ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เอกชนสนับสนุนพื้นที่จัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย

กทม. เยียวยาผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ร่วมมือเอกชนจัดสถานที่ค้าขายรองรับผู้ค้า ย่านสยามสแควร์ จตุจักร พระนคร กว่า 2,000 รายให้มีที่ค้าขายถาวร พร้อมส่งเสริมการขายให้ติดตลาด เป็นแหล่งช้อปปิ้งแห่งใหม่ ขณะเดียวกันสั่งการเทศกิจ 50 เขตสำรวจผู้ค้านอกจุดและเขตกวดขันพิเศษให้แล้วเสร็จสิ้น พ.ย. นี้ เตรียมบังคับใช้กฎหมายและเดินหน้าจัดระเบียบเมืองต่อไป
(18 พ.ย. 53) เวลา 09.00 น. ณ ห้องสุทัศน์ กทม. : ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยนอกจุดผ่อนผัน และมาตรการเยียวยาผู้ค้าของกรุงเทพมหานคร โดยมี นายทวีศักดิ์ เดชเดโช รองปลัดกรุงเทพมหานคร พ.ต.อ.สวัสดิ์ จำปาศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอรุณ ศรีจรูญ ผู้อำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานเขตปทุมวัน เขตพระนคร เขตจตุจักร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และบริษัท นวลจันทร์ออโต้ จำกัด ร่วมประชุม
ทั้งนี้ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการเยียวยาผู้ค้าบริเวณสยามสแควร์ จากกรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอคืนพื้นที่เพื่อจัดระเบียบและปรับปรุงทางเท้าโดยรอบสยามสแควร์ รวมไปถึงผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน และจุดกวดขันพิเศษ 5 ประเภท ได้แก่ ผู้ค้าที่ตั้งวางสินค้าบริเวณศาลาที่พักผู้โดยสาร ตู้โทรศัพท์สาธารณะ ทางขึ้น-ลงสะพานลอย สี่แยกไฟแดง และทางข้ามทางม้าลาย ซึ่งกีดขวางทางเท้าและการจราจรในพื้นที่เขตปทุมวัน พระนคร และจตุจักร ซึ่งมีจำนวนกว่า 2,000 แผงค้า โดยบริษัท นวลจันทร์ออโต้ จำกัด เจ้าของอาคารจตุจักรสแควร์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับตลาดนัดสวนจตุจักร ด้าน ถ.กำแพงเพชร เสนอพื้นที่ช่วยเหลือผู้ค้าตามนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้แก่ อาคาร 1 ซึ่งให้ผู้ค้าเข้าไปตั้งวางสินค้าโดยไม่เก็บค่าเช่าเป็นเวลา 3 เดือน และอาคาร 2 ให้ใช้พื้นที่โดยไม่เก็บค่าเช่าเป็นเวลา 1 ปี แต่จะคิดค่าน้ำและค่าไฟวันละ 100 บาท โดยทั้ง 2 อาคารสามารถรองรับแผงค้าขนาด 4 ตารางเมตร รวมกว่า 2,000 แผงค้า
รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า หากผู้ค้าในพื้นที่สยามสแควร์และผู้ค้านอกจุดผ่อนผันให้ความร่วมมือในการย้ายเข้าไปทำการค้าในอาคารจตุจักรสแควร์ กทม. จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชนให้เข้ามาเลือกซื้อสินค้า อาทิ การจัดมหกรรมสินค้าราคาถูกและสินค้าจากผู้ประกอบการรายใหญ่เพื่อดึงดูดผู้บริโภค พร้อมทั้งกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนรู้จักตลาดนัดแห่งใหม่มากขึ้น นอกจากนี้กทม. จะเชิญธนาคารออมสินร่วมปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นเงินลงทุน และหมุนเวียนในกิจการด้วย อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนจุดค้าขายอาจทำให้ผู้ค้าไม่ได้รับความสะดวกสบายในช่วงเริ่มต้น แต่กทม.ต้องการช่วยเหลือและหาทางออกให้ผู้ค้ามีที่ทำกิน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องพื้นที่ค้าขายอีกต่อไป ดังนั้นขอได้โปรดอย่าปิดกั้นโอกาสของตนเอง อีกทั้งหากโครงการจัดระเบียบผู้ค้าครั้งนี้สำเร็จ ยังมีเอกชนอีกหลายรายที่พร้อมจะสนับสนุนพื้นที่และการประชาสัมพันธ์เพื่อช่วยเหลือผู้ค้าในจุดอื่นๆ และจัดระเบียบกรุงเทพมหานครด้วย
รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวด้วยว่า ได้ผ่อนผันให้ผู้ค้าขายสินค้านอกจุดผ่อนผันเกือบ 2 ปีแล้ว เนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้สภาวะดังกล่าวเริ่มดีขึ้น ขณะเดียวกันกทม. ต้องการจัดระเบียบเมืองให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้งใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับ เช่น จัดเก็บค่าธรรมเนียมรักษาความสะอาดแผงค้า พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ซึ่งจุดผ่อนผัน ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายเดือนๆ ละประมาณ 2,100 บาทต่อครั้ง และนอกจุดผ่อนผันจะต้องเสียค่าธรรมเนียมมากว่า ทั้งนี้ตนเองได้สั่งการเร่งด่วนให้ 50 สำนักงานเขตสำรวจจุดกวดขันพิเศษในพื้นที่ในแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. นี้ เพื่อเดินหน้าจัดระเบียบผู้ค้าตามนโยบายของกรุงเทพมหานครต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น