ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เปิดศึกชิงชัยกีฬานักเรียนกทม. ครั้งที่ 24 “ช้างน้อยเกมส์”

เปิดศึกชิงชัยกีฬานักเรียนกทม. ครั้งที่ 24 “ช้างน้อยเกมส์”

กทม. เปิดการแข่งขันกีฬานักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร “ช้างน้อยเกมส์” โดยนักกีฬากว่า 9,000 ชีวิต จาก 436 โรงเรียน ร่วมชิงชัย ใน 19 ชนิดกีฬา ภายใต้คำขวัญ “เสริมพลานามัย สร้างน้ำใจนักกีฬา พัฒนาเยาวชนคนกรุงเทพ” ร่วมให้กำลังใจนักกีฬาได้ถึง 30 พ.ย. นี้ ที่สนามกีฬาศูนย์เยาวชนฯ และสนามกีฬามาตรฐานในกทม. พร้อมหาตัวแทนเสริมทัพนักกีฬา เพื่อร่วมแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อุดรธานีต้นปีหน้า

(25 พ.ย. 53) นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬานักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 24 ปีการศึกษา 2553 หรือ“ช้างน้อยเกมส์” โดยมีนายอรรถพร สุวัธนเดชา ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา พร้อมด้วยผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน คณะเจ้าหน้าที่ คณะนักกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย–ญี่ปุ่น) ดินแดง

การแข่งขันกีฬานักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เริ่มจัดการแข่งขันขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521 และได้ดำเนินการแข่งขันต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นครั้งที่ 24 โดยใช้ชื่อการแข่งขันว่า “ช้างน้อยเกมส์” โดยในปีนี้มีคำขวัญในการแข่งขันว่า “เสริมพลานามัย สร้างน้ำใจนักกีฬา พัฒนาเยาวชนคนกรุงเทพ” และมีนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 436 โรงเรียน เข้าร่วมการแข่งขันประมาณ 9,000 คน รวมทั้งหมด 19 ชนิดกีฬา ซึ่งการแข่งขันกีฬาเป็นส่งเสริมให้นักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร มีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ สุขภาพดี มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้กฎกติกา มารยาทของการเป็นนักกีฬาตลอดจนการเป็นผู้ชมกีฬาที่ดี และรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งเพื่อคัดตัวนักกีฬาที่มีความสามารถสูงสุด เป็นตัวแทนกรุงเทพมหานครในการแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ ครั้งที่ 28 ซึ่งจะจัดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี ในเดือน ม.ค. 54

สำหรับชนิดกีฬาที่ใช้แข่งขันภาคบังคับ ประกอบด้วย 15 ชนิดกีฬา ได้แก่ ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล เทเบิลเทนนิส เปตอง เซปักตะกร้อ ว่ายน้ำ แบดมินตัน กรีฑา ยิมนาสติกลีลา ลีลาศ กอล์ฟ วอลเลย์บอลชายหาด เทควันโด และกีฬาสาธิต 4 ชนิดกีฬา ได้แก่ มวยไทยสมัครเล่น ฟุตบอลหญิง ฟุตซอลหญิง และหมากกระดาน โดยใช้มาตรฐานการตัดสินเช่นเดียวกับกีฬาสากลโอลิมปิค ด้านสนามที่ใช้ในการแข่งขันมีทั้งหมด 10 สนาม ประกอบด้วยศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ศูนย์กีฬาเยาวชนเฉลิมพระเกียรติ ทุ่งครุ ศูนย์กีฬาประชานิเวศน์ ศูนย์กีฬา 72 พรรษา มีนบุรี ศูนย์กีฬาวชิรเบญทัศ ศูนย์กีฬาประชานิเวศน์ สนามกอล์ฟกองทัพบก โรงเรียนวัดดอกไม้ เขตยานนาวา โรงเรียนวิชากร โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง และสโมสรจินตนายิม

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมการแข่งขันกีฬานักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งร่วมชม ร่วมเชียร์ และให้กำลังใจนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันได้ตามกำหนดการแข่งขัน ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง และสนามกีฬาในสังกัดกรุงเทพมหานคร หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักการศึกษาโทร. 0 2437 6631–5 ต่อ 3469, 3430 หรือ www.bangkokedu.in.th ส่วนพิธีปิดการแข่งขันจะจัดขึ้นวันที่ 30 พ.ย. 53 ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้มีการแข่งขันกีฬาทุกระดับ ตั้งแต่วัยเด็กเล็กจนถึงวัยสูงอายุ เนื่องจากการแข่งขันกีฬาเป็นการพัฒนาคนให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม อีกทั้งกีฬาฝึกให้เยาวชน มีจิตใจอดทน เข้มแข็ง กล้าหาญ มีน้ำใจนักกีฬา สร้างสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง เสริมสร้างสมรรถภาพร่างกาย และจิตใจที่ดี ก่อให้เกิดความรัก ในหมู่เพื่อน เกิดการทำงานเป็นทีม เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ มีความสมานฉันท์ อยู่ในระเบียบวินัย ซึ่งเด็กและเยาวชนจะต้องได้รับการฝึกฝนให้เข้าร่วมการแข่งขันด้วยความสมารถ บริสุทธิ์ ยุติธรรม ด้วยเทคนิคของการกีฬา เมื่อเติบโตขึ้นจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดี สามารถสร้างประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น