ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เสนอผังแม่บทภูมิทัศน์สู่การเป็นกรุงเทพฯ เมืองสวรรค์

(15 ธ.ค. 54) เวลา 10.00น. นายพรเทพ เตชะไพบูลย์รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานเปิดการสัมมนา"กรุงเทพฯ เมืองสวรรค์" เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมปรับปรุงฟื้นฟูเมืองตามกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการให้กรุงเทพฯเป็นเมืองโปร่ง เป็นเมืองที่น่าดู เป็นเมืองประวัติศาสตร์ และเป็นเมืองที่สวยงาม ซึ่งกทม. ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการวางผังพัฒนาเมืองได้เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนและสื่อมวลชนร่วมให้ข้อคิดเห็นในการจัดทำกรอบแนวคิดในการปรับปรุงฟื้นฟูเมือง และเสนอมาตรการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงนำข้อมูลเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเมืองกรุงเทพฯ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวทางการพัฒนาเมืองน่าอยู่ในต่างประเทศ มากำหนดกรอบแนวคิดของโครงการ พร้อมทั้งจัดทำเป็นผังแม่บทภูมิทัศน์สาธารณะเพื่อเป็นผังแม่บทที่กำหนดกรอบแนวคิดด้านการพัฒนาพื้นที่3ลักษณะ ได้แก่ ภูมิทัศน์เส้นทางสัญจร ภูมิทัศน์พื้นที่โล่งสาธารณะ และภูมิทัศน์ย่านประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการต่อยอดสู่การเป็นกรุงเทพฯ เมืองสวรรค์ต่อไป

สำหรับผังแม่บทภูมิทัศน์สาธารณะตามแนวคิดภูมิทัศน์เส้นทางสัญจร จะเป็นการเปิดเส้นทางหรือพื้นที่เปิดโล่งเป็นทางยาวเชื่อมโยงพื้นที่เปิดโล่งและกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย ภูมิทัศน์เส้นทางน้ำ ภูมิทัศน์ถนนและทางเดินเท้า และภูมิทัศน์ทางจักรยาน ตัวอย่างการปรับปรุงตามกรอบแนวคิดดังกล่าว ได้แก่ การปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนสีเขียวเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมบริเวณถนนวงแหวนรัชดาภิเษก ซึ่งถนนสายนี้สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรเป็นการเชื่อมต่อถนนสายเดิมได้แก่ อโศก-ดินแดง จรัญสนิทวงศ์ วงศ์สว่าง เชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนรอบเมืองชั้น ตัดผ่านย่านสำคัญของกรุงเทพฯ อีกทั้งเป็นตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อม และใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แนวคิดภูมิทัศน์พื้นที่โล่งสาธารณะ จะเน้นการพัฒนาสวนสาธารณะและลานโล่งรูปแบต่างๆ นั้น ได้เลือกพื้นที่บริเวณโดยรอบบึงพระราม 9 มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ และเป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริอยู่หลายแห่ง เช่น โครงการบำบัดน้ำเสียบึงพระราม 9 และศูนย์แพทย์พัฒนา อีกทั้งยังมีพื้นที่โล่งว่างใต้ทางด่วนอีกมากมาย ซึ่งเหมาะแก่การพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวและสถานที่พักผ่อนให้ชุมชน นอกจากนี้ในส่วนของแนวคิดด้านภูมิทัศน์ย่านประวัติศาสตร์ ได้ดำเนินการนำร่องบริเวณย่านพิพิธภัณฑ์ริมคลองคูเมืองเดิม ระหว่างถนนสนามไชยกับคลองคูเมืองเดิม พื้นที่ประมาณ200ไร่ โดยจะส่งเสริมให้เกิดความสง่างามของอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งฟื้นฟูความสำคัญของคลองและพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวด้านศิปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ต่อไป

โอกาสนี้ กทม. ได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง การพัฒนากรุงเทพฯ อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นแนวทางให้เกิดการประยุกต์ใช้และน้อมนำแนวพระราชดำริอย่างเป็นรูปธรรมในการปรับปรุงื้นฟูกรุงเทพฯ สมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น