สภากทม. ดึงบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติจากธรรมชาติระดับโลกประเทศญี่ปุ่นให้ความรู้กับหน่วยงานกทม. และภาคเอกชน ชี้เซ็นต์ MOU ไทยได้ประโยชน์เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกระตุ้นทุกภาคส่วนตื่นตัวเตรียมแผนป้องกันและมาตราการรับมือภัยธรรมชาติในอนาคต แนะสร้างภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน
(16 ก.ย. 54) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือการป้องกันภัยพิบัติ ระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ กับ บริษัท Miyamoto International (ประเทศญี่ปุ่น) ผู้เชี่ยวชาญในการป้องกันภัยธรรมชาติและเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลมากกว่า 7ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้บริหารจากสำนักระบายน้ำ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการโยธา กทม. พร้อมหน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมพิธี พร้อมกันนี้ภายในงานได้มีการบรรยายพิเศษโดยผู้เชี่ยวชาญด้านแผนป้องกันภัยพิบัติและภัยธรรมชาติที่มีประสบการณ์มากว่า 15 ประเทศ ในหัวข้อ “การป้องกันเมืองให้พ้นจากเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ” ณ ห้อง Governor แปซิฟิคซิตี้คลับ ชั้น 28 อาคารทูแปซิฟิคเพลส เขตคลองเตย
มั่นใจลงนาม MOU นำมาสู่แก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่มวลมนุษยชาติอย่างมหาศาล อาทิ เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ ในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งพายุไต้ฝุ่น สถานการณ์น้ำท่วมและโคลนถล่มในหลายประเทศ สาเหตุเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของภาวะโลกร้อน ซึ่งภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติเหล่านี้สร้างความหวาดกลัวและไม่มีความแน่นอนในเรื่องความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตแก่ประชาชนในหลายประเทศทั่วโลกทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาตลอด ซึ่งในแต่ละปีได้จัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาและวางนโยบายแผนระยะสั้นและระยะยาวเพื่อป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติ
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มว่า ในฐานะที่สภากรุงเทพมหานครเป็นองค์กรนิติบัญญัติของกรุงเทพมหานครซึ่งมีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และส่งเสริมการดำเนินงานตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพิจารณาออกข้อบัญญัติต่างๆเพื่อให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้บริษัท Miyamoto International ถือได้ว่ามีความเชี่ยวชาญด้านการป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติ โดยสภากรุงเทพมหานครเล็งเห็นถึงประโยชน์ต่อหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน ซึ่งการลงนามครั้งนี้จะนำมาสู่ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐด้วย ทั้งจะเป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีการตื่นตัวในแผนป้องกันและปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อม หากเกิดสถานการณ์ขึ้นในอนาคต ซึ่งประโยชน์ที่ได้จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและรู้เท่าทันเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่เกิดจากภัยธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการที่ได้หน่วยงานจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาและมีประสบการณ์ตรงในการวางแผนเพื่อป้องกันภัยธรรมชาติมาร่วมสนับสนุนจะเป็นประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานคร
แนะสร้างภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติ
“จากสถานการณ์น้ำท่วมในต่างจังหวัดและในพื้นที่กรุงเทพมหานครในขณะนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาและต้องมีแผนการป้องกันอย่างยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนแก้มลิง การสร้างอุโมงค์ยักษ์เพื่อระบายน้ำ รวมทั้งโครงสร้างอาคารและที่อยู่อาศัยของประชาชนที่จะต้องมีความแข็งแรงและทนทานต่อภัยพิบัติธรรมชาติ ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อหาทางป้องกันและเตรียมแผนป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติอย่างยั่งยืน”นายสุทธิชัย กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น