ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แนะผู้บริหารจ้างครูสอนภาษาต้องมีคุณภาพ พร้อมออกแบบห้องน้ำอาคารเรียนให้ตรงตามมาตรฐาน

คกก.วิสามัญพิจารณางบประมาณปี 55 กระทุ้งผู้บริหารสำนักการศึกษา ต้องมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา และวางนโยบายระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม ย้ำควรจ้างครูสอนภาษาที่มีคุณภาพและเป็นเจ้าของภาษาโดยตรง เพื่อให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ควรกำหนดรูปแบบการก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำให้มีมาตรฐานเดียวกัน

นายกิตพล เชิดชูกิจกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตประเวศ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อประชุมพิจารณางบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ซึ่งมีหน่วยงานที่เข้ารับการพิจารณาคือ สำนักการศึกษา โดยมีนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเพมหานคร และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 3-6 สภากรุงเทพมหานคร

ในที่ประชุมครั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงสำนักการศึกษาว่า การแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา ในภาพรวมควรมีความจริงจังและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการวางแผนการทำงานในระยะยาว เพื่อให้สามารถพัฒนาการทำงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีปัญหาด้านบุคลากรไม่เพียงพอและยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ผู้บริหารจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาการทำงานตามที่ได้ผลักดันเป็นนโยบายด้านการศึกษาอีกด้วย ในส่วนของการก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ควรมีการกำหนดรูปแบบการก่อสร้างที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งควรดำเนินการจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงอาคารเรียนและก่อสร้างอาคารใหม่แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ตลอดจนการปรับปรุงห้องน้ำในโรงเรียนที่มีสภาพทรุดโทรมอีกด้วย

นอกจากนี้สำนักการศึกษาควรมีการปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนให้ทันสมัย เพื่อให้นักเรียนของกรุงเทพมหานครได้รับการพัฒนาทักษะและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ในส่วนของการว่าจ้างอาจารย์สอนภาษาต่างประเทศ ควรมีการคัดเลือกอาจารย์ที่มีคุณภาพหรือว่าจ้างอาจารย์ที่เป็นเจ้าของภาษาโดยตรง เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนให้กับเด็กนักเรียนได้อย่างดี อีกทั้งการว่าจ้างอาจารย์สอนภาษา ควรมีการเบิกจ่ายค่าจ้างให้ตรงตามความเป็นจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อครูผู้สอนและไม่เกิดปัญหาครูผู้สอนลาออก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็กนักเรียนอีกด้วย พร้อมกันนี้ทางคณะกรรมการฯ ได้กล่าวถึงการบริหารงานของสำนักการศึกษา ควรมีการกระจายอำนาจในเรื่องการบริหารงานให้ทั่วถึง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและเกิดความคล่องตัวในระบบการทำงานอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น