ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

หลายหน่วยงานร่วมเสวนาผลักดันการเดินและการใช้จักรยาน

(18 ก.ย. 54) ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เวลา 10.00 น. : ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการเสวนาผลักดันการเดินและการใชัจักรยานชูนโยบายสาธารณะประเทศไทย ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา สำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง (สนข.) กรมโยธาธิการและผังเมือง และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและระดมความคิดเกี่ยวกับการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานสู่นโยบายสาธารณะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการขนส่ง การแก้ไขปัญหาจราจร การผังเมือง และมุมมองจากนักวิชาการ มาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย แผนงาน และโครงการ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงและพัฒนาทางเดินและทางจักรยาน รวมถึงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ให้เป็นวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทย

รองผู้ว่าฯ ธีระชน กล่าวว่า ปัญหาแรกที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้กทม. แก้ไข คือ ปัญหาการจราจร ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันกทม. ไม่สามารถขยายผิวการจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากปริมาณรถยนต์จะสร้างความแออัดบนผิวจราจรแล้ว ยังสร้างมลภาวะทางอากาศ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก และภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตามกทม. ได้รณรงค์ให้ประชาชนใช้การเดินในระยะสั้นๆ การใช้จักรยาน รวมถึงระบบขนส่งมวลชนอย่างต่อเนื่อง โดยจัดกิจกรรมร่วมมือกับองค์กรทุกภาคส่วน ซึ่งจากการจัดกิจกรรม Car Free Day โดยเชิญชวนประชาชนร่วมขี่จักรยานลดการใช้พลังงาน ณ ท้องสนามหลวงในวันนี้ (18 ก.ย. 54) ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 6,300คน ทั้งนี้กทม. จะหารือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลในการจัดเส้นทางจักรยานเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ผู้ขับขี่จักรยานได้สัญจรอย่างปลอดภัยและส่งเสริมให้ประชาชนหันมาให้การเดินทางทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มต้นในวันอาทิตย์และจัดเส้นทางจักรยานบนถนนบางช่วงและบางเส้นทางแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงจะกระตุ้นให้กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยหันมาใช้จักรยานเดินทางภายในมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นนโยบายสาธารณะไม่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้นแต่รวมถึงเมืองใหญ่ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

ด้านนายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและโฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ประชาชนไม่นิยมใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เนื่องจากอันตรายจากท้องถนน สภาพอากาศ การแต่งกายไม่เหมาะสมกับการขี่จักรยาน อีกทั้งมีสัมภาระและเอกสารเป็นจำนวนมาก เป็นต้น อย่างไรก็ตามกทม. ยังต้องเดินหน้าสร้างกิจกรรมเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้จักรยานในการสัญจร ซึ่งหากครัวเรือนมีจักรยานไว้ประจำบ้านถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่ง และเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกต้องการช่วยโลก เพื่อสุขภาพ และประหยัดเงิน ขณะเดียวกันกทม. พยามยามกระตุ้นกลุ่มวัยรุ่นให้หันมาใช้จักรยานฟิกเกียร์ ซึ่งเป็นที่นิยมของวัยรุ่นในปัจจุบัน รวมถึงจักรยานในรูปแบบต่างๆ เพื่อแสวงหาผู้ร่วมอุดมการณ์ และเป็นแบบอย่างให้เยาวชนทุกกลุ่มและประชาชนหันมาสนใจการขี่จักรยานมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น