ยึดหลักดำเนินการตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกและแผนยุทธศาตร์ควบคุมวัณโรคแห่งชาติ อย่างเป็นระบบและได้มาตรฐาน ตั้งเป้าขจัดวัณโรคได้อย่างยั่งยืน หลุดพ้นจาก 1 ใน 22 ประเทศที่มีอัตราการป่วยด้วยวัณโรคมากที่สุดในโลก
(27 ก.ย. 54) พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “การประสานความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมวัณโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” และมอบโล่เกียรติคุณแสดงความขอบคุณเครือข่ายและแนวร่วมดำเนินงานด้านการควบคุมวัณโรคอย่างเข้มข้น ให้มีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป็นระบบและมีมาตรฐานเดียวกัน โดยมีผู้บริหาร ผู้แทน ผู้ประสานงานวัณโรคจากโรงพยาบาลภาครัฐ ภาคเอกชน โรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัดกรุงเทพมหานคร จากสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ รวม 165 แห่ง จำนวน 244 คน เข้าร่วมประชุม
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ดำเนินงานควบคุมวัณโรค โดยตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกและสอดคล้องกับแผนงานควบคุมวัณโรคแห่งชาติ (National Tuberculosis Programme : NTP) เพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของจำนวนผู้ป่วยวัณโรคที่ประมาณการไว้ และรักษาผู้ป่วยในระยะแพร่เชื้อให้หายอย่างน้อยร้อยละ 85 ของจำนวนผู้ป่วยวัณโรคที่ตรวจพบ ซึ่งการดำเนินการจะบรรลุเป้าหมายได้ต้องได้รับความร่วมมือจากสถานพยาบาลทุกแห่งในกรุงเทพมหานครในการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งการวินิจฉัยโรค การรักษา การติดตามผู้ป่วยที่ขาดยา การส่งต่อผู้ป่วย ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ลดภาวะดื้อยาในผู้ป่วย และสามารถเพิ่มอัตราการรักษาผู้ป่วยวัณโรคได้มากขึ้น ที่สำคัญต้องมีการรายงานข้อมูลวัณโรคอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อทราบสภาพปัญหาและสถานการณ์ที่แท้จริงของวัณโรค
ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนที่มีการรักษาวัณโรคในกรุงเทพฯ อย่างเป็นระบบ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานด้านวัณโรคของโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนในกรุงเทพมหานคร (Private–Public Mixed) ตั้งแต่ปี 2552 โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยหลุดพ้นจาก 1 ใน 22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลก และสามารถลดปัญหาวัณโรคได้ภายในปี 2558 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การควบคุมวัณโรคแห่งชาติและนโยบาย “รวมกันเราทำได้” (Together We Can) ของกรุงเทพมหานคร สำหรับปี 2554 มีจำนวนสถานพยาบาลที่สนับสนุนและร่วมมือด้านการดำเนินงานวัณโรค ทั้งหมด 165 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีเพียง 123 แห่ง ส่งผลให้การดำเนินงานในภาพรวมดีขึ้นตามลำดับ และกรุงเทพมหานครจะดำเนินงานอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามระยะเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมรถเอ็กซเรย์ปอดออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการตรวจสุขภาพและเอกซเรย์ปอดแก่ประชาชนตามชุมชน วัด หน่วยงาน และสถานที่เสี่ยงต่างๆ หมุนเวียนต่อเนื่องทั่วพื้นที่เป็นประจำทุกเดือน ประชาชนสามารถรับบริการและทราบผลได้ทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดการออกหน่วยบริการเพิ่มเติม โทร. 0 2246 0302 ต่อ 2764
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น