ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กทม. จัดงานใหญ่และเปิดสวนทั่วกรุงให้ลอยกระทง พร้อมดูแลความปลอดภัยทั้งทางบก-น้ำ

กทม. จัดงาน “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทงกรุงเทพมหานคร” ใต้สะพานพระราม 8 พร้อมเปิดสวน 22 แห่ง ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ขณะเตรียมพร้อมดูแลให้ชาวกรุงลอยกระทงอย่างปลอดภัย
(15 พ.ย. 53) เวลา 10.00 น. นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารกทม. ตรวจความพร้อมและความมั่นคงแข็งแรงท่าเทียบเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา และนำชมการสาธิตการฝึกซ้อมดูแลรักษาความปลอดภัยและการช่วยชีวิตประชาชนทางน้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในงานลอยกระทง ซึ่งมีนายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกกรุงเทพมหานคร เป็นผู้นำการสาธิต พร้อมทั้งแถลงข่าวการจัดงาน “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทงกรุงเทพมหานคร” ณ ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เขตบางพลัด

จัดมหกรรมสีสันแห่งสายน้ำ พร้อมเปิด 22 สวนให้ประชาชนร่วมลอยกระทง
กรุงเทพมหานครกำหนดจัดงาน “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทงกรุงเทพมหานคร” ในวันที่ 21 พ.ย. 53 ขึ้น ณ บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เขตบางพลัด เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง สัมผัสบรรยากาศพิเศษสุดของงานลอยกระทงในแบบฉบับกรุงรัตนโกสินทร์ อิ่มอร่อยกับอาหารนานาชนิด ชมขบวนเรือประดับไฟฟ้าในมุมมองที่ดีที่สุด ดื่มด่ำกับการแสดงศิลปวัฒนธรรม บรรยากาศตลาดย้อนยุค พร้อมร่วมชมกิจกรรมต่างๆ มากมายได้ฟรี ทั้งการประกวดนางนพมาศ การประกวดประดิษฐ์กระทงประเภทต่างๆ และความบันเทิงบนเวที นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้เปิดสวนสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปลอยกระทงอีก 22 แห่ง ได้แก่ สวนลุมพินี สวนจตุจักร สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) สวนพระนคร สวนสราญรมย์ สวนรมณีนาถ สวนสันติชัยปราการ สวนธนบุรีรมย์ สวนเสรีไทย (บึงกุ่ม) สวนหนองจอก อุทยานเบญจสิริ สวนน้ำบึงกระเทียม สวนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ฝั่งพระนคร สวนสันติภาพ สวนกีฬารามอินทรา สวมรมณีย์ทุ่งสีกัน สวนทวีวนารมย์ สวนเบญจกิติ สวน 50 พรรษามหาจักรีสิรินธร สวน 60 พรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สวนวนธรรม และสวนนวมินทร์ภิรมย์ เขตบึงกุ่ม โดยในวันที่ 21 พ.ย. จะเปิดตั้งแต่เวลา 15.00-24.00 น. ทั้งนี้ทางสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตจะเร่งจัดเก็บกระทงในแม่น้ำ คูคลอง และสถานที่จัดงานต่างๆ ให้เสร็จก่อนเช้าวันรุ่งขึ้น
ตรวจความมั่นคงแข็งแรงพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตท่าเทียบเรือและโป๊ะริมแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับช่วงก่อนเทศกาลลอยกระทงในปีนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารได้ตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของท่าเทียบเรือ และโป๊ะต่างๆ พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง ท่าเรือ สะพานพุทธฯ เขตพระนคร ท่าน้ำราชวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ ท่าสี่พระยา เขตบางรัก ท่าเรือวัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ ท่าพรานนก เขตบางกอกน้อย และท่าเรือสะพานพระราม 8 เขตบางพลัด โดยก่อนหน้านี้ได้สั่งการสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ที่จะจัดงานวันลอยกระทงให้สำรวจตรวจสอบความแข็งแรงของโป๊ะ ท่าเทียบเรือ ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา และคู คลองต่างๆ ให้มีความปลอดภัยก่อนถึงวันลอยกระทง หากไม่แข็งแรงให้เร่งซ่อมแซมทันที ตรวจสอบซ่อมแซมกล้องวงจรปิด CCTV บริเวณท่าเทียบเรือและโป๊ะที่มีการจัดงาน สำนักการโยธา ตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่างและผิวจราจรทางเข้า-ออกให้พร้อมใช้งาน ทั้งนี้จากการตรวจสอบท่าเทียบเรือและโป๊ะที่มีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 275 ท่า แบ่งเป็นท่าริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 132 ท่า พบว่าพร้อมใช้งาน 128 ท่า มีท่าที่ชำรุด 4 ท่า ได้แก่ ท่าหน้าวัดกัลยาณมิตร ท่าวัดกลางดาวคะนอง ท่าข้างสะพานพระราม 7 และท่าเรือสี่ตาหลังซอยเจริญกรุง 64 และท่าเทียบเรือในคลองต่างๆ ทั้งหมดจำนวน 143 ท่า ชำรุด 1 ท่า ได้แก่ ท่าคลองบางกอกใหญ่ (วัดกัลยาณมิตร)

