ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กทม. เห็นชอบขยายจุดผ่อนผันเพิ่มเติม 280 จุด

กทม. เห็นชอบขยายจุดผ่อนผันเพิ่มเติม 280 จุด

เดินหน้าจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยสอดคล้องโครงการประชาวิวัฒน์ อนุมัติเพิ่มเติมจุดผ่อนผัน 280 จุด ให้ผู้ค้า 7,356 ราย พร้อมนำระบบสารสนเทศมาใช้จัดเก็บฐานข้อมูล และเตรียมเสนอรัฐอุดหนุดงบเพิ่มเติม จัดสวัสดิการเบี้ยประกันภัยให้แก่แรงงานนอกระบบเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

(17 ก.พ. 54) เวลา 12.30 น. ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดระเบียบจุดผ่อนผันให้แก่ผู้ค้าว่า คณะกรรมการได้เห็นชอบในหลักการอนุมัติจุดผ่อนผันเพิ่มเติมอีก 280 จุด จำนวนผู้ค้า 7,356 ราย ซึ่งเกินเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ คือ 200 จุด และผู้ค้าจำนวน 5,000 ราย แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการปรับลดจำนวนจุดและรายที่ไม่เป็นไปตามประกาศกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 48 ใน 5 จุดกวดขันพิเศษ ได้แก่ ทางขึ้นลงสะพานลอย ศาลาที่พักผู้โดยสาร ตู้โทรศัพท์ ไปรษณีย์ ห้องสุขา และทางข้าม ทางแยก รวมทั้งทางเข้าออกอาคารบ้านเรือนของประชาชน โดยให้กำหนดเกณฑ์การกำหนดบทลงโทษกรณีฝ่าฝืน เช่น การเตือน การห้ามขายชั่วคราวและการห้ามขายถาวรด้วย

เสนอ บชน. กำหนดระยะเวลาจุดผ่อนผันคราวละ 2 ปี

หลังจากนี้กทม. จะได้เสนอจุดผ่อนผันซึ่งที่ประชุมให้ความเห็นชอบไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อพิจารณาต่อไป โดยกทม. ได้เสนอกำหนดระยะเวลาในการผ่อนผันไว้ 2 ปี แต่การพิจารณาระยะเวลาและจุดเป็นอำนาจของ บชน. ซึ่งในที่ประชุมผู้แทนของ บชน. ได้แสดงความเห็นว่าควรอนุญาตปีต่อปี เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจากผู้ค้ามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อ บชน. อนุมัติแล้ว สำนักเทศกิจจะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบต่อไป อาทิ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ในฐานะผู้ประสานงานโครงการประชาวิวัฒน์ร่วมกับรัฐบาล ให้จัดทำระบบสารสนเทศรองรับการออกบัตรผู้ค้า และผู้ช่วยผู้ค้า สำนักงานเขตให้เตรียมการขึ้นทะเบียน การออกบัตรและการอบรมผู้ค้า และสำนักการจราจรและขนส่งให้ดำเนินการขีดสีตีเส้นและจัดทำป้ายแสดงเขตและประกาศอื่นๆ นอกจากนี้ให้คณะทำงานพิจารณาเพิ่มเติมจุดที่เป็นเสน่ห์ของเมือง ถนนคนเดิน โดยอาจจัดเฉพาะวันอาทิตย์ และดูแลเรื่องระบบการจราจรเพื่อให้การจัดระเบียบเมืองมีความคืบหน้ามากขึ้นด้วย

นำโครงการมอเตอร์ไซค์ยิ้มมาเป็นต้นแบบเพิ่มสวัสดิการแรงงานนอกระบบ

นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังเตรียมโครงการสวัสดิการให้กับผู้ค้า และผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบ โดยใช้โครงการมอเตอร์ไซค์ยิ้มเป็นโครงการต้นแบบ ให้ผู้ค้าสามารถเลือกชำระเบี้ยประกันได้ 2 แบบ แบบที่ 1 ชำระ 100 บาทต่อเดือน จะได้รับเงินชดเชยในกรณีพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลวันละ 200 บาท แต่ไม่เกิน 20 วันต่อปี แบบที่ 2 ชำระ150 บาทต่อเดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพด้วย โดยกทม. จะได้เสนอให้รัฐบาลจัดงบประมาณอุดหนุนโครงการดังกล่าว แบ่งเป็น 70 : 30 สำหรับแบบที่ 1 โดยประชาชนจะจ่ายเพียง 70 บาท และรัฐสนับสนุน 30 บาท และแบบ 100 : 50 สำหรับแบบที่ 2 โดยประชาชนจ่าย 100 บาท รัฐสนับสนุน 50 บาท

ยินดีหากรัฐบาลและท้องถิ่นอื่นนำโครงการนำร่องของกทม.ไปขยายผลช่วยเหลือประชาชน

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับจุดผ่อนผันที่ผ่านการพิจารณาจากบชน.คาดว่าจะสามารถประกาศได้กลางเดือน มี.ค. ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าในกทม. 7,356 ราย จากทั้งหมดกว่า 20,000 ราย ได้ประกอบอาชีพที่สุจริตและได้รับสวัสดิการเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเมื่อดำเนินการไปตามขั้นตอนแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการที่กทม. และรัฐบาลสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน จะทำให้สามารถช่วยเหลือคนไทยได้มากยิ่งขึ้น โดยกทม. แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้กทม. จะมีพื้นที่เล็กแต่ก็สามารถดำเนินโครงการต่างๆ ได้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทั้งโครงการมอเตอร์ไซค์ยิ้ม ที่รัฐบาลนำไปขยายผลให้ครอบคลุมจังหวัดอื่นๆ โครงการบ้านยิ้มสำหรับข้าราชการกทม. ซึ่งเตรียมเดินหน้าสู่ภาคประชาชน ทั้งนี้หากรัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นต้องการนำโครงการนำร่องของกทม.ไปปฏิบัติก็จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น