ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ตั้งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดกทม. และเขต

จัดตั้งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศพส.กทม.) และศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดเขต (ศพส.ข.) ตามปฏิบัติการวาระแห่งชาติ พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด เพื่อควบคุมสถานการณ์ การแพร่ระบาดของยาเสพติดที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง และความสงบสุขของประชาชนและสังคม ให้ได้อย่างรวดเร็วต่อเนื่องและยั่งยืน

(19 ก.ย. 54) เวลา 11.30 น. ณ ห้องสุทัศน์ กทม. : นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ว่า สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งด้านการนำเข้า การค้าการแพร่ระบาดโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำแนกตามลักษณะการบำบัดรักษาปีงบประมาณ 2554 (ต.ค. 53 ส.ค. 54) แบ่งเป็น สมัครใจ 1,377 ราย ต้องโทษ 628 ราย และบังคับบำบัด 17,599 ราย และมีแนวโน้มผู้เข้ารับการบำบัด อายุ 13-19 ปี จะเป็นผู้เสพที่ต้องเข้ารับการบำบัดมากขึ้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 54 เรื่อง ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด และให้ถือเป็นปฏิบัติการวาระแห่งชาติ พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติดเพื่อยุติสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง และความสงบสุขของประชาชนและสังคมให้ได้อย่างรวดเร็วต่อเนื่องและยั่งยืน โดยได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีจัดตั้งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี(ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง) ผู้อำนวยการเป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นกรรมการ รวมทั้งมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง จัดตั้งศูนย์อำนวยการและศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดระดับพื้นที่ โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศพส.กทม.) มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สั่งราชการสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด) เป็นกรรมการและเลขานุการ และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดเขต (ศพส.ข.) โดยมีผู้อำนวยการเขต เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ หัวหน้าฝ่ายปกครอง เป็นกรรมการและเลขานุการ

สำหรับแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติดของกรุงเทพมหานคร เป็นการขับเคลื่อนงานยาเสพติดตามยุทธศาสตร์ 7 แผนงาน ได้แก่ แผนการสร้างพลังสังคมและพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด โดยรณรงค์ กระตุ้นจิตสำนึก เสริมสร้างให้พลังสังคม การสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน/ชุมชนป้องกันเฝ้าระวัง และการสร้างความเข้มแข็งกองทุนแม่ของแผ่นดิน แผนการแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด โดยสร้างความรัก ความเมตตา ความห่วงใย ให้โอกาสผู้เสพกลับตัวเป็นคนดี เป็นแนวทางหลักในการบำบัดรักษา พร้อมทั้งติดตามช่วยเหลือ ฟื้นฟูผู้ผ่านการบำบัดอย่างครบวงจร แผนการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด โดยสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดและเฝ้าระวังยาเสพติดในสถานศึกษาเฝ้าระวังพฤติการณ์เสี่ยงของเยาวชนนอกสถานศึกษา รวมทั้งจัดระเบียบสังคมขจัดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อเยาวชน แผนการปราบปรามยาเสพติดและบังคับใช้กฎหมาย โดยดำเนินการด้านการข่าวยาเสพติดอย่างจริงจัง และเร่งลดปัญหาการค้ายาเสพติด แผนความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยผลักดันในเชิงนโยบายให้ประเทศเพื่อนบ้านขยายความร่วมมือในการป้องกันและปราบปราบยาเสพติดอย่างจริงจัง แผนการสกัดกั้นยาเสพติด โดยเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน โดยการบูรณาการการสกัดกั้นและเสริมสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้านตามแนวชายแดน แผนการบริหารจัดการแบบบูรณาการ โดยปรับระบบอำนวยการและพัฒนาบริหารจัดการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่และจัดตั้งกลไกบริหารจัดการเป็นการเฉพาะภารกิจพื้นที่เป้าหมายที่มีระดับปัญหามากเป็นพิเศษเกินกว่าศักยภาพในพื้นที่ตามลำพังจะแก้ไขปัญหาได้ ได้แก่ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคเหนือตอนบน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

ทั้งนี้ สำนักงาน ศตส.กทม. เดิม จะดำเนินการปรับระบบบริหารจัดการของศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดกรุงเทพมหานคร โดยวางแผนปฏิบัติการและมอบผู้รับผิดชอบหลัก รวมทั้งประสานหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น