ส่งทีมป้องกันภัยและหน่วยแพทย์ประจำจุดเสี่ยง
ในส่วนการดูแลความปลอดภัยการลอยกระทงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้สั่งการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) โดยจัดเรือตรวจการณ์ตระเวนดูแลความปลอดภัยและคอยช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินตลอดคืน แบ่งพื้นที่ปฏิบัติการเป็น 3 โซน ได้แก่ โซน1 ช่วงสะพานพระราม 7 - สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โซน 2 ช่วงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า-สะพานพระราม 9 และโซน 3 ช่วงสะพานพระราม9 - สะพานภูมิพล (วงแหวนอุตสาหกรรม) ทั้ง 3 โซน สปภ. จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจและจัดเจ้าหน้าที่พร้อมประจำจุดเสี่ยงที่กำหนดเพื่อเข้าช่วยเหลือระงับเหตุได้ทันที ขณะเดียวกันสำนักการแพทย์ (สนพ.) เตรียมพร้อมบุคลากรโรงพยาบาลพร้อมรักษาประจำ 3 โซน ได้แก่ วชิระพยาบาลดูแลโซน 1 รพ.ตากสินดูแลโซน 2 และรพ.เจริญกรุงประชารักษ์ดูแลโซน 3 จัดเตรียมรถพยาบาล 150 คัน ประจำจุดต่างๆ และหน่วยกู้ชีพศูนย์เอราวัณประสานงานส่งต่อผู้ป่วยเหตุฉุกเฉิน ผ่านสายด่วน 1646
พร้อมกันนี้ยังได้จัดเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศกิจ และ อปพร. พร้อมยาและชุดปฐมพยาบาล ประจำจุดดูแลท่าเทียบเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และท่าเทียบเรือในลำคลอง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อควรระวังและข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของประชาชนด้วย

จัดตั้งส่วนหน้าฯ 5 จุด พร้อมให้ความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ออกคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยช่วงเทศกาลวันลอยกระทง ประจำปี 2553 ที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถ.พระรามที่ 6 เขตราชเทวี พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ฯ ในระดับเขต โดยในวันลอยกระทงจะจัดตั้งเต็นท์กองอำนวยการร่วมส่วนหน้าจำนวน 5 จุด เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนและระงับเหตุทันที ตลอด 24 ชม. จุดที่ 1 บริเวณเชิงสะพานพระราม 8 จุดที่ 2 บริเวณเชิงสะพานพระราม 9 เขตราษฎร์บูรณะ จุดที่ 3 บริเวณสวนสันติชัยปราการ เขตพระนคร จุดที่ 4 บริเวณสวนลุมพินี เขตปทุมวัน และจุดที่ 5 บริเวณริมบึงลำพังพวย เขตบึงกุ่ม

คุมเข้มการผลิต จำหน่าย และเล่นดอกไม้เพลิง-โคมลอย
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนป้องกันอันตรายจากการผลิต สะสม จำหน่าย และการเล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอย โดยประชาสัมพันธ์เตือนผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอย ให้รับทราบถึงอันตรายของดอกไม้เพลิงและโคมลอยตลอดจนบทลงโทษตามกฎหมาย พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่สำนักอนามัยประสานงานร่วมกับกับตำรวจนครบาลลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตดอกไม้ไฟที่มีใบอนุญาต ดูการจัดเก็บ และร้านค้าที่จัดจำหน่ายอีกด้วย ซึ่งหากประชาชนพบเห็นเหตุด่วน เหตุร้าย สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนกทม. 1555 หรือศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ในพื้นที่ ทั้ง 5 จุด หรือพื้นที่จัดงานทั้ง 50 เขต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น