงเปิดตัวนายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร ซึ่งเข้ารับตำแหน่งโฆษกของกรุงเทพมหานครเป็นวันแรก โดยมีแพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยทีมที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกทม.
โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เข้ามาทำงานด้านการเมือง โดยจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมา ช่วยในการบริหารงานด้านการประชาสัมพันธ์ของกรุงเทพมหานครให้ก้าวหน้าต่อไป
ทั้งนี้ นายเจตน์ จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ มีประสบการณ์ทำงานที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ปัจจุบันประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรี โดยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการฮอร์ส ชู พ้อยท์ จำกัด และ The Residence at Horse Shoe Point พัทยา

กทม. ร่วมประกาศเจตนารมณ์ผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย

กทม. ร่วมประกาศเจตนารมณ์ผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย
(15 ต.ค. 53) เวลา 12.00 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมเป็นเกียรติในการประกาศเจตนารมณ์ ในเวทีผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ครั้งที่ 1 “ขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม” ซึ่งเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย (Woman Network Reshaping Thailand) จัดขึ้น ณ ห้องประชุม ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เขตหลักสี่
เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยหลายภาคีเครือข่าย อาทิ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กลุ่มผู้หญิงชุมชนเมือง เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ สภาสตรีแห่งชาติฯ และอีกหลายเครือข่าย เพื่อร่วมกันผลักดันให้ผู้หญิงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อให้การขับเคลื่อนของคณะกรรมการทุกชุดได้มีมุมมองของสตรี และให้ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อความแตกต่างระหว่างชายหญิงได้รับการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง ในฐานะที่ผู้หญิงเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ สำหรับการจัดเวทีผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ครั้งที่ 1 เพื่อเป็นเวทีที่จะแบ่งปันข้อมูลและยกระดับการเรียนรู้ ตลอดจนหาแนวทางการประสานเพื่อบูรณาการมุมมองที่แตกต่างของหญิงและชายในการปฏิรูปประเทศไทยต่อไป
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การเสวนาเรื่อง ”พลังผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย” การแสดงข้อคิดเห็นต่อการขจัดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมทางเพศในสังคมไทย โดยคณะปฏิรูปประเทศไทยชุดต่างๆ การประชุมกลุ่มย่อย และการประกาศเจตนารมณ์โดยเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กทม. รับสมัครครูสอนภาษาต่างประเทศ

กทม.รับสมัครครูสอนภาษาต่างประเทศ
นางสาวกุลกันยา ศุขะพันธุ์ รักษาการผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ กทม.แจ้งว่า หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร เปิดรับสมัครครูสอนภาษาต่างประเทศหลายอัตรา ดังนี้
เขตยานนาวา รับสมัครสอบและคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ จำนวน 1 อัตรา และครูสอนภาษาจีน จำนวน 1 อัตรา เพื่อปฏิบัติงานในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตยานนาวา ผู้ประสงค์จะสมัครสอบให้ขอและยื่นใบสมัครด้วยตนเองได้ที่ ฝ่ายการศึกษา ชั้น 3 สำนักงานเขตยานนาวา ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 15 ต.ค.53 ในวันและเวลาราชการ สอบถามเพิ่มเติม
โทร.0 2294 2393 ต่อ 6728 - 9
เขตพระนคร รับสมัครสอบและคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นครูสอนภาษาจีน เพื่อปฏิบัติงานในโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 11 โรงเรียน ในสังกัดสำนักงานเขตพระนคร ผู้ประสงค์จะสมัครสอบให้ขอและยื่นใบสมัครด้วยตนเองได้ที่ ฝ่ายการศึกษา ชั้น 3 อาคาร 2สำนักงานเขตพระนคร ตั้งแต่วันที่ 18 - 22 ต.ค.53 ในวันและเวลาราชการ สอบถามเพิ่มเติม โทร.0 2628 9067
หรือ 0 2628 9064 - 6 ต่อ 6575

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัดยานนาวาระดมพระนักเทศน์ดังจาก 4 ภาคทั่วไทย ร่วมเทศน์มหาชาติยิ่งใหญ่ 13 กัณฑ์

(9 ต.ค.53) แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์เปิดงานแสดงพระธรรมเทศนามหาชาติเวสสันดรชาดก 4 ภาค เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 5 ธันวาคม 2553 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.53 ตั้งแต่เวลา 09.00–16.00 น. ณ อาคารมหาเจษฎาบดินทร์ ชั้น 3 วัดยานนาวา เขตสาทร

โดยในช่วงเช้ามีพิธีแห่รูปพระเวสสันดร กัณหาและชาลีจากที่ทำการไปรษณีย์กลาง เขตบางรัก มาประดิษฐาน ณ ท้ายเรือสำเภา วัดยานนาวา ซึ่งถือเป็นประเพณีประวัติศาสตร์ของวัดยานนาวาที่ได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องมา ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 สำหรับการแสดงพระธรรมเทศนามหาชาติเวสสันดรชาดก มีทั้งหมด 13 กัณฑ์ ประกอบด้วย กัณฑ์ ทศพร กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์ทานกัณฑ์ กัณฑ์วนประเวศน์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์จุลพน กัณฑ์มหาพน กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี กัณฑ์สักกบรรพ กัณฑ์มหาราช กัณฑ์ฉกษัตริย์ กัณฑ์นครกัณฑ์ และยังมีกัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ คือ กัณฑ์อริยสัจจ์ ซึ่งถือเป็นกัณฑ์ที่ 14 เพื่อให้ที่เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้

ซึ่งคณะกรรมการจัดงานได้นิมนต์พระนักเทศน์จากทุกภาคมาแสดงธรรมแต่ละกัณฑ์ อาทิ กัณฑ์หิมพานต์ เป็นภาษาและท่วงทำนองแบบภาคกลาง แสดงธรรมโดย พระมหาสม สุทฺธิปภาโส วัดหลักสี่, กัณฑ์มัทรี ภาคอีสาน แสดงธรรมโดยพระครูสุตสารพิมล วัดโนนศิลา จ.ขอนแก่น, กัณฑ์สักกบรรพ ภาคเหนือ แสดงธรรมโดยพระครูประยุตศุภการ วัดร่องคือ จ.พะเยา และกัณฑ์จุลพน ภาคใต้ แสดงธรรมโดยพระสมจิตร ขนฺติธมฺโม วัดนาวง จ.นครศรีธรรมราช

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สารทเดือนสิบ งานบุญประเพณีวิถีแดนใต้

(8 ต.ค. 53) นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมงานประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ ประจำปี 2553 “ร้อยรักษ์ประเพณี ตามวิถีสารทแดนใต้” ณ วัดดุสิดารามวรวิหาร เขตบางกอกน้อย ซึ่งมูลนิธิสหภูมิภาคทักษิณ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และชาวสหภูมิภาคทักษิณ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7–9 ต.ค. 53 ณ วัดดุสิดารามวรวิหาร เพื่อให้พี่น้องชาวภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ไม่สามารถเดินทางกลับไปทำบุญวันสารทเดือนสิบที่ภูมิลำเนาได้มีโอกาสมา ร่วมทำบุญอุทิศแด่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งยังเป็นการร่วมอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามทางพระพุทธศาสนาของ ชาวภาคใต้ที่มีมาแต่โบราณให้คงอยู่สืบต่อไป

นอกจากนี้เป็นการเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวได้ สัมผัสวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของชาวภาคใต้ด้วย โดยในงานจะมีการทอดผ้าป่าจัดหาทุนการศึกษาแด่พระภิกษุ–สามเณร เด็กนักเรียนชาวใต้ที่เรียนดี ประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมทั้งจัดหาทุนสงเคราะห์พระภิกษุ–สามเณร ที่อาพาธ และสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัยต่างๆ อีกทั้งมีการแสดงศิลปะพื้นเมืองของภาคใต้ อาทิ การแสดงโฟล์คซองเยาวชน การแสดงวัฒนธรรมการละเล่นเพลงบอก สาธิตพิธีกรรมมโนราห์ โนราเหยียบมะนาว โนราแทงเข้ การแสดงระบำตาลีกีปัส ระบำร่อนแร่ ระบำพรานบุญจับนางมโนราห์ การแสดงหนังตะลุง ซึ่งการแสดงต่างๆ จะสิ้นสุดเวลา 24.00 น. ของแต่ละวัน นอกจากนี้มีการสาธิตและจำหน่ายสินค้าและขนมท้องถิ่นของพี่น้องภาคใต้ เช่น ขนมกง ขนมลา ขนมดีซำ ขนมพอง ขนมกง ขนมบ้า และอื่นๆ อีกมากมาย

เริ่มแล้วเทศกาลเจเยาวราช ชวนคนไทยร่วมอิ่มบุญ 9 วัน 9คืน

เปิดเทศกาลเจเยาวราชอย่างยิ่งใหญ่ ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ โชว์ฝีมือปรุงผัดหมี่ทองคำมงคล 8 พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมลงนามถวายพระพรและลงนามปฏิญาณตน ถือศีลกินเจตลอด 9 วัน 9 คืน ตั้งแต่ 8–16 ต.ค. นี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

(8 ต.ค. 53) ณ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดเทศกาลงานเจ เยาวราช ประจำปี 2553 ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สภาวัฒนธรรมเขตสัมพันธวงศ์ ภาคเอกชน และประชาชน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-16 ต.ค. 53 ภายใต้แนวคิด “รวมพลังสร้างสามัคคี พระมหาบารมีล้นแผ่นดิน” ในโอกาสนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมปรุงเมนูมหามงคล “ผัดหมี่ทองคำมงคล 8” ด้วย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า เทศกาลงานเจเยาวราชถือเป็นประเพณีประจำปีของชาวสัมพันธวงศ์ โดย มีคณะกรรมการจัดงาน ประกอบด้วย สภาวัฒนธรรมเขตสัมพันธวงศ์ พ่อค้าประชาชน ชุมชนต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการภัตตาคาร ร้านอาหารบนถนนเยาวราช โดยปีนี้มีการจัดงานรวม 9 วัน 9 คืน ที่บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนเยาวราช พร้อมกันนี้ ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมลงนามถวายพระพรและลงนามปฏิญาณตน ถือศีลกินเจตลอด 9 วัน 9 คืน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การสวดมนต์ถวายกิวอ๋องอุกโจ้ว และขอพรจากพระเจ้าทั้ง 9 องค์, พิธีรัวกลองเพื่อปลุกฟื้นมังกรให้ปกปักรักษาองค์เจ้าแม่กวนอิม และประชาชนที่มาร่วมงาน ขบวน แห่รถบุปผาชาติเจ้าแม่กวนอิมจากศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง และเป็นครั้งแรก ที่อัญเชิญเจ้าแม่กวนอิมในเขตเยาวราชมาร่วมขบวนแห่ การประกวดสุดยอดอาหารเจเพื่อสุขภาพ การประกวดอาหารเจเพื่อสุขภาพและออกแบบโต๊ะอาหารจากนักศึกษาชิงถ้วยรางวัลผู้ ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศึกยุทธการกระทะเหล็ก เจ จาก 8 ภัตตาคาร ชื่อดังในเยาวราช และการจำหน่ายอาหารเจเลิศรสจากผู้ประกอบการ การจำหน่ายอาหารเจเลิศรสตลอดแนวถนนเยาวราช พร้อมกับร่วมลุ้นโชคเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ฮอนด้า 2 คัน และตั๋วเครื่องบินไปกลับ กรุงเทพฯ – ภูเก็ต 2 ที่นั่ง และรับของรางวัลเป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทผู้สนับสนุนการจัดงาน ซึ่งผู้ร่วมงานที่ซื้อสินค้าภายในงานจะได้รับคูปองลุ้นโชค 1 ใบ ต่อการจับจ่ายสินค้าครบ 100 บาท โดยให้นำคูปองดังกล่าวหย่อนลงในกล่องที่ตั้งไว้บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อร่วมลุ้นรางวัล

ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญด้านการดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนมาก รวม ถึงจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจทั้งจากส่วนกลางและจากเขตออกลาดตระเวนอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่างานเทศกาลกินเจเยาวราชในปีนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดวันละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท