ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ผู้ว่าฯกทม.เผยกรุงเทพฯ ผ่านพ้นสถานการณ์น้ำท่วมทุกเขตแห้งแล้ว

สถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ แห้งแล้วทุกพื้นที่ ส่วนปัญหาขยะที่มีจำนวนมากคาดจัดเก็บแล้วเสร็จก่อนปีใหม่ เผย WHO ชื่นชม กทม.ควบคุมสถานการณ์ได้ดีไม่มีการระบาดของโรคติดต่อในช่วงวิกฤตน้ำท่วม
(23 ธ.ค.54) เวลา 14.00 น. ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการ กทม. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครผ่านพ้นสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว โดยได้ให้สำนักงานเขตที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสำรวจพื้นที่ว่ายังมีน้ำท่วมขังอีกหรือไม่ ซึ่งรายงานล่าสุดทุกพื้นที่น้ำแห้งหมดแล้ว พื้นที่สุดท้ายคือที่หมู่บ้านเศรษฐกิจก้าวหน้า เขตบางเขน มีน้ำท่วมขังประมาณ 10 ซม. ได้ให้สำนักการระบายน้ำสูบน้ำออกขณะนี้แห้งแล้วเมื่อคืนวันที่ 22 ธ.ค.54 สำหรับในบางพื้นที่ที่มีน้ำเอ่อล้นบ้างเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถระบายน้ำได้จะต้องอาศัยการระบายน้ำตามธรรมชาติ จึงถือได้ว่าสถานการณ์น้ำในกรุงเทพฯ ขณะนี้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โอกาสนี้จึงขอขอบคุณ รัฐบาล กระทรวงมหาดไทย จังหวัดต่างๆ รวมทั้งประชาชน อาสาสมัคร ข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร ที่ร่วมมือกันทำงานอย่างทุ่มเท เสียสละ ช่วยเหลือ ดูแลการระบายน้ำจนสามารถผ่านวิกฤตมหาอุทกภัยไปได้
นอกเหนือจากมหาอุทกภัยที่คลี่คลายแล้ว อีกปัญหาที่สำคัญ คือ ขยะซึ่งมีจำนวนมากโดยระหว่างวันที่ 15 ต.ค. – 22 ธ.ค.54 กทม.ได้เก็บขยะไปแล้ว 644,788 ตัน และเท่าที่ประเมินขณะนี้ยังคงมีขยะตกค้างอีกประมาณ 11,666 ตัน ใน 8 เขต ประกอบด้วย เขตดอนเมือง หลักสี่ บางเขน สายไหม บางแค หนองแขม ทวีวัฒนา และตลิ่งชัน ซึ่งจะต้องจัดเก็บให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 25 ธ.ค.54 ยกเว้นเขตตลิ่งชันและบางแคจะจัดเก็บให้เสร็จภายในวันนี้(23 ธ.ค.
54) และเขตดอนเมืองจะระดมสรรพกำลังเพื่อเร่งจัดเก็บให้หมดก่อน 25 ธ.ค.54 ในส่วนของเขตหนองแขมซึ่งมีปัญหาในการจัดเก็บขยะในตรอก ซอยเป็นไปอย่างยากลำบากจึงต้องยืดเวลาในการจัดเก็บไปถึงวันที่ 28 ธ.ค.54 อย่างไรก็ตามเกรงว่าอาจมีขยะเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากประชาชนอาจมีการตัดสินใจทิ้งขยะที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้นอีกในภายหลัง แต่ก็จะเร่งจัดเก็บขยะที่เกิดจากอุทกภัยให้หมดภายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ในส่วนปัญหาเรื่องของยุงนั้น กทม.ได้ดำเนินการฉีดพ่นยาเป็นประจำทุกวันเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขตเร่งทำความสะอาด ลอกท่อระบายน้ำ ดูดโคลนเลน เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำในปีหน้า โดยจะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพิจารณาจุดเสี่ยงที่จำเป็นต้องเข้าดำเนินการอย่างเร่งด่วน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่าในช่วงที่เกิดอุกทกภัยพบผู้ป่วยจากโรคที่มากับน้ำ อาทิ ตาแดง ฉี่หนู และท้องเสียพอสมควร แต่ไม่มีรายงานการเกิดโรคระบาด ในเรื่องดังกล่าวทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งข้อสังเกตพร้อมชื่นชมที่ กทม.สามารถบริหารจัดการควบคุม ดูแลสถานการณ์ได้เป็นอย่างดีไม่มีการระบาดของโรคในขณะที่ปัญหามหาอุกทกภัย โดยทีมควบคุมโรคสำนักอนามัย กทม.ได้มีการลงพื้นที่เพื่อแจกจ่ายยาและให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันทั้งก่อนและขณะมีน้ำท่วมอย่างทั่วถึง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น