ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กทม. เดินหน้าโครงการลด เหลื่อม ล้ำ สร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่

กทม. จับมือนิด้า และเครือข่ายมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน 25 แห่ง เดินหน้าโครงการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคม ล่าสุดลงพื้นที่สำรวจชุมชนนำร่องแล้ว 2 แห่ง พร้อมเดินหน้าวิจัยให้ครบ 96 ชุมชนทันทีหลังการเลือกตั้ง หวังสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่

(24 มิ.ย. 54) ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ : นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมในกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ภัทรนรากุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ หัวหน้าโครงการฯ ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดขึ้นเพื่อสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ อีก 25 แห่ง ร่วมเป็นเครือข่ายดำเนินการวิจัยและวิจัยสำรวจเชิงปริมาณ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ร่วมเป็นวิทยากรนำร่องด้านการศึกษาชุมชน และสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย ร่วมทำงานวิจัยสำรวจเชิงปริมาณ ล่าสุดลงพื้นที่สำรวจชุมชนนำร่องไปแล้ว 2 แห่ง คือ ชุมชนเชื้อเพลิงพัฒนา เขตยานนาวา และชุมชนสวนอ้อย เขตคลองเตย และเตรียมเข้าพื้นที่ทำวิจัยใน 96 ชุมชนทั่วกรุงเทพฯ ทันทีหลังการเลือกตั้ง

นางทยา กล่าวถึงที่มาของโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมในกรุงเทพมหานคร หรือ โครงการลด เหลื่อม ล้ำฯ ว่า โครงการนี้จัดทำเพื่อดำเนินการตามเจตนารมณ์ของแผนตามโครงการร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ในประเด็นของการปฏิรูปประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาค ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในกรุงเทพมหานคร และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประชาชนและภาคีต่างๆ ในการพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขแม้เกิดภาวะวิกฤต อีกทั้งเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างเป็นระบบ ให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้และสามารถพึ่งตนเองได้

โดยกรุงเทพมหานครได้ขอความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา ตลอดจนนำผล การวิจัยไปสู่การปฏิบัติและประเมินผล เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดกิจกรรมเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องการหาวิธีการ ทางออก หรือแนวทางในการยุติความขัดแย้งที่เป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ มีการสร้างสรรค์ ปรับปรุงทางกายภาพและสิ่งแวดล้อม ทางสังคม และรวมถึงทางจิตใจอย่างต่อเนื่อง

ผศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะดำเนินการสำรวจความเหลื่อมล้ำทางสังคมใน 6 ประเด็น คือ 1. การเข้าถึงระบบการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน 2. การพัฒนาด้านกายภาพของชุมชน 3. การแก้ไขปัญหาความยากจน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน 4. การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยอำนาจรัฐ 5. การเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ 6. การแสดงความคิดเห็น โดยการศึกษานี้เป็นงานวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เน้นระเบียบวิธีวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยมีแนวคิดว่าสมาชิกชุมชน ทั้งที่เป็นชุมชนตามระเบียบกรุงเทพมหานคร และชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนฯ ซึ่งประกอบด้วย ประชาชนที่อาศัยอยู่ในอาคาร ตึกแถว ร้านค้าและประชาชนที่อาศัยอยู่รวมกันในย่านต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ ล้วนมีศักยภาพในการร่วมกันค้นหาปัญหาและสามารถตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน ในลักษณะพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤตทางการเมืองที่สมาชิกชุมชนต้องร่วมกันเรียนรู้ รู้จักชุมชนตนเองมากขึ้น จากการย้อนอดีต การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง การมองอนาคตชุมชน รู้ปัญหาและทุนของชุมชน ให้สามารถร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา และแนวทางแก้ไข ร่วมกันตัดสินใจในทุกขั้นตอนเพื่อพัฒนาชุมชนน่าอยู่

ศ.ดร.ชาติชาย กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของนิด้าว่าเป็นหน่วยงานแกนกลางในการวิจัยและพัฒนา โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครอีก 25 แห่ง ร่วมเป็นเครือข่ายดำเนินการวิจัยชุมชน 96 แห่ง ในพื้นที่ระแวกของที่ตั้ง ครอบคลุมกรณีศึกษา 6 ประเด็น และงานวิจัยสำรวจเชิงปริมาณครอบคลุม 6ประเด็น นอกจากนี้ยังมีสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ร่วมเป็นวิทยากรนำร่องด้านการศึกษาชุมชน และสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย ร่วมทำงานวิจัย โดยใช้เวลาในการดำเนินโครงการระหว่างเดือนมิถุนายน – 2554 – มกราคม 2555 รวม 8 เดือน

สำหรับความคืบหน้าโครงการฯ ในขณะนี้สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนได้ลงพื้นที่ทำวิจัยในชุมชนนำร่องไปแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ชุมชนสวนอ้อย เขตคลองเตย และชุมชนเชื้อเพลิงพัฒนา เขตยานนาวา โดยทำการประเมินความคิดเห็นของประชาชน ด้วยเทคนิคบันได เป็นวิธีการประเมินสภาวการณ์ต่างๆ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของกลุ่มเป้าหมายในการศึกษา ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลทางสถิติ โดยให้กลุ่มเป้าหมายประเมินสภาวการณ์ต่างๆ ออกมาเป็นตัวเลขด้วยการเปรียบเทียบกับระดับของขั้นบันได ขั้นต่ำสุด คือ 1 สูงสุด คือ 10 เน้นการใช้กระบวนการกลุ่มเพื่อรับทราบความเป็นอยู่ ความพึงพอใจต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จากความคิดเห็นต่อความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยให้ตัวแทนประชาชนเป็นผู้ประเมินตนเองตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันและคาดการณ์ในอนาคต และให้ชุมชนร่วมเสนอกิจกรรมพัฒนาที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับชุมชน ซึ่งกรอบการศึกษาทั้ง 2 ชุมชนนี้จะเป็นการชี้ให้เห็นถึงมุมมองปัญหาที่แท้จริงของชุมชนซึ่งจะเป็นแนวทางในการดำเนินการโครงการวิจัยกับชุมชนอื่นๆ ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น