เดินหน้ามาตรการดูแลพื้นที่สนามหลวงและพื้นที่โดยรอบ ภายหลังปรับปรุงและเปิดใช้อย่างเป็นทางการ พร้อมจัดตั้ง 2 ศูนย์ฯ รองรับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน ไร้บ้าน อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม
(15 ก.ย. 54) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมเสวนา เรื่องแนวทางแก้ปัญหาคนเร่ร่อน ไร้บ้าน พื้นที่สนามหลวงและบริเวณโดยรอบ ซึ่งสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. จัดขึ้น โดยมี นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พระราชธรรมนิเทศ (พระพะยอม กัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว นางสาวนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ร่วมเสวนา ณ ท้องสนามหลวง
สนามหลวงนับเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์คู่กับกรุงเทพมหานครมายาวนาน นอกจากเป็นสถานที่ในการจัดงานพระราชพิธี งานศาสนพิธี งานพิธีการ หรือประเพณีสำคัญต่างๆ แล้ว ยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ตลอดจนการให้บริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไป ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่สนามหลวงและพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งได้วางมาตรการในการแก้ปัญหาคนเร่ร่อน ไร้บ้าน บริเวณพื้นที่ท้องสนามหลวง เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนคนเร่ร่อนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่สนามหลวงที่ได้รับการปรับปรุงแล้วในอนาคตได้
เร่งแก้ปัญหาภูมิทัศน์ ปรับปรุงพื้นที่บริเวณคลองคูเมืองเดิม
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ภายหลังกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่สนามหลวงและบริเวณโดยรอบ และได้เปิดให้ใช้พื้นที่ได้เรียบร้อยแล้ว กรุงเทพมหานครมีนโยบายต่อเนื่องในการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณคลองคูเมืองเดิม ได้แก่ บริเวณรูปปั้นพระแม่ธรณี ออกแบบให้เป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงการสัญจรจากท้องสนามหลวงไปยังถนนราชดำเนิน และปรับปรุงพื้นที่สาธารณะให้สอดคล้องกับคลองคูเมืองเดิม บริเวณสองข้างคลอง ออกแบบทางเท้าให้ประชาชนสามารถสัญจรได้สะดวก ปลอดภัย มีจุดนั่งพัก รวมทั้งเพิ่มร่มเงาและความร่มรื่นให้กับพื้นที่ด้วย บริเวณสะพานต่อเนื่องถึงทางแยกหน้ากรมการรักษาดินแดง และสวนสราญรมย์ ออกแบบบริเวณแยก และวัสดุผิวถนนใหม่ รวมถึงจุดหมายตาและป้ายสัญลักษณ์บริเวณกลางวงเวียนที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ในช่วงที่มีพระราชพิธีสำคัญ บริเวณแยกสถานีตำรวจพระราชวังจนถึงท่าเรือโรงเรียนราชินี ออกแบบเน้นบริเวณหัวคลองคูเมืองทางด้านใต้ เชื่อมโยงไปยังท่าเรือให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง และนักเรียนโรงเรียนราชินี สามารถสัญจรตลอดแนวคูเมืองเดิมได้อย่างปลอดภัย โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 11.6 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังได้เตรียมดำเนินการพัฒนาพื้นที่ริมถนน-คลองหลอด ให้เป็นถนนคนเดินเต็มรูปแบบ (ตลาดกลางคืน) เพื่อแก้ปัญหาการรุกล้ำท้องสนามหลวงอย่างถาวร โดยเบื้องต้นกำหนดเวลา 19.00-01.00 น. แบ่งเป็น 4 โซน โซนที่ 1 ของโบราณและสินค้ามือสอง โซนที่ 2 อาหารนานาชาติ โซนที่ 3 สินค้าสร้างสรรค์และเบ็ดเตล็ด โซนที่ 4 ดอกไม้และเบ็ดเตล็ด นอกจากนี้จะปรับปรุงฟื้นฟูคลองหลอด ให้ใสสะอาดรองรับเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำจากโรงแรมรัตนโกสินทร์ถึงปากคลองตลาดด้วย
