(1 ก.พ. 54) นายชาตินัย เนาวภูต รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นทางการจัด การปัญหามลพิษทางอากาศและเสียงในกรุงเทพมหานคร ปี 2555-2559 ณ โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข จัดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน และประชาชน ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อทิศทางการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศและเสียงในกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็น จำนวน 300 คน
กทม. ชี้ยุทธศาสตร์พัฒนากรุงเทพฯ เป็นมหานครสิ่งแวดล้อม
รองปลัดฯกทม. กล่าวว่า สาเหตุของมลพิษทางอากาศและเสียงในกรุงเทพมหานครเกิดจากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 6 ล้านคัน อีกทั้งการก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ดังนั้นกทม. จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครแห่งสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาการร้องเรียน ลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประชาชน โดยการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและเสียงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษจากยานