ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

สุดประทับใจกับคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของนักเรียน กทม.

นักเรียน กทม. กว่า 400 คน แสดงศักยภาพทางดนตรีในคอนเสิร์ต Music For All ร่วมกับนักร้องชื่อดัง 6 คน ได้แก่ หนึ่ง ETC. หนึ่ง จักรวาร ฮาย อาภาพร เป็ก ผลิตโชค นก KPN Award 2009 และอาร์ม KPN Award 2009 หลังมุ่งมั่นศึกษาและฝึกฝนมาอย่างยาวนาน เปิดประสบการณ์การแสดงสดต่อหน้าผู้ชมเต็มรูปแบบ ทั้งแสง สี เสียง
(27 ม.ค. 55) เวลา 14.00 น. : นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการแสดงผลงานดนตรีของนักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ในคอนเสิร์ต Music For All โครงการพัฒนาทักษะทางดนตรีในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 90 แห่ง นักเรียนกว่า 400 คนที่เข้าร่วมโครงการ ได้มีเวทีในการแสดงความสามารถทางด้านดนตรีครบทุกด้านทั้งการร้อง เต้นท่ามกลางระบบแสง สี และ เสียงเต็มรูปแบบ ร่วมกับนักร้องที่มีชื่อเสียง 6 คน ประกอบด้วย หนึ่ง ETC. อภิวัฒน์ พงษ์วาท หนึ่ง จักรวาร เสาธงยุติธรรม ฮาย อาภาพร นครสวรรค์ เป๊ก ผลิตโชค อายนบุตร นก พริมาภา กรโรจนชวิน (KPN Award 2009) และอาร์ม กรกันต์ สุทธิโกเศศ (KPN Award 2009) โดยแบ่งการแสดงออกเป็น 5 ชุด ได้แก่ We Love Music, The Little Star, The Rising Star, Music is My Life และThe Inspiration (Grand Final)
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สถาบันดนตรี KPN จัดโครงการพัฒนาทักษะทางดนตรีในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมความรู้ทางดนตรีและยกระดับความสามารถของนักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้ได้มาตรฐานสากล ด้วยการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนดนตรี 6 หลักสูตร ได้แก่ เปียโนและคีย์บอร์ดขั้นต้น กีตาร์ขั้นต้น กีตาร์อะคูสติกขั้นต้น กีตาร์เบสขั้นต้น กลองชุดขั้นต้น และขับร้องขั้นต้น ซึ่งนอกจากการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติโดยตรงจากครูผู้สอนแล้ว ยังจัดให้มีการเรียนรู้ผ่านระบบ E-Learning ด้วย เพื่อช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้และฝึกฝนด้วยตนเองผ่านเทคโนโลยีได้อีกหนึ่งช่องทาง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี 2552 โดยนำร่องในโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 10 แห่ง และมีการขยายผลต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2554 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเพิ่ม 90 แห่ง รวมเป็น 100 แห่ง จากโรงเรียนทั้งหมด 436 แห่ง และกรุงเทพมหานครมีแนวทางดำเนินโครงการดังกล่าวในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้ครบทั้ง 436 แห่งต่อไป
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา ขยายผล และต่อยอดการศึกษาด้านดนตรีแก่นักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกคน อีกทั้งมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านดนตรีอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าการเรียนดนตรีมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการเรียนรู้ในรายวิชาอื่นๆ ดนตรีจะช่วยกล่อมเกลาภาวะจิตใจและอารมณ์ของผู้เรียนให้แจ่มใสเบิกบาน สามารถนำประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ไปพัฒนาทักษะด้านอื่นได้อย่างดี อีกทั้งเด็กจะได้รับประสบการณ์ตรงจากการแสดงดนตรีต่อหน้าผู้ชมจำนวนมาก และถือเป็นบันไดขั้นแรกของการก้าวสู่นักดนตรีอาชีพต่อไปในอนาคตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น