(28 ธ.ค.54) ที่ศาลาว่าการกทม. เวลา 15.30 น. : นายสัญญา จันทรัตน์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม.ร่วมกับฝ่ายกฏหมายและผู้เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.54 เกี่ยวกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยอันเป็นที่ตั้งของตลาดนัดจตุจักร โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเข้าจัดการพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรภายหลังสิ้นสุดสัญญาเช่าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.55 เป็นต้นไป รวมถึงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบในหลักการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย
นายสัญญา กล่าวว่า ตามมติของคณะรัฐมนตรีเป็นเพียงการรับทราบว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะเข้าจัดการพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรภายหลังจากกทม.สิ้นสุดสัญญาเช่าตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.55 เป็นต้นไปเท่านั้น แต่คณะรัฐมนตรียังไม่มีมติให้การรถไฟฯ เข้าบริหารจัดการตลาดนัดอย่างเป็นทางการ เนื่องจากการรถไฟฯ ยังไม่ได้แจ้งต่อคณะรัฐมนตรีว่าจะเข้าจัดตลาดนัดอย่างใด ดังนั้นจึงไม่มีผลให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเดิมเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2522 และ 14 เม.ย.2525 ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าให้กทม.ใช้พื้นที่ของการรถไฟฯ เพื่อจัดตลาดนัด ส่วนการตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรถือว่าการรถไฟฯ ได้ดำเนินการอยู่แล้วด้วยการให้กทม.เช่าพื้นที่เพื่อดำเนินการ อย่างไรก็ตามเมื่อยังไม่มีความชัดเจนว่าคณะรัฐมนตรีต้องการให้รูปแบบการจัดตลาดนัดจตุจักรในวันที่ 2 ม.ค.55 เป็นอย่างไร และการรถไฟฯ จะมีอำนาจตามกฎหมายเข้าดำเนินการจัดตลาดนัดจตุจักรหรือไม่ ดังนั้น กทม.จะทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความชัดเจนในมติคณะรัฐมนตรีพร้อมรายละเอียดโดยด่วน
นายสัญญา กล่าวด้วยว่า หากคณะรัฐมนตรีมีมติอย่างเป็นทางการให้การรถไฟฯ เข้าจัดตลาดนัดตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.55 เป็นต้นไป กทม.ในฐานะคู่สัญญายังมีสิทธิในพื้นที่ตลาดนัด เพื่อทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครและปรับพื้นที่ให้กลับสู่สภาพเดิมก่อนส่งมอบพื้นที่คืนให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยภายหลังสิ้นสุดสัญญาเช่าให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าข้อ 10 หากกทม.ไม่ดำเนินการตามสัญญาจะถูกเรียกร้องค่ารื้อถอนกรณีผิดสัญญากับการรถไฟฯ ซึ่งจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
ด้าน นายอรุณ ศรีจรูญ ผู้อำนวยการตลาดนัด กทม. แสดงความกังวลว่า หากการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าบริหารต่อจากกทม.ตั้งแต่วันที่ 2 มค.เป็นต้นไป จะเกิดผลกระทบต่อพนักงานชั่วคราวกว่า 300 คน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตลาดนัดและผู้ค้าอีกกว่า 8,000 คน ซึ่งยังคงกังวลถึงความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามตนเองยืนยันว่า กทม.ยังมีศักยภาพที่จะบริหารจัดการตลาดนัดได้ แต่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารจัดการ พนักงาน ผู้ค้า และผู้บริโภค เนื่องจากตลาดนัดจตุจักรเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงทั่วโลก ไม่ต้องการให้เกิดภาพลักษณ์ของความขัดแย้ง ส่วนกรณีการที่การรถไฟฯ จะขอคืนพื้นที่ในฐานะเป็นเจ้าของสามารถทำได้แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่มีอยู่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น