ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ผู้บริหารกทม. ตรวจสถานที่ก่อสร้างโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ

(24 มิ.ย. 54) เวลา 14.00 น. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ รัชดา-สุทธิสาร (ใต้คลองบางซื่อ) ณ สะพานข้ามคลองบางซื่อ หน้าโรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ดินแดง ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อุโมงค์ขนาดใหญ่หรืออุโมงค์ยักษ์เพื่อแก้ไขปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และลดระยะเวลาการเดินทางของน้ำให้ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยารวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประกวดราคาหาผู้รับจ้าง และใช้งบประมาณดำเนินการ 2,500 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 54 และใช้เวลาดำเนินการ 1,080 วัน

สำหรับอุโมงค์ยักษ์รัชดา-สุทธิสาร หรืออุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ความยาว 6.4 กิโลเมตร ลึกจากผิวดินประมาณ 30-40 เมตร สามารถระบายน้ำได้ไม่น้อยกว่า 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ความเร็วสูงสุดของน้ำ 3.05 เมตรต่อวินาที มีอาคารรับน้ำ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อาคารรับน้ำถ.รัชดาภิเษก อาคารับน้ำ ถ.วิภาวดีรังสิต และอาคารรับน้ำ ถ.กำแพงเพชร มีสถานีสูบน้ำขนาด 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะช่วยลำเลียงน้ำในพื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง จตุจักร พญาไท ดุสิต บางซื่อ ออกสู่แม่เจ้าพระยาได้โดยตรง สามารถแก้ไขปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วม และเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำบน ถ.พหลโยธิน ช่วงสี่แยกสะพานควายถึงห้าแยกลาดพร้าว ถ.วิภาวดีรังสิต ช่วงจากสี่แยกสุทธิสารถึงห้าแยกลาดพร้าว บริเวณถ.รัชดาภิเษก ช่วงจากสี่แยกสุทธิสารถึงถ.ลาดพร้าว รวมถึงถ.ลาดพร้าว ช่วงจากสี่แยกรัชดาลาดพร้าวถึงคลองบางซื่อ ถ.กำแพงเพชร ช่วงจากใต้ทางด่วนศรีรัช ถึงตลาดนัดจตุจักร และถ.สามเสน ช่วงจากคลองบางกระบือถึงสี่แยกเกียกกาย รวมพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตร

ทั้งนี้ 4 อุโมงค์ยักษ์เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 1 แห่ง คือ อุโมงค์ยักษ์พระราม9 รามคำแหง ซึ่งเปิดใช้เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 54 ส่วนอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ย่านดอนเมือง ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร และอุโมงค์ระบายน้ำสวนหลวง ร.9 ระยะทาง 9 กิโลเมตร จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 55

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น