ผู้ว่าฯกทม. ขันน็อต CCTV ตัวที่ 10,000 เฝ้าระวังภัยให้คนกรุง
กทม. ติดตั้ง CCTV ตัวที่ 10,000 เฝ้าระวังภัยคนกรุงใกล้ชิด พร้อมเดินหน้าขยายจุดติดตั้งให้ครบ 20,000 ตัวในปี 55 ตรวจตราสิ่งผิดปกติ ดูแลสวัสดิภาพ สร้างความอุ่นใจให้ประชาชน
(30 มิ.ย. 54) เวลา 11.00 น. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เพื่อการจราจรและความปลอดภัย ตัวที่ 10,000 ณ บริเวณลาน Victory Point อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งนับเป็นย่านสำคัญในแหล่งชุมชนอีกแห่งหนึ่ง พร้อมทดสอบการทำงานของกล้องผ่านจอโทรทัศน์ โดยมีคณะผู้บริหารกทม. สื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมงาน
กรุงเทพมหานครได้ดำเนินงานติดตั้งกล้อง CCTV (Closed Circuit Television) เพื่อเป็นเครื่องมือสอดส่อง เฝ้าระวัง และลดภัยให้สังคมแบบครบวงจร ช่วยลดจุดบอด ปลอดจุดเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัย สร้างความอุ่นใจให้คนกรุงเทพฯและบ้านเมือง โดยมีพื้นที่ติดตั้งครอบคลุมจุดเสี่ยงภัย สถานศึกษา 700 แห่ง ชุมชน ตลาด และสถานที่อันตราย 600 แห่ง โรงพยาบาล และสถานที่สำคัญทั่วกรุงเทพฯ 160 แห่ง รวมจำนวน 10,000 ตัว
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้กรุงเทพมหานครจะเร่งดำเนินการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อลดจุดเสี่ยงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพิ่มเป็น 20,000 ตัวภายในปี 2555 ครอบคลุมจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง สถานศึกษา ชุมชน ตลาด สถานที่อันตราย โรงพยาบาล ศูนย์สาธารณสุข สถานที่ราชการ และอื่นๆ พร้อมบูรณาการกับกล้องวงจรปิดของภาคเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ กว่า 200,000 ตัว เพื่อเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังอันตราย โดยเชื่อมโยงสัญญาณภาพไปยังศูนย์อำนวยการเขต 50 เขต สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ ผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสง แล้วส่งต่อข้อมูลไปยังศูนย์ควบคุมบริหารจุดเสี่ยงและระบบความปลอดภัย ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถเชื่อมต่อสัญญาณกับหน่วยงานภายในกรุงเทพมหานครและหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองอำนวยการร่วมพิเศษเฉพาะกิจ
ทั้งนี้กล้อง CCTV ที่ ติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ สามารถบันทึกข้อมูลความผิดปกติและนำมาตรวจสอบเหตุการณ์ย้อนหลัง ไม่ว่าจะเป็นคดีอาชญากรรมและเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่ เสี่ยงภัยและแหล่งชุมชน โดยล่าสุดเหตุการณ์สะเทือนขวัญขณะรถพุ่งชน พ.ต.พญ.หทัยพร อิ่มวิทยา หรือหมอมุก เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา ถูกบันทึกไว้วินาทีต่อวินาทีด้วยกล้องโทรทัศน์วงจรปิด CCTV ที่กรุงเทพมหานครติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับกรณีชิงทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย อุบัติเหตุ และเหตุการณ์ทางการเมือง รวมกว่า 650 เหตุการณ์ที่กล้อง CCTV จับภาพไว้ได้ และนำไปสู่การคลี่คลายคดีในที่สุด ภาพจากกล้อง CCTV จึงกลายเป็นหลักฐานสำคัญ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถคลี่คลายคดีสำเร็จโดยเร็ว ต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องใช้เวลาสอบสวนและหาพยานหลักฐานเป็นเวลานาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น