ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กทม. ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาค “ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤติ ” ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) อีกทั้งตั้งเต็นท์รับบริจาคเงินและสิ่งของ ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม. และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ยอดเงินบริจาครวม 4,228,712.60 บาท ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน อีกทั้งได้บรรจุถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤต เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์เบื้องต้นแก่ประชาชน ประกอบด้วย ข้าวสาร บะหมี่สำเร็จรูป ปลากระป๋อง ผักกระป๋อง น้ำ ทิชชู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน นอกจากนี้ยังมีสิ่งของอื่นๆ ที่ไม่ได้บรรจุในถุงยังชีพแจกจ่ายไปยังพื้นที่ตามความต้องการ เช่น สบู่ นม ผ้าอนามัย ยากันยุง ไฟฉาย ถังน้ำ เทียนไข ไฟแช็ค ผู้อ้อมเด็ก ผู้อ้อมผู้ใหญ่ เวชภัณฑ์ และของเบ็ดเตล็ดอื่นๆ
สำหรับถุงยังชีพที่บรรจุเพื่อส่งไปยังพื้นที่ประสบอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. – 4 พ.ย. 53 รวมจำนวน 51,390 ถุง แจกจ่ายไป 44,890 ถุง ให้แก่ 10 จังหวัด 27 อำเภอได้แก่ 1) อ.บ้านหมี่ อ.เมือง จ.ลพบุรี 2) อ.พระนครศรีอยุธยา อ.ท่าเรือ อ.บางปะอิน อ.บางไทร อ.ผักไห่ อ.บางปะหัน อ.เสนา อ.บางบาล จ.อยุธยา 3) อ.บำเหน็จณรงค์ อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ 4) อ.เสาไห้ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี 5) อ.เมือง อ.วิเศษไชยชาญ จ.อ่างทอง 6) อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 7) อ.เมือง อ.พิมาย อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา 8) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท 9) อ.เมือง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 10) อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 11) อ.หาดใหญ่ อ.นาทวี จ.สงขลา 12) อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

สนับสนุนรถพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่เพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครได้สนับสนุนรถพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ เพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย สำนักอนามัยสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ จำนวน 20,000 ชุด สำนักการระบายน้ำ สนับสนุนเรือท้องแบน จำนวน 20 ลำ พร้อมรถบรรทุก จำนวน 20 คัน รถซ่อมบำรุงจำนวน 1 คัน และเจ้าหน้าที่ จำนวน 120 คน สำนักสิ่งแวดล้อมสนับสนุนรถสุขาพร้อมเจ้าหน้าที่ประจำรถ จำนวน 10 คัน รถบรรทุกน้ำดื่ม จำนวน 10 คัน ถุงใส่มูลฝอย 20,000 ใบ และสำนักการโยธาสนับสนุนรถบรรทุก จำนวน10 คัน อีกทั้ง สำนักปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบสิ่งของให้กรุงเทพมหานครช่วยบรรจุถุงยังชีพ จำนวน 8,500 ถุง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ส่งมอบให้ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี จ.ชัยภูมิ และ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เรียบร้อยแล้ว



ตั้งโรงเลี้ยงอาหารที่ปทุมธานี
ไม่เพียงแต่มอบถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเท่านั้น กรุงเทพมหานครยังได้จัดตั้งโรงเลี้ยงอาหารและน้ำดื่มสำหรับ ผู้ประสบอุทกภัย จ.ปทุมธานี จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณวัดบางเตยกลาง อ.สามโคก และ จุดที่ 2 บริเวณวัดโบสถ์บ้านกลาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 29 ต.ค. - 4 พ.ย. 53 รวม 7 วันๆ ละ 2 มื้อ อีกด้วย

ปล่อยขบวนรถช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 53 เวลา 06.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานปล่อยขบวนรถเพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.สงขลา ประกอบด้วย รถส่องสว่าง จำนวน 1 คัน รถยก จำนวน 9 คัน รถซ่อมบำรุง จำนวน 10 คัน รถสนับสนุน จำนวน 1 คัน รถบรรทุกน้ำมัน จำนวน 1 คัน เรือท้องแบน จำนวน 10 ลำ และรถแพทย์พยาบาล จากโรงพยาบาลตากสิน เจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลกลาง รวมจำนวน 3 คัน พร้อมถุงยังชีพ จำนวน 13,500 ชุด โดยในเบื้องต้นส่งมอบถุงยังชีพ จำนวน 7,500 ชุด เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบภัย จากนั้นในวันที่ 4 พ.ย. 53 ได้ส่งถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยที่อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา อีกจำนวน 6,000 ชุด

เชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคเงินและสิ่งของผ่านกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีความยินดีที่จะสนับสนุนถุงยังชีพ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในจังหวัดต่างๆ โดยให้จังหวัด และองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ที่ประสบภัย ประสานขอรับการสนับสนุนถุงยังชีพจากกรุงเทพมหานครได้ที่ ศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤติโดยกรุงเทพมหานคร สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร. 0 2224 2958 โทรสาร 0 2224 4680
ขณะนี้กรุงเทพมหานครยังเปิดรับบริจาคสิ่งของช่วยผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคเงิน สิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ช่วยผู้ประสบอุทกภัยได้ที่ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) ศาลาว่าการกทม.2 (ดินแดง) และสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง ตั้งแต่เวลา 08.00–18.00 น. และรับบริจาคเงิน ผ่านบัญชี “กองทุนกรุงเทพมหานครช่วยเหลือผู้ประสบภัย ” บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนข้าวสาร เลขที่บัญชี 027-0-17081-2 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ ฝ่ายบรรเทาผู้ประสบภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. โทร. 0 2271 2162 หรือ สายด่วน กทม. โทร. 1555

เปิดรับบริจาคเครื่องกันหนาวช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มลดระดับลงบ้างแล้ว และเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวมีลมพัดแรง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะประชาชนในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางตอนบนที่อากาศเริ่มเย็นลง กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน จึงจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย ให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน รวมทั้งสั่งการให้ทุกหน่วยงาน รับบริจาคเงิน เครื่องนุ่งห่มกันหนาว และเครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ต่างๆ ด้วย โดยประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคได้ที่ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการกทม.2 (ดินแดง) รวมถึงสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่งทั่วกรุงเทพฯ

พร้อมดูแล 1,200 ครัวเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับความความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำขึ้น – น้ำลง มีประชาชนได้รับความเดือนร้อน 1,200 ครัวเรือน ทั้งชุมชนที่อยู่ในฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเอ่อล้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความเสียหายยังไม่รุนแรงมาก ซึ่ง กทม. ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือใน
เบื้องต้นด้วยการแจกถุงยังชีพ สนับสนุนกระสอบทราย อิฐบล็อก ส่วนเขตที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักงานเขตได้เข้าไปช่วยทำสะพานไม้ ต่อขาตู้และขาเตียง เป็นต้น ส่วนการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบทั้งบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขตสำรวจพื้นที่ และประเมินความเสียหาย เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือหรือจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบกฎหมายต่อไป

พร้อมรับมือ 13 พื้นที่จุดเสี่ยงริมเจ้าพระยาจากผลกระทบน้ำทะเลหนุนในกรุงเทพฯ 8 พ.ย.นี้
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งในช่วงวันที่ 8 พ.ย. 53 คาดว่าระดับน้ำจะต่ำกว่าเมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือไว้อย่างเต็มที่แล้ว อีกทั้งหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่จุดเสี่ยง 13 เขตริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร ได้จัดเตรียมสถานที่พักพิงชั่วคราวรองรับการอพยพของประชาชน ประกอบด้วย เขตบางซื่อ ได้แก่ โรงเรียนวัดสร้อยทอง โรงเรียนวัดบางโพ และโรงเรียนวัดมัชฌนติการาม เขตดุสิต ได้แก่ โรงเรียนวัดมหาธาตุ และโรงเรียนวัดโพธิ์ เขตสัมพันธวงศ์ ได้แก่ วัดจักรวรรดิ และ วัดสัมพันธวงศ์ เขตบางคอแหลม ได้แก่ ลานวัดบางโคล่นอก วัดอินทร์บรรจง และวัดจันทร์ใน เขตยานนาวา ได้แก่ วัดใหม่ช่องลม เขตบางพลัด ได้แก่ โรงเรียนวัดฉัตรแก้วจงกลนี เขตบางกอกน้อย ได้แก่ วัดสุวรรณาราม โรงเรียนวัดสุวรรณาราม โรงเรียนโฆษิตสโมสร โรงเรียนสตรีวัดระฆัง และโรงเรียนวัดดุสิตาราม เขตธนบุรี ได้แก่ โรงเรียนวัดกัลยาณมิตร และโรงเรียนวัดดาวคะนอง เขตคลองสาน ได้แก่ โรงเรียนวัดเศวตฉัตร เขตทวีวัฒนา ได้แก่ วัดปุรณาวาส เขตคลองเตย ได้แก่ วัดคลองเตยนอก และ เขตราษฎร์บูรณะ ได้แก่ วัดราษฎร์บูรณะ

เตรียมแผนเข้าฟื้นฟูหลังน้ำลด
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแผนฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ในเขตกรุงเทพฯ ด้วยว่า กรุงเทพมหานครจะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (BEST) และนักเรียนอาชีวะราว 300 คน ลงพื้นที่ใน 27 ชุมชน 13 เขตพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 53 เป็นต้นไป โดยจะใช้เวลาในการดำเนินการภายใน 1 เดือน ขณะนี้ได้สั่งการให้ ทั้ง 13 สำนักงานเขต ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายทั้งหมดเพื่อส่งข้อมูลให้ สอศ. ทั้งนี้ นอกจากการซ่อมแซมบ้านเรือน นักเรียนอาชีวะยังจะเข้าไปช่วย ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งในพื้นที่เกษตรกรรม ก็จะเข้าไปช่วยปลูกพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งแจกเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยหมักชีวภาพ ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น