ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กทม. จับมือนิด้า ทำวิจัยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม มุ่งสร้างกรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่

(3 ก.พ. 54) ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ลงนามความร่วมมือดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมในกรุงเทพมหานคร เพื่อทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ โดยได้รับความร่วมจากมหาวิทยาลัยภาครัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ รวม 25 แห่ง ร่วมเป็นเครือข่ายดำเนินการวิจัย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนร่วมเป็นวิทยากรนำร่องด้านการศึกษาชุมชน และสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทยร่วมทำงานวิจัยสำรวจเชิงปริมาณ โดยมี นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการวิจัยดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อดำเนินการตามแผนโครงการร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ในการแก้ไขความไม่เสมอภาค ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในกรุงเทพฯ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชนและภาคีต่างๆ ในการพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขแม้เกิดภาวะวิกฤต อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างเป็นระบบ ให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้และสามารถพึ่งตนเองได้ โดยกทม. ได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์ปัญหาตลอดจนนำผลการวิจัยไปสู่การปฏิบัติและประเมินผล เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดกิจกรรมเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า โครงการนี้จะดำเนินการสำรวจความเหลื่อมล้ำทางสังคมใน 6 ประเด็น คือ 1. การเข้าถึงระบบการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน 2. การพัฒนาด้านกายภาพของชุมชน 3. การแก้ไขปัญหาความยากจน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน 4. การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยอำนาจรัฐ 5. การเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ และ 6.การแสดงความคิดเห็น ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นการวิจัยแบบมีส่วนร่วมระหว่างแกนนำประชาชน นักวิจัย นักวิชาการและผู้ประสานงานในพื้นที่ มีลักษณะเนื้องานเป็นการวิจัยและพัฒนา ที่เน้นทั้งคุณภาพและปริมาณรวมทั้งใช้วิธีวิจัยเชิงทดลอง โดยมีบุคคลที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ ผู้นำชุมชน ผู้นำกลุ่มและประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจากประชากรในชุมชน จาก 96 ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะใช้เวลาในการดำเนินการ 8 เดือน ระหว่างเดือน ก.พ. - ก.ย. 54

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น