ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วางมาตรการ ก้าวสู่ “กรุงเทพฯ ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า”

ประกาศนโยบายเดินหน้าป้องกันแก้ไขโรคพิษสุนัขบ้าในกรุงเทพฯ สัญญาณดียังไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม เน้นรณรงค์เข้มต่อเนื่องปี 54 55 ทั่วพื้นที่ ทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดไมโครชิป ปรับปรุงและพัฒนาศูนย์พักพิงสุนัขเขตประเวศ และทัพทัน จ.อุทัยธานี ลดจำนวนสุนัขจรจัดทั่วกรุง พร้อมกระตุ้นเตือน และส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงสัตว์ด้วยความรัก และรับผิดชอบ

(29 มิ.ย. 54) เวลา 09.30 น. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว “ก้าวต่อไป สู่เป้าหมายปลอดโรคพิษสุนัขบ้า” ประกาศนโยบายเดินหน้ารณรงค์ป้องกัน และกวาดล้างโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย ณ บริเวณสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. เขตดินแดง เพื่อกระตุ้นเตือน และปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการเลี้ยงสุนัขและแมวด้วยความรับผิดชอบ ไม่ปล่อยปละละเลยหรือทิ้งขว้าง นำสุนัขและแมวรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี รวมถึงรับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ตามระยะเวลา รวมถึงฉีดไมโครชิปให้สุนัข กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย การแสดงความสามารถของสุนัขจากศูนย์พักพิงสุนัขกรุงเทพมหานคร ชมวิดีทัศน์ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าและการแก้ไขป้องกันปัญหาสุนัขจรจัดในกรุงเทพมหานคร สาธิตการฉีดไมโครชิปสุนัข บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำหมันสุนัขและแมวฟรี การสนทนาเรื่อง สัตว์เลี้ยงแสนรักกับดารา โดย แพนเค้ก เขมนิจ ตู่ นพพล และปรียานุช ปานประดับ การเสวนาเรื่อง การเลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบ โดย นายแพทย์ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ประกาศแนวทางป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปี 54-55

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ และเป็นปัญหาของประชาคมทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้รณรงค์และกำหนดเป้าหมายที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากทุกภูมิภาคของโลกภายในปี 2563

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานกวาดล้างและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงป้องกัน แก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด ในปี 25542555 ดังนี้ ปรับปรุงศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดประเวศ ให้สามารถรองรับสุนัขได้มากขึ้นและถูกสุขลักษณะ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2555 อีกทั้งพัฒนาศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดประเวศ และศูนย์พักพิงสุนัขบ้านกึ่งวิถี อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสุนัข เช่น สายพันธุ์ นิสัย ความสามารถ การเลี้ยงดู เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงดูสุนัขอย่างเหมาะสม สร้างสวนสุนัข (Dog park) บนพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ใต้ทางด่วนแยกวัชรพล ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบและทำประชาพิจารณ์ คาดว่าสามารถสรุปผลได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน ขยายพื้นที่การจัดกิจกรรมสัญจร ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 50 เขต ให้บริการทำหมันสุนัข แมว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดไมโครชิป และจดทะเบียนสุนัข ขยายเครือข่ายสถานพักพิงสำหรับสุนัขในชุมชน (Community Shelter) และ ปรับปรุงระบบและกลไกการดำเนินงานของหน่วยสอบสวนควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาแหล่งโรคอย่างเร่งด่วนภายใน 24 ชั่วโมง นำสุนัขที่สัมผัสโรคมากักดูอาการเพื่อตัดวงจรการแพร่โรค เน้นการค้นหาคนที่ถูกสุนัขกัดหรือสัมผัสกับสุนัขที่เป็นโรค เพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างครบถ้วน

ปี 53 กทม. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเกือบ 284,000 ตัว

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 53 กรุงเทพมหานครพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ารวม 7 ราย และเป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้ ยังไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ซึ่งในปี 53 สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เข้มข้นตลอดปี พร้อมจัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าพร้อมกันทั้ง 50 เขต จำนวน 2 ครั้ง รวม 283,893 ตัว และคุมกำเนิดสุนัขที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของด้วยการทำหมัน รวม 29,046 ตัว

จากผลการสำรวจจำนวนสุนัขในเขตกรุงเทพมหานครปี 53 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีจำนวนสุนัขที่มีเจ้าของกว่า 590,000 ตัว และสุนัขไม่มีเจ้าของ กว่า 100,000 ตัว อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ อาทิ ถนน ตรอก ซอย และวัด 400 แห่ง โดยปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้นำสุนัขจรจัดที่สร้างปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญมาทำหมัน และนำไปเลี้ยงดูจนหมดอายุขัย ที่ศูนย์พักพิงสุนัขทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี จำนวน 5,456 ตัว

วอนประชาชนเลี้ยงสัตว์ด้วยความรัก เอาใจใส่ และรับผิดชอบ

ผู้ ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครเพียงหน่วยงานเดียว ไม่สามารถดำเนินงานเพื่อกวาดล้างและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนให้เลี้ยงสุนัขและแมวด้วยความรัก ความเอาใจใส่ และรับผิดชอบ ก่อนซื้อหามาเลี้ยงต้องศึกษานิสัยใจคอ หรือพฤติกรรมต่างๆ ของสัตว์เลี้ยงให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ อีกทั้ง มั่นใจว่าสามารถเลี้ยงดูได้จนสัตว์เลี้ยงหมดอายุขัย ไม่ใช่เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแล้วนำมาปล่อยตามสถานที่ต่างๆ สร้างความเดือดร้อน รำคาญใจแก่ผู้อื่นเป็นปัญหาสังคมต่อไป และขอให้เจ้าของนำสุนัขและแมวไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็น ประจำทุกปีที่คลินิกสัตวแพทย์กรุงเทพมหานครทั้ง 7 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง และหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ตามชุมชนต่างๆ สำหรับผู้ที่ถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วน ควรล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดมากๆ และรีบไปพบแพทย์ขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครทั้ง 68 แห่ง โดยไม่เสียค่าบริการ หากพบสัตว์เลี้ยงสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้แจ้ง สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข โทร. 0 2245 3311, 0 2248 7417 หรือ สายด่วน กทม. 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น