ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สมัชชาการอ่านระดมความคิด ร่วมผลักดันกทม. สู่ World Book Capital 2013

(1 ก.พ. 54) นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานปิดงานสมัชชาการอ่านเพื่อรณรงค์ให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งการอ่าน และรับข้อเสนอแนะจากกลุ่มสมัชชาการอ่าน โดยมีนายสมศักดิ์ จันทวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กลุ่มสมัชชาการอ่าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน ณ ห้องเพลนนารี ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
กรุงเทพมหานครได้จัดกิจกรรมและพัฒนาพื้นที่ในการรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน ภายใต้แนวความคิด “Read for Life” เพื่อให้กรุงเทพมหานครเดินหน้าเป็นมหานครแห่งการอ่าน ในปี พ.ศ. 2556 หรือ World Book Capital 2013 ตามหลักเกณฑ์ของ Unesco โดยเปิดเวทีสาธารณะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่สนใจเรื่องการส่งเสริมการอ่าน ได้ร่วมกันเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเรียนรู้จากบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการอ่านทุกภาคส่วน เพื่อสะท้อนประสบการณ์ ปัญหา อุปสรรค ในการอ่านของผู้เข้าร่วมงานสมัชชาการอ่าน และร่วมกันเสนอทางออก เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งการอ่าน และปูพื้นฐานสร้างนิสัยรักการอ่านของคนกรุงเทพมหานคร
สำหรับข้อเสนอแนะจากกลุ่มสมัชชาผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ในการเสวนาประกอบด้วย 1. การทำให้หนังสือที่คนอยากอ่านและควรอ่าน หนังสือดีมีคุณภาพ มีเนื้อหาสาระน่าสนใจ เผยแพร่กระจายหนังสือสู่กลุ่มเป้าหมายโดยตรง และหน่วยงานที่เป็นสมาชิกภาคีช่วยกันแนะนำบอกต่อถึงหนังสือที่ดี 2. การสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในเด็กเล็กอายุ 0–12 ปี โดยบ้านควรเป็นต้นแบบในการสร้างวัฒนธรรมปลูกฝังการอ่านในเด็ก และโรงเรียนควรจัดกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือ เช่น สัปดาห์รักการอ่าน สัปดาห์ห้องสมุด งานวิชาการ เป็นต้น ตลอดจนหน่วยงานในพื้นที่ ชุมชน วัด ร่วมมือกัน ส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน 3. การสร้างวัฒนธรรมการอ่านในวัยรุ่นอายุ 13–15 ปี ควรเริ่มที่ตัววัยรุ่นก่อน ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของวัยรุ่น การสร้างสภาวะแวดล้อมรักการอ่านในกลุ่มเพื่อน ร่วมกันจุดประกายให้ผู้อื่นเห็นถึงความสำคัญของการอ่าน 4. การสร้างวัฒนธรรมการอ่านวัยทำงาน และผู้สูงอายุ ควรกำหนดเวลาเปิดและปิดบริการของห้องสมุด เช่น การบริการนอกเวลาราชการและวันหยุดราชการ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปใช้บริการได้สะดวกยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดสังคมการอ่านร่วมกัน อีกทั้งการให้เด็กอ่านหนังสือให้ผู้ใหญ่ที่มีปัญหาทางด้านสายตาฟัง สนับสนุนการหาหนังสือใหม่ๆ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และ 5. การเข้าถึงพื้นที่การอ่านได้ง่ายและสะดวก การเพิ่มพื้นที่ในการอ่านตามห้างสรรพสินค้า การจัดกิจกรรมการอ่านให้เหมาะสมกับความสนใจของประชาชน การประสานห้องสมุดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ในการเปิดบริการให้ทุกคนเข้าถึงการอ่านโดยเท่าเทียมกัน การจัดหาสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าไปใช้บริการ ตลอดจนบรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การอ่านหนังสือ นอกจากนี้กลุ่มสมัชชาตัวแทนนักเขียน สำนักพิมพ์ ร้านค้า ควรร่วมมือร่วมใจกันสร้างกลไกขับเคลื่อนองค์กร กำหนดหน้าที่และบทบาทอย่างชัดเจน ส่งเสริมให้เกิดการสร้างบรรยากาศของเมืองแห่งการอ่าน แลกเปลี่ยนความคิดประสบการณ์ วางเป้าหมายวิสัยทัศน์ ประกาศความร่วมมือของกลุ่มภาคีเครือข่าย MOU ในการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจนเต็มรูปแบบ
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครจะรวบรวม ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะไปกำหนดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนให้ประชาชนรักการอ่านหนังสือ อีกทั้งการรณรงค์ส่งเสริมและสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้น่าสนใจ ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปรักการอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเปิดพื้นที่การเข้าถึงการอ่าน การจัดหาพื้นที่รองรับการอ่านหนังสือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการอ่านหนังสือนับว่าสิ่งสำคัญกว่าการได้รับรางวัล อยากให้ประชาชนคนไทยอ่านหนังสือกันมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่ เป็นมหานครแห่งการอ่านอย่างยั่งยืน ตลอดจนผลักดันให้กรุงเทพมหานครเดินหน้าเป็นมหานครแห่งการอ่าน ในปีพ.ศ.2556 หรือ World Book Capital 2013 ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น