ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กทม.เตรียมผุดโครงการก่อสร้างอาคารที่พักศูนย์ฝึกอบรมหนองจอก

ผนวกศูนย์ฝึกอบรมเข้ากับสนามกีฬาฟุตซอล ภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน พร้อมก่อสร้างอาคารที่พัก 9 ชั้น เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ทัดเทียมมาตรฐานสากล

(27 มิ.ย. 54) ณ ห้องสุทัศน์ กทม. : เวลา 12.00 น. นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงผลการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครว่า ศูนย์ฝึกอบรม ของสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2526 พื้นที่ทั้งหมด 163 ไร่ และในปี 2536 แบ่งพื้นที่ 9 ไร่ เพื่อก่อสร้างโรงเรียนฝึกอาชีพของกทม. ปัจจุบันได้ใช้เป็นศูนย์กลางในการจัด การฝึกอบรม ประชุม สัมมนา ให้กับทุกหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนให้บริการสาธารณะแก่ชุมชนและประชาชน ประกอบด้วย ห้องประชุม/สัมมนา อาคารที่พัก และบ้านพักรับรอง สามารถรองรับการฝึกอบรมแบบไป-กลับได้ 1,000 คน พักค้างได้ 250 คน ซึ่งพบว่ามีปัญหาอาคารที่พักไม่เพียงพอในการให้บริการแบบพักค้าง กรณีเข้าใช้พร้อมกันหลายโครงการฯ

ทั้งนี้กทม. กำลังดำเนินการสร้างสนามกีฬาฟุตซอล เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 7 ตั้งอยู่ในพื้นที่ 50 ไร่ หลังจากการแข่งขันเสร็จสิ้นแล้วทางศูนย์ฝึกอบรมฯ สามารถปรับใช้ให้มีศักยภาพรองรับกิจกรรมและการฝึกอบรมได้ อาทิ พื้นที่สนามฟุตซอลสามารถเป็นส่วนจัดนิทรรศการขนาดใหญ่และที่นั่งสามารถประชุมคนได้จำนวนมาก ห้องฝึกอบรมขนาด 100-200 คนสามารถกั้นเป็นห้องย่อยได้ 3 ห้อง อาคารจอดรถชั้นดาดฟ้าสามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องขนาดใหญ่รองรับคนได้ 450-500 สามารถกั้นเป็นห้องย่อยได้ 2-3 ห้อง ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับการฝึกอบรมได้ประมาณ 4,500 คน แต่ยังไม่มีอาคารที่พักรองรับ

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารเห็นชอบให้สถาบันฯ ดำเนินการโครงการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมฯ สู่การเป็นสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการบริหารมหานคร เพื่อรองรับภารกิจและการปรับโครงสร้างองค์กรของสถาบันฯ ในอนาคต โดยก่อสร้างอาคารที่พักศูนย์ฝึกอบรมฯ 9 ชั้น ซึ่งนอกจากจะสามารถผนวกพื้นที่ศูนย์ฝึกอบรมฯ กับพื้นที่สนามกีฬาเพื่อใช้ในการจัดฝึกอบรมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่คุ้มค่ากับงบประมาณและการลงทุนแล้ว ยังจะทำให้การจัดการฝึกอบรม ประชุม สัมมนา โดยใช้บริการศูนย์ฝึกอบรมฯ สามารถประหยัดงบประมาณของกทม. ได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งการให้บริการองค์กรภายนอก สามารถจัดเก็บค่าบริการเป็นรายได้ให้แก่กทม. เกิดประโยชน์คุ้มค่าในภารกิจของรัฐได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นการเพิ่มความสามารถรองรับการให้บริการได้เพียงพอกับความต้องการ และพัฒนาระบบการให้บริการที่มีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานสากลต่อไป คาดว่าจะใช้งบประมาณ 115,556,000 บาท การโดยการจัดสรรงบประมาณ 2 ปี (55-56)

อย่างไรก็ตามที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่า สถาบันฯ ควรจัดทำแผนการดำเนินงานระยะยาว เกี่ยวกับการใช้พื้นที่ว่าควรเป็นไปในรูปแบบใด เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างสูงสุด รวมทั้งให้สำนักการโยธาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมแผนการก่อสร้างอาคารจอดรถ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานที่ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น