ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ผู้ว่าฯกทม. ตรวจการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมชุมชนท่าวัง

(22 มิ.ย. 54) เวลา 14.00 น. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่บริเวณชุมชนท่าวัง ถนนมหาราช เขตพระนคร เพื่อตรวจความคืบหน้าแนวก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. บริเวณชุมชนท่าวัง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงจากใต้สะพานพระราม 6 ถึงกรมสรรพาวุธทหารเรือ ครอบคลุมพื้นที่เขตบางซื่อ พระนคร สัมพันธวงศ์ บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา พระโขนง คลองเตย และเขตบางนา โดยมีนายสัญญา ชีนิมิต ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ คณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปโครงการดังกล่าว

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำได้ดำเนินโครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงจาก ใต้สะพานพระราม 6 ถึงกรมสรรพาวุธทหารเรือ เนื่องจากแนวป้องกันน้ำท่วมเดิมมีสภาพชำรุด และบางช่วงเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ เช่น มีการรื้อถอนอาคารและแนวป้องกันน้ำท่วมเดิมบางส่วนออก ส่งผลให้แนวป้องกันน้ำท่วมบางส่วนได้รับความเสียหาย และเมื่อถึงฤดูน้ำไหล น้ำทะเลหนุนจะมีน้ำรั่วซึม หรือน้ำล้นเข้าท่วมถนนสายหลักและบ้านเรือนของประชาชน ดังนั้นสำนักการระบายน้ำจึงได้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหา น้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีพื้นที่ต้องดำเนินการจำนวน 20 แห่ง รวมระยะทาง 1,885 เมตร ประกอบด้วย ท่าพระจันทร์ ชุมชนท่าวัง ตลาดท่าเตียน ท่าเรือสาทร เจ้าพระยารีเจ้นทร์ โกดังแสงไทย ซอยมาตานุสรณ์ อู่เรือวังเจ้า ปากคลองบางอ้อ ที่ดินการไฟข้างคลองขุด ที่ดิน บ.ทรัพย์บางนา โรงงานแบตเตอรี่ทหาร บ.บางนากลาส กรมสรรพาวุธทหารเรือ คลองซุง วัดสร้อยทอง คลองโอ่งอ่าง ท่าเรือวัดราชสิงขร คลองวัดไทร และสถานีสูบน้ำคลองเตย ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวดำเนินการคืบหน้าประมาณ 30% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการประมาณปี พ.ศ. 2555

ปัจจุบันโครงการก่อสร้างแนวประกันน้ำท่วมถาวรริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมความยาว 77 กิโลเมตร ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 75.774 กิโลเมตร ส่วนอีก 1.226 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2554 แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง การใช้พื้นที่ทำให้แนวป้องกันน้ำท่วมเดิมชำรุด กรุงเทพมหานครจึงจำเป็นต้องก่อสร้างและปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วมเพิ่มอีกประมาณ 7.564 กิโลเมตร ทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร โดยจะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2556 ส่วนแนวป้องกันน้ำท่วมที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ กรุงเทพมหานครจะวางแนวกระสอบทรายเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว สูงระดับ + 2.00 ม.รทก. หากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจะเสริมแนวกระสอบทรายเป็น + 2.40 ม.รทก. นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2554 สำนักการระบายน้ำมีแผนจะเรียงกระสอบทรายยาวประมาณ 5.70 กิโลเมตร ใช้กระสอบทรายจำนวน 300,000 ใบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น