ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กทม. ตรวจความเรียบร้อยแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย ก่อนเปิดใช้เป็นทางการ

รองผู้ว่าฯ พรเทพ ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย และความพร้อมสถานีสูบน้ำคลองขุนราชพินิจใจ คาดแล้วเสร็จ 100% เดือน มิ.ย. นี้ ก่อนเปิดใช้เป็นทางการเต็มรูปแบบ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล พร้อมทั้งขีดความสามารถในการหมุนเวียนน้ำในฤดูแล้ง
(9 มิ.ย. 54) นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย และตรวจความพร้อมของสถานีสูบน้ำคลองขุนราชพินิจใจ ก่อนเปิดใช้เป็นทางการ โดยมีนายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ณ สถานีสูบน้ำ คลองขุนราชพินิจใจ
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาและปรับปรุง รายละเอียดของโครงการ โดยได้ขยายแนวคันกั้นน้ำจากถนนบางขุนเทียนชายทะเลออกไปจดแนวคลองหัวระบือและคลองขุนราชพินิจใจ มีพื้นที่โครงการ 76.42 ตารางกิโลเมตร ลำคลองสาขา 24 สาย ความจุร่องน้ำ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาตรกักเก็บ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และประตูเรือสัญจร รวมทั้งสิ้น 25 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร 12 แห่ง กรมชลประทาน 10 แห่ง กรมโยธาธิการและผังเมือง 3 แห่ง
ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำถาวรตามแนวคลองต่างๆ เพื่อควบคุมระดับน้ำในคลอง เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 รวมจำนวน 12 แห่ง ประกอบด้วย 1. สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ จำนวน 3 แห่ง ที่คลองเชิงตาแพ คลองขุนราชพินิจใจ และคลองลูกวัว 2. ประตูระบายน้ำ จำนวน 8 แห่ง ที่คลองหัวกระบือ คลองรางยายคง คลองรางยายเพียร คลองแยกเชิงตาแพ คลองรางโพธิ์ คลองบุญสุข คลองรางสะแก และคลองนา 3. ประตูเรือสัญจร ที่คลองลูกวัวเก่า นอกจากนี้กรุงเทพมหานคร ยังได้ก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม 1 แห่ง ความยาว 4,500 เมตร เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการของกรมชลประทาน ซึ่งขณะนี้สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว


ทั้งนี้โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัย เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณมากประกอบกับในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนักติดต่อหลายวัน ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของประชาชน โดยเริ่มดำเนินการในปี 2539 กรมชลประทานได้ก่อสร้างทำนบชั่วคราวปิดกั้น ในคลองมหาชัย-คลองสนามชัย พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำและคลองสาขาต่างๆ กรุงเทพมหานครได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำเป็นการชั่วคราวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 4 แห่ง จากนั้นปี 2541 กรมชลประทานทำการศึกษารายละเอียดและ เริ่มดำเนินโครงการจนกระทั่งแล้วเสร็จในปีนี้ โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัย มีขีดความสามารถในการรับน้ำ 3 แหล่ง คือ น้ำฝนจากพื้นที่โครงการและพื้นที่เหนือคลองสนามชัยถึงคลองมหาสวัสดิ์ ครอบคลุมพื้นที่ 648 ตารางกิโลเมตร และน้ำทุ่งเหนือคลองมหาสวัสดิ์ ให้ระบายลงสู่โครงการแก้มลิงและระบายออกสู่ทะเลคิดเป็นปริมาตร 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมทั้งขีดความสามารถในการหมุนเวียนน้ำในฤดูแล้ง โดยนำน้ำที่มีคุณภาพดีมาไล่น้ำเสียให้ระบายออกสู่ทะเล สำหรับสถานีสูบน้ำคลองขุนราชพินิจใจ เป็นสถานีสูบน้ำหลักขนาดใหญ่ของโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัย อยู่ในส่วนความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร มีขนาดกว้างของบานประตูระบายน้ำรวม 22 เมตร พร้อมช่องประตูเรือสัญจรกว้าง 5 เมตร มีกำลังสูบน้ำรวม 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 2 ทิศทาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น