ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ภารกิจยักษ์เพื่อการระบายน้ำอย่างยั่งยืนด้วย “อุโมงค์ยักษ์ 4 แห่ง”

ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ เร่งภารกิจ “กรุงเทพฯ ก้าวหน้า” สร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ครอบคลุมกรุงเทพฯ ให้รอดพ้นจมน้ำใน 5 ปีนับจากนี้ ภายใต้เงิน 1.6 หมื่นล้านบาท หากเสร็จจะเป็นอุโมงค์ที่ยาวและใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย เพิ่มการระบายน้ำมากกว่า 2 เท่า ด้วยความยาว 50 ก.ม. ระบายน้ำได้มหาศาลกว่า 240 ลบ.ม./วินาที

11 พ.ย. 53 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงความคืบหน้าภารกิจ “กรุงเทพฯ ก้าวหน้า” ด้านการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ด้วยระบบอุโมงค์ยักษ์ ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ปทุมวัน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เป็นภารกิจของกรุงเทพมหานครที่ต้องจัดการมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือแก้ไขตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การวางกระสอบทรายป้องกันน้ำทะลัก การขุดท่อระบายน้ำ การก่อสร้างคันกั้นน้ำ เป็นต้น แต่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เกิดด้วยระบบที่ดีพอ จึงเกิดปัญหาต้องแก้ไขทุกปี โดยระยะ 5 ปีที่ผ่านมา กทม. ต้องเสียงบประมาณในการจัดการปัญหาน้ำท่วมไปมากกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากการเสียงบประมาณมหาศาลนั้นก็ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากอย่างเป็นระบบที่ยั่งยืน อีกทั้งพื้นที่กรุงเทพบางส่วนอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลทำให้เป็นแอ่งกระทะ และอยู่ในเส้นทางน้ำไหลทางธรรมชาติสู่อ่าวไทย การพัฒนาที่ไม่เป็นระเบียบทำให้เกิดการปิดกั้นการไหลของน้ำได้ แผนการจัดการน้ำท่วมอย่างเป็นระบบที่ยั่งยืน “ระบบอุโมงค์ยักษ์” จึงเกิดขึ้น

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ชี้ว่า ระบบอุโมงค์ยักษ์มีการกำหนดไว้ 4 อุโมงค์ วางอยู่ใต้ดินที่มีขนาดและความยาวมากที่สุดเท่าที่เคยสร้างมาในประเทศไทย จะมีประสิทธิภาพระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 2 เท่าในอีก 5 ปีนับจากนี้ เมื่อนับรวมอุโมงค์ที่มีอยู่ 14 ก.ม.จะกลายเป็น 50 ก.ม. มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 เมตร สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ถึง 240 ลบ.ม./วินาที

สำหรับอุโมงค์ที่อยู่ในแผนนี้มีจำนวน 4 แห่ง คือ อุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง กำหนดเปิดใช้เดือน ม.ค. ปีหน้า สามารถระบายน้ำได้มากกว่า 60 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ความยาว 5 ก.ม. เริ่มที่คลองลาดพร้าวเชื่อมคลองแสนแสบไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์แห่งที่สอง คือ อุโมงค์ยักษ์รัชดาภิเษก-สุทธิสาร ได้สั่งการและอนุมัติให้ออกแบบแล้ว และผ่านการเห็นชอบ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายใน 4 ปี จะช่วยระบายน้ำในพื้นที่ห้วยขวาง ดินแดง จตุจักร พญาไท ดุสิต และบางซื่อ เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ความยาวเกือบ 6 ก.ม. แห่งที่สาม คือ อุโมงค์ยักษ์ดอนเมือง เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 ม. ยาว 13.5 ก.ม. ครอบคลุมพื้นที่ระบายน้ำกว่า 100 ตร.กม. รวมย่านจตุจักร หลักสี่ บางเขน ดอนเมือง และสายไหม ซึ่งได้สั่งการให้ออกแบบแล้ว และแห่งสุดท้าย คือ อุโมงค์ยักษ์สวนหลวง ร.๙ เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาว 9.5 ก.ม. เริ่มจากสวนหลวง ร.๙ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ 85 ตร.กม. ในเขตประเวศ พระโขนง บางนา และสวนหลวง

ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ กล่าวตอนท้ายว่า ภารกิจที่สำคัญภายใต้ “กรุงเทพฯ ก้าวหน้า” ด้วยการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางป้องกันปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน เพื่อความสุขของพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร เพียงระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้ และใช้งบประมาณเท่ากับการแก้ไขน้ำท่วมระยะ 5 ปีที่ผ่านมา คือ 1.6 หมื่นล้านบาท แต่ได้ประโยชน์ยั่งยืนมากกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น