ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รุกแผนจัดระเบียบตู้โทรศัพท์และป้ายผิดกฎหมาย

กทม. ประชุมคณะทำงานจัดระเบียบป้ายและตู้โทรศัพท์ผิดกฎหมายต่อเนื่อง ประสานทีโอทีเจ้าของตู้โทรศัพท์เร่งรื้อตู้หมดสัมปทานกว่า 10,000 ตู้ รวมถึงดำเนินการกับป้ายโฆษณาบนตู้โทรศัพท์ ป้ายขนาดใหญ่ผิดกฎหมาย ป้ายบอกทางขนาดเล็กเลียนแบบป้ายราชการ ป้ายสีซีดจาง และป้ายสนับสนุนของเอกชน

(19 ก.ย. 54) ที่ศาลาว่าการกทม. เวลา 14.30 น. : ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดระเบียบป้ายโฆษณาและตู้โทรศัพท์ที่ผิดกฎหมาย ว่า กทม. ได้เร่งรัดให้เจ้าของตู้โทรศัพท์ดำเนินการรื้อถอนตู้โทรศัพท์ในที่สาธารณะซึ่งหมดสัมปทาน จำนวนกว่า 10,000 ตู้ โดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT แจ้งว่า จะรื้อถอนให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. 55 แต่กทม. ขอให้ปรับแผนดำเนินการและรื้อถอนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันหลังหมดอายุสัมปทานหรือประมาณเดือน พ.ย. 54 ซึ่งในวันพุธนี้ (21 ก.ย. 54) ตนเองและสำนักเทศกิจจะลงพื้นที่เพื่อติดป้ายสัญลักษณ์ตู้โทรศัพท์หมดสัมปทาน เพื่อเร่งรัดให้เจ้าของตู้โทรศัพท์ดำเนินการรื้อถอนโดยเร็วที่สุด อีกทั้งในส่วนของตู้โทรศัพท์ที่มีป้ายโฆษณาติดตั้งบนผนังตู้โทรศัพท์ซึ่งถือว่าเป็นป้ายโฆษณาที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงตู้โทรศัพท์ที่มีข้อความอักษรวิ่งประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ บนตู้โทรศัพท์ จะมีการหารือร่วมกับเจ้าของตู้โทรศัพท์เพื่อให้ดำเนินการรื้อถอนป้ายโฆษณาและตู้โทรศัพท์ที่ปฏิบัติผิดหลักเกณฑ์การอนุญาตติดตั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะในที่สาธารณะต่อไป

ในส่วนของการจัดระเบียบป้ายในที่สาธารณะ อาทิ โฆษณาขนาดใหญ่ที่ผิดกฎหมายซึ่งมีจำนวน 136 ป้าย กทม. ได้สั่งการให้สำนักงานเขตเร่งรัดเจ้าของป้ายดำเนินการรื้อถอนป้ายเอง หากไม่ดำเนินการให้ภายในกำหนด กทม.ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตเตรียมแผนดำเนินการรื้อถอนป้ายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว นอกจากนี้ยังมีป้ายขนาดเล็กซึ่งเอกชนจัดทำขึ้นเลียนแบบเครื่องหมายจราจรของกทม. รวมทั้งสิ้น 2,384 ป้าย เช่น ป้ายบอกสถานที่และบอกตำแหน่ง ได้มอบหมายให้สำนักเทศกิจและสำนักการจราจรและขนส่งพิจารณาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม แต่หากเป็นป้ายบอกสถานบริการต่างๆ จะดำเนินการรื้อถอนทั้งหมด อีกทั้งปรับปรุงป้ายเครื่องหมายจราจรสีซีดจางกว่า 30,000 ป้าย และป้ายขีดเขียน (Graffiti)ในหลายพื้นที่จะดำเนินการปรับปรุงและทาสีให้กลับมาสวยงามดังเดิม

สำหรับกรณีป้ายเอกชนสนับสนุนตำรวจท้องที่ เช่น สถานีตำรวจ ป้ายขอให้แจ้งเบาะแสการก่ออาชญากรรม หรือขอความช่วยเหลือของสถานีตำรวจ ตลอดจนป้ายที่ติดตั้งบนป้อมตำรวจตามแยกต่างๆ นั้น กทม. จะหารือร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บ.ชน.) ในโอกาสต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น