เชิญชวนคนกรุงเทพฯ ร่วมแสดงความคิดเห็น ปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่..) พ.ศ....
กทม.ชวนคนกรุงเทพฯ ร่วมแสดงความเห็นปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร แก้ปัญหาบทบัญญัติที่ล้าสมัย เพิ่มกลไก บทบาท และอำนาจหน้าที่แก่ กทม. ให้บริหารราชการได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เปิดรับความเห็นแล้วตั้งแต่บัดนี้ - 27 ม.ค.54
(19 พ.ย.53) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวการรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่..) พ.ศ.... โดยมีนายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และ รศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)
เหตุพ.ร.บ.เดิมล้าสมัย ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ที่บังคับใช้มานานกว่า 25 ปีแล้ว จึงมีบทบัญญัติบางประการไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับหลักการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ซึ่งได้บัญญัติขึ้นภายหลัง ทำให้การจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนไม่คล่องตัว และการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถแก้ไขปัญหาและให้บริการประชาชนได้อย่างดีที่สุด พร้อมทั้งขับเคลื่อนองค์กรให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง และเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ทรงความรู้ความสามารถทั้งด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และด้านการปกครองท้องถิ่น โดยมีศาตราจารย์จรัส สุวรรณมาลา เป็นประธานกรรมการ และได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง พร้อมยกร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่..) พ.ศ.... เสร็จเรียบร้อยแล้ว
เผย 10 ประเด็นสำคัญแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
สำหรับประเด็นสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมของร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่..) พ.ศ.... ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 ปรับปรุงการบริหารราชการของกรุงเทพมหานครบนพื้นฐานการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ด้วยการให้บริการที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนเป็นสำคัญ ประเด็นที่ 2 ปรับปรุงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครตามหลักการกระจายอำนาจ โดยมุ่งให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่กรุงเทพฯ มากขึ้น ประเด็นที่ 3 เพิ่มบทบาทของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการบริหารราชการเมืองด้วยความโปร่งใส โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องแถลงนโยบายและชี้แจงการดำเนินงานตามนโยบายต่อสภากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเข้าปฏิบัติงาน เพื่อให้สภากรุงเทพมหานครและประชาชนตรวจสอบติดตามการทำงานตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้อย่างเป็นระบบ และมีกฎหมายรองรับ ประเด็นที่ 4 เพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติราชการของสำนักงานเขตและสภาเขต โดยกำหนดให้สำนักงานเขตเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสภาเขตทำหน้าที่ให้ข้อแนะนำการจัดทำแผนพัฒนาเขตและเสนอร่างข้อบัญญัติ กทม. ที่มีความจำเป็น ประเด็นที่ 5 ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับสภากรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง การประชุม การยุบสภา รวมทั้งปรับการบริหารสภากรุงเทพมหานคร โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความมีคุณธรรม จริยธรรม ในระดับสากลเช่นเดียวกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม
ประเด็นที่ 6 ตั้งองค์กรเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ โดยให้อำนาจกรุงเทพมหานครตั้งองค์กรในรูปแบบบริษัทจำกัด วิสาหกิจ สหการ บรรษัทบริหาร และองค์การมหาชน เพื่อให้สามารถจัดทำบริการสาธารณะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างคล่องตัว และรวดเร็วยิ่งขึ้น ประเด็นที่ 7 เพิ่มแหล่งรายได้ โดยให้กรุงเทพมหานครสามารถจัดตั้งองค์การมหาชนให้เอกชนจัดบริการสาธารณะหรือจัดตั้งบรรษัทได้ ประเด็นที่ 8 การบริหารภายในมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมได้เพิ่มขึ้น เช่น น้ำมัน ยาสูบ ค่าธรรมเนียมสนามบิน ค่าธรรมเนียมจากผู้พักในโรงแรม ประเด็นที่ 9 กทม.กับรัฐบาล โดยปรับระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับ กทม. ให้สอดคล้องกับหลักการปกครองและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลเท่าที่จำเป็น เพื่อตรวจสอบความชอบของการกระทำของกรุงเทพมหานคร และประเด็นที่ 10 กทม.กับท้องถิ่นอื่น โดยเพิ่มกลไกให้ กทม.สามารถจัดทำบริการสาธารณะนอกเขตได้ เพื่อนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดในการจัดทำบริการสาธารณะ ในกรณีพื้นที่หรือภารกิจเกี่ยวเนื่องกัน ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานของท้องถิ่นอื่นได้ตามความเหมาะสม
จัดสัมมนาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 287 กำหนดให้ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิ มีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานครจึงร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่..) พ.ศ.... ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ย.53 – 27 ม.ค.54 จำนวน 13 ครั้ง โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้แทนพรรคการเมือง ผู้แทนจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่และการบริหารงานของกรุงเทพมหานคร กลุ่มประชาชนจาก 6 กลุ่มเขต ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ นักวิชาการ สื่อมวลชน และกลุ่มบุคคลทั่วไป เพื่อนำข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะและความต้องการของประชาชนภาคส่วนต่างๆ มาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนารับฟังความคิดเห็นสามารถสำรองที่นั่งได้ที่ กองระบบงาน สำนักงาน ก.ก. โทร.0 2226 3726, 0 2226 3745 หรือสายด่วน กทม. โทร.1555 นอกจากนี้ยังร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 27 ม.ค.54 ผ่านทางเว็บไซต์ www.bangkok.go.th/pollkk หรือ www.lawamendment.go.th และทาง E-mail : poll_bma@hotmail.com หรือทำหนังสือส่งความคิดเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สกก.) เลขที่ 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น