ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กทม. เปิดตัวโครงข่าย “ซูเปอร์สกายวอล์ค” ทางเดินลอยฟ้าของคนกรุง

ผู้ว่าฯกทม. เปิดตัวโครงข่าย “ซูเปอร์สกายวอล์ค” ทางเดินลอยฟ้าระยะทาง 50 กม. ให้คนกรุงเทพฯ เดินทางได้สะดวกขึ้น และลดการใช้รถส่วนตัว พร้อมก่อสร้าง มี.ค. 54 ลั่น 16 กม.แรก ย่านถนนสุขุมวิท พญาไท รามคำแหง และวงเวียนใหญ่ เสร็จภายใน 18 เดือน นับเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ จะมีโครงข่ายทางเดินลอยฟ้าสำหรับประชาชนอย่างบูรณาการ เป็นประโยชน์ในวงกว้างอย่างยั่งยืน
(23 ก.พ. 54) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว “โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ค” (SuperSkywalk System) หรือ “ทางเดินลอยฟ้า” โดยมีดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และสื่อมวลชน ร่วมงาน ณ ห้อง Ballroom 2 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล

16 กม.แรก ย่านถนนสุขุมวิท พญาไท รามคำแหง และวงเวียนใหญ่ เสร็จภายใน 18 เดือน
โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ค ถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ “กรุงเทพฯ ก้าวหน้า” มุ่งแก้ปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน จะแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส ซึ่งเฟสแรกมีระยะทางรวม 16 กม. โดยจุดที่ 1 ระยะทางประมาณ 12 กม. ตลอดแนวถนนสุขุมวิทจากซอยนานาไปสิ้นสุดที่ซอยแบริ่ง จุดที่ 2 ระยะทางประมาณ 3 กม. ตามแนวถนนพญาไท จุดที่ 3 ระยะทางประมาณ 1.3 กม. ตามแนวถนนรามคำแหง และจุดที่ 4 ระยะทางประมาณ 0.5 กม. บริเวณวงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี โดยเริ่มก่อสร้างในเดือน มี.ค. 54 และจะแล้วเสร็จภายใน 18 เดือน ส่วนเฟสที่2 ระยะทางประมาณ 32 กม. มีแผนจะก่อสร้างในปี 2555-2557 ครอบคลุมพื้นที่ย่านถนนราชดำริ สีลม สาทร เพชรบุรี รามคำแหง ทองหล่อ เอกมัย พหลโยธิน กรุงธนบุรี และบางหว้า โดยหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการจะทำให้คนกรุงเทพฯมีทางเดินลอยฟ้าเป็นระยะทางรวม 50 กม. จากโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คเดิม ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันความยาวประมาณ 1.5 กม. ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

คืนทางเท้าให้คนกรุงเทพฯ เชื่อมต่อจุดหมาย เดินทางได้สะดวก ลดการใช้รถส่วนตัว
โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คจะช่วยให้คนกรุงเทพฯ มีทางเดินลอยฟ้าที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง มีพื้นที่ในการเดินเท้ามากขึ้น ทำให้สามารถเดินไปยังจุดหมายปลายทางใกล้ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย และรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นการเชื่อมต่อจุดต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างบูรณาการ และเป็นประโยชน์ในวงกว้างอย่างยั่งยืน นอกจากนี้โครงสร้างของโครงข่ายยังได้ออกแบบให้รองรับกับระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ รวมถึงระบบขนส่งรถไฟฟ้า โดยเมื่อออกจากรถไฟฟ้าแล้ว สามารถเดินเท้าต่อไปยังจุดหมายปลายทางได้สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องกลัวแดดและฝน เพื่อให้การเดินเท้าเป็นทางเลือกแทนการขับรถ สำหรับการเดินทางระยะสั้นๆ นอกจากนี้ยังเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้าในเวลากลางคืน ด้วยไฟฟ้าส่องสว่างและกล้องวงจรปิดตรวจจับความเคลื่อนไหวตลอดแนวเส้นทางโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ค

โครงสร้างซูเปอร์สกายวอล์ค ใช้เก็บท่อร้อยสายไฟ
สำหรับงบประมาณการก่อสร้างโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คในเฟสแรกประมาณ 5,200 ล้านบาท ส่วนเฟสที่สองของโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ค จะก่อสร้างในปี 2555-2557 และคาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ตัวโครงสร้างของซูเปอร์สกายวอล์ค ได้ถูกออกแบบเพื่อให้สามารถใช้เป็นที่เก็บท่อร้อยสายไฟได้ด้วย โดยในอนาคตสามารถจะย้ายสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์มาเก็บซ่อนไว้ที่โครงของซูเปอร์สกายวอล์คได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ไม่มีสายไฟเกะกะสายตาตามถนนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ทัศนียภาพของกรุงเทพฯ สวยงามน่าอยู่ยิ่งขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น