ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กทม. ส่งฝ่ายกฎหมายศึกษาต่อสัญญาผู้รับจ้างรายเดิมขนขยะท่าแร้ง

(8 มิ.ย. 54) นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมโรงกำจัดขยะสายไหม (ท่าแร้ง) เพื่อตรวจสอบความพร้อมของโรงงานกำจัดมูลฝอยระบบใหม่ ที่ใช้รองรับการขนถ่ายมูลฝอยไปฝั่งกลบที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยมี นางนงพะงา บุญปักษ์ เลขานุการสำนักสิ่งแวดล้อม นายวิชา วงษ์ประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองโรงงานกำจัดมูลฝอย ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตสายไหม และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและนำชมกระบวนการกำจัดมูลฝอยของโรงงานฯ
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยมโรงกำจัดขยะสายไหม (ท่าแร้ง) ที่สำนักสิ่งแวดล้อมได้มีการก่อสร้างโรงกำจัดขยะระบบใหม่มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นระบบปิด ลดมลพิษเรื่องกลิ่น เศษขยะตกหล่น และมีโรงบำบัดน้ำเสียระบบใหม่ที่สามารถบำบัดน้ำในเกณฑ์ที่มีความสะอาดเกินมาตรฐาน สามารถนำไปใช้ในการล้างรถ รดน้ำต้นไม้ภายในพื้นที่ได้ ซึ่งขณะนี้การว่าจ้างเอกชนเก็บขนขยะมูลฝอยจากโรงขยะสายไหม ที่ลงนามสัญญาตั้งแต่ปี 2548 ระยะเวลา 10 ปี วงเงิน 2,293 ล้านบาท วงเงินการจ้างจะหมดก่อนครบสัญญา และสามารถจ้างได้ถึงเดือน ต.ค. นี้ ซึ่งทางสำนักสิ่งแวดล้อมได้ประกาศร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) เปิดประกวดราคาที่ค่าจ้าง 800 บาทต่อตันระยะเวลา 5 ปี วงเงิน 2,920 ล้านบาท นั้น ตนเห็นว่าหากใช้วิธีว่าจ้างผู้รับจ้างรายเดิมไปให้ครบกำหนดเวลาสัญญาที่เหลือกทม. จะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะค่าจ้างที่จ้างอยู่ขณะนี้คือ 435 บาทต่อตัน รวมกับค่าปรับราคาน้ำมันแล้วเป็นเงินราว 600 กว่าบาทต่อตัน แต่หากเปิดประมูลค่าจ้างอยู่ที่ 800 บาทต่อตัน จะทำให้กทม. ใช้งบแพงขึ้นอีก เฉพาะที่ท่าแร้ง ขยะวันละ 2,000 ตัน ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นราว 400,000 บาทต่อวัน ซึ่งจะต้องให้ฝ่ายกฎหมายของกรุงเทพมหานครไปศึกษาว่ากรณีที่สายไหม จะต่อสัญญากับรายเดิมได้หรือไม่
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการต่อสัญญากับรายเดิม อาจจะเข้าข่ายความผิดต่อ พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่นั้น จากการสอบถามเป็นการภายในทราบว่า ฝ่ายกฎหมายยืนยันว่าเป็นสัญญาทางปกครองที่กทม. ได้เปรียบและสามารถบริหารสัญญาได้เพื่อประหยัดงบประมาณ จึงไม่ได้หารือไปยังกฤษฎีกาดังนั้นการต่อสัญญากับรายเดิมสามารถทำได้ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามในการจัดการขยะในอนาคตกทม. จะไม่ใช้วิธีการฝังกลบแล้ว จะต้องเดินหน้าไปสู่การใช้เตาเผาขยะซึ่งขณะนี้เตรียมว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาโครงการก่อสร้างเตาเผาขนาด 300 ตันและ 2,000 ตัน ซึ่งภายใน 6 เดือนนี้ ก็จะได้แนวทางที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น