ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กทม. จับมือภาคีเครือข่ายร่วมปฏิบัติการจัดการขยะฟื้นฟูชุมชน

ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ เปิดโครงการ Big Recycle Day ปฏิบัติการจัดการขยะเพื่อฟื้นฟูชุมชน กทม. นำร่องเขตภาษีเจริญ พร้อมขยายผลต่อเนื่องไปยังพื้นที่โดยรอบ เน้นการให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

(12 ธ.ค. 54) เวลา 10.00 น. ม.ร.ว.สุขฺมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานค เป็นประธานเปิดโครงการ ฏิบัติการจัดการขยะเพื่อฟื้นฟูชุมชน กทม. (Big Recycle) ณ จุดปฏิบัติการคัดแยกขยะ ถนนพุทธมณฑล สาย 1 เขตภาษีเจริญ โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานเขตภาษีเจริญ บางแค หนองแขม ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางพลัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไทยพีบีเอส มูลนิธิเอสซีจี กองทัพภาคที่ 1 กองพลทหารราบที่ 9 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ร.19 พัน 2 โรงเรียนเซนต์ปีเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสยาม วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายและชุมชนการจัดการขยะเขตภาษีเจริญ

โครงการ ฏิบัติการจัดการขยะเพื่อฟื้นฟูชุมชน กทม. (Big Recycle) มีวัตถุประสงค์เพื่อริเริ่มให้เกิดการจัดการขยะอย่างเป็นระบบลดภาระในการจัดเก็บและฝังกลบ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการจัดการขยะตกค้าง และเป็นจุดเริ่มในการสร้างวัฒนธรรมของสังคมไทยในการคัดแยกและจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน โดยมีแผนการจัดการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางอย่างเป็นระบบ เริ่มจากการส่งเสริมการจัดการขยะในครัวเรือนที่น้ำเริ่มลด ผ่านวิธีการคัดแยกขยะเท่าที่สามารถทำได้ แบ่งเป็น ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ขยะมีพิษ แล้วนำขยะที่คัดแยกแล้วไปทิ้ง ณ จุดทิ้งขยะแต่ละประเภทตามที่ได้แยกไว้ เช่น สถานีพักขยะระดับชุมชน, ลานขยะอินทรีย์ ธนาคารขยะ และขยะมีพิษ สำหรับขยะชิ้นใหญ่สามารถขนไปที่ลานตากและย่อยสลาย เพื่อทำการแยกชิ้นส่วนก่อนที่จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือเป็นวัสดุอื่นๆ ต่อไป โดยจะมีการประสานก้บภาคเอกชนจัดรถบรรทุกบริการขนถ่ายในถนนสายสำคัญและจากจุดรวมขยะของแต่ละพื้นที่ ส่วนขยะในครัวเรือนที่มีการเคลื่อนย้ายมาแล้วโดยไม่ได้คัดแยกก็จะเน้นเฉพาะส่วนของขยะเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ซึ่งมีปริมาณมากและสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ จากระบบการจัดการที่กล่าวมาแล้วนั้น ในทางทฤษฎีหากสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปฝังกลบได้มากถึงร้อยละ 60

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านได้ มีการทดลองนำโครงการฯ ดังกล่าวมาใช้ในพื้นที่เขตภาษีเจริญ ซึ่งหลังการดำเนินการเพียง 2 วัน พบว่าสามารถคัดแยกขยะเฟอร์นิเจอร์ไม้ได้มากถึง 20 ตัน และเกิดผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินการจัดการขยะตกค้างของพื้นที่ต่างๆ มีประสิทธิภาพรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือต่อการสร้างวัฒนธรรมของการจัดการขยะอย่างยั่งยืนต่อไป

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมเป็นเครือข่ายจัดการขยะในครั้งนี้ เนื่องจากปัญหาขยะหลังน้ำท่วมมีทั้งขยะที่ลอยมาตามน้ำ และขยะที่เกิดจากข้าวของเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหาย โดยในสภาวะปกติกรุงเทพฯ มีขยะรวมกันมากถึง 8,500 ตันต่อวัน ซึ่งก็เต็มขีดความสามารถของระบบการกำจัดขยะแล้ว แต่ในสภาวะหลังน้ำลด ขยะในพื้นที่น้ำท่วม อาจเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่า หรือเท่ากับปริมาณขยะตกค้างกว่า 46,000 ตัน หากใช้ระบบการจัดเก็บแบบปกติและไม่มีความร่วมมือจากภายนอกแล้ว อาจต้องใช้เวลาในการจัดเก็บนานนับเดือนแม้จะเพิ่มรอบและปริมาณรถจัดเก็บแล้วก็ตาม เนื่องจากขยะดังกล่าวมีปริมาณสูงกว่าขีดความสามารถในการจัดเก็บและฝังกลบอยู่มาก แต่ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดเก็บขยะโดยด่วน ซึ่งตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น