เปิดสถานที่พักพิง ฝึกอาชีพ แก้ปัญหาคนเร่ร่อน ไร้บ้าน อย่างยั่งยืน
สำหรับปัญหาคนเร่ร่อนไร้บ้านที่อาศัยอยู่บริเวณสนามหลวงและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีกว่า 1,000 ราย ตลอดจนผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสนามหลวงและพื้นที่โดยรอบ ทำให้ขาดความสะอาด และเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาการไม่มีงานทำ ประกอบค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนคนเร่ร่อน ไร้บ้าน และผู้ค้าหาบเร่ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้จัดตั้ง ศูนย์ประสานงานและบ้านพักคนไร้บ้าน “บ้านอุ่นใจ” เพื่อรองรับคนเร่ร่อน ไร้บ้านระหว่างรอการช่วยเหลือหรือส่งต่อ โดยสามารถเข้าพักอาศัยชั่วคราวไม่เกิน 10 วัน และรองรับคนไร้บ้านได้วันละ 30 คน ศูนย์คัดกรองคนเร่ร่อน (บ้านพักอุ่น อิ่ม) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ สำนักงานประปา สาขาแม้นศรี (เดิม) เพื่อช่วยเหลือด้านที่พักอาศัยชั่วคราว และการส่งต่อ โดยสามารถรองรับคนเร่ร่อนได้วันละประมาณ 100 คน และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงได้จัดให้มีการฝึกอาชีพในศูนย์คัดกรองคนเร่ร่อน (บ้านพักอุ่น อิ่ม) 15 วิชา อาทิ ร้อยลูกปัด งานเพ้นท์แก้ว-ผ้า ถักเชือกเมคราเม่ แปรรูปสมุนไพร จัดดอกไม้ แกะสลัก และงานใบตอง ดอกไม้ดิน ปั้นของจิ๋ว เป็นต้น อีกทั้งกรุงเทพมหานครยังได้เตรียมจัดหาเกสท์เฮ้าส์ราคาถูกให้คนเร่ร่อนที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ ราคาตั้งแต่ 60-300 บาท พร้อมจัดสร้างห้องอาบน้ำและสุขาสาธารณะ เพื่อแก้ปัญหาการขับถ่ายในที่สาธารณะด้วย
ร่วมมือวัดสวนแก้ว ทั้ง 9 สาขาทั่วประเทศ เป็นสถานที่พักอาศัยพร้อมสร้างอาชีพ
นอกจากนี้เพื่อให้การแก้ปัญหาคนเร่ร่อน ไร้บ้านเป็นระบบ และให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับวัดสวนแก้วในการเปิดโอกาสให้คนเร่ร่อนได้พัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ได้มีสถานที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่ง รวมทั้งสามารถทำงานหารายได้ภายในพื้นที่มูลนิธิวัดแก้ว ซึ่งมีสาขาทั้งหมด 9 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย นนทบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี ระยอง ตาก กาญจนบุรี บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี และพระนครศรีอยุธยา โดยเบื้องต้น กทม.จะจัดส่งคนเร่ร่อนประมาณ 100 คน ไปยังสาขากบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรีเป็นแห่งแรก เนื่องจากมีความพร้อมในการรองรับและสามารถบริหารจัดการคนเร่ร่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคนเร่ร่อนสามารถเลือกประกอบอาชีพได้ตามความถนัด อาทิ การเกษตรกรรม การแปรรูปผลผลิตการเกษตร งานอุตสาหกรรม ช่างไม้ ซ่อมเฟอร์นิเจอร์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น โดยจะได้รับค่าตอบแทนวันละ 100-150 บาท
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้เปิดบัญชีกองทุนช่วยเหลือคนเร่ร่อน เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือคนเร่ร่อน ไร้บ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชื่อบัญชี “ช่วยเหลือคนเร่ร่อน”ธนาคารกรุงไทย สาขาศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร บัญชีเลขที่ 088-0-05393-3 ซึ่งตั้งเป้ายอดเงินบริจาค จำนวน 10 ล้านบาท ก่อนวันที่ 5 ธ.ค. 54 หลังจากนั้นจะรวบรวมเงินส่งมูลนิธิสวนแก้ว เพื่อช่วยเหลือแก้ปัญหาคนเร่ร่อนอย่างยั่งยืนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น