ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ผู้ว่าฯกทม. ลงพื้นที่ตรวจแนวป้องกันน้ำท่วม บริเวณโรงพยาบาลศิริราชและท่าเรือพรานนก

(24 ส.ค. 54) เวลา 08.00 น. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมและแนวเรียงกระสอบทรายชั่วคราว บริเวณโรงพยาบาลศิริราชและท่าเรือพรานนก เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหนุนในแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้ (24 ส.ค.) มีระดับน้ำทะเลหนุนสูง 0.88 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประกอบกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา วัดได้ที่ประตูระบายน้ำที่อำเภอบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ระหว่าง 1,800-1,900 ลบ.ม./วินาที เป็นปริมาณที่ค่อนข้างมากกว่าปกติ แต่สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากแนวคันกั้นน้ำของกรุงเทพมหานครสามารถรับระดับน้ำได้สูง 2.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง และรองรับน้ำที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ 2,500-3,000 ลบ.ม./วินาที และได้สั่งการให้สำนักงานเขตในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 13 เขต ที่มีชุมชน อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ 27 ชุมชน เตรียมความพร้อม และระมัดระวังสถานการณ์น้ำในช่วงนี้ นอกจากนี้ยังได้จัดทำตารางน้ำขึ้น-ลง ของแต่ละวันแจกให้ประชาชนในชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำได้ทราบและเฝ้าระวัง ในส่วนของแนวคันกั้นน้ำบริเวณโรงพยาบาลศิริราชถึงโรงเรียนคุณะเกษมศึกษา มีความยาว 300 เมตร ได้ใช้มาตรการชั่วคราว โดยการเรียงกระสอบทรายสูง 2.5 เมตร เหนือระดับ น้ำทะเลปานกลาง เพื่อป้องกันน้ำท่วมในระหว่างการก่อสร้างแนวคันกั้นน้ำถาวรโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2555

สำหรับพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ ที่อยู่ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครมีความยาวตลิ่งทั้งสองฝั่งประมาณ 86 กิโลเมตร มีแนวป้องกันน้ำท่วมที่ต้องก่อสร้างทั้งสิ้น ยาวประมาณ 77 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือเป็นบ้านเรือน อาคารเดิม สถานที่ราชการ และบริษัทเอกชนที่สามารถป้องกันตนเองจากน้ำท่วมได้ ขณะนี้กรุงเทพมหานครมีแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรที่ก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถป้องกันน้ำได้ที่ระดับ 2.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ความยาวประมาณ 75.80 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือ 1.20 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการภายในปี พ.ศ.2555 แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลายบริเวณซึ่งเดิมสามารถป้องกันตนเองได้ จึงทำให้ความยาวของแนวป้องกันน้ำท่วมที่จะต้องก่อสร้างเพิ่มขึ้ อีกประมาณ 7.564 กิโลเมตร ซึ่งก่อสร้างไปแล้วกว่า 0.59 กิโลเมตร คาดว่าจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จในปี 2556 ในส่วนของแนวป้องกันน้ำท่วมที่เหลือได้ใช้มาตรการชั่วคราว โดยการเรียงกระสอบทราย และสามารถป้องกันน้ำได้ที่ระดับ 2.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น