สภากทม. ตื่นแก้กฎหมายใช้ที่ดิน-ก่อสร้าง รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประธานสภากทม.ปลุกทุกฝ่ายตื่นตัวรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วมรุนแรงยิ่งขึ้น ชี้ผลวิจัยหลายสำนักระบุตรงกัน กรุงเทพฯ เจอวิกฤติแน่ เร่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบพร้อมทบทวนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องการใช้ที่ดิน และการก่อสร้าง ระบุต้องมีกฎหมายกำหนดสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เสี่ยงพร้อมรับสถานการณ์
(22 พ.ย. 53) เวลา 10.30 น. นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ ประธานคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง นายอนันตชาติ บัวสุวรรณ์ รองประธานคณะกรรมการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร นำคณะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อการพัฒนาเมือง เพื่อทบทวนและผลักดันการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดินและการก่อสร้างให้รองรับภัยพิบัติซึ่งเป็นผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันหลายจังหวัดในประเทศไทย รวมทั้งกรุงเทพฯ ได้รับภัยพิบัติ ด้านอุทกภัยรุนแรงขึ้นทุกๆ ปี เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อันเนื่องมาจากผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และทุกครั้งเมื่อเกิดภัยนำมาซึ่งความสูญเสียจำนวนมาก ทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงงบประมาณจากทางภาครัฐและเอกชนที่ต้องทุ่มลงไปเพื่อให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูเยียวยาทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจเพื่อให้กลับสภาพสู่ปกติ ขณะเดียวกันผลการวิจัยของหลายองค์กรทั่วโลกชี้ชัดตรงกันว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ใน 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไปด้วยระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยที่เพิ่มสูงขึ้นปีละ 3 มม. และแผ่นดินกรุงเทพฯ จะทรุดลง ปีละ 15 มม.
“ทุกวันนี้เราพูดถึงการป้องกันน้ำท่วมหรือภัยพิบัติในแง่การดำเนินการสร้างระบบป้องกัน เฝ้าระวัง และการฟื้นฟูเยียวยาเท่านั้น แต่ยังไม่มีข้อบัญญัติ และกฎหมายใดๆ ที่ระบุถึงการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือการก่อสร้างต่างๆ ให้ต้องคำนึงถึงภัยพิบัติที่จะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้เลย ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ” นายสุทธิชัย กล่าวพร้อมทั้งย้ำว่า การมีกฎหมายใช้บังคับจะช่วยควบคุมและลดความสูญเสียได้ โดยเฉพาะพื้นที่ในจุดเสี่ยงจะต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ การขออนุญาตก่อสร้างหรือใช้ประโยชน์ที่ดินจะต้องอยู่ในเงื่อนไขด้านการป้องกันภัยพิบัติด้วย ตัวอย่างเช่น ชายทะเลบางขุนเทียนซึ่งมีปัญหาน้ำกัดเซาะ การก่อสร้างใดๆ อาจจะกำหนดให้ต้องทำใต้ถุนสูง โครงการบ้านจัดสรรบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำในกรุงเทพฯ จะต้องมีบึงรับน้ำ เป็นต้น
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า สภากรุงเทพมหานครในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติเห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทันรับกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยสภากรุงเทพมหานครจะจัดตั้ง “คณะกรรมการศึกษาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อการพัฒนาเมือง” เพื่อทบทวนและผลักดันการปรับปรุงข้อบัญญัติ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดินและการก่อสร้างให้รองรับภัยพิบัติ โครงสร้างคณะกรรมการฯจะประกอบด้วย คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากทม. ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งดึงผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาช่วยระดมความคิดเห็นด้วย ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 90-120 วัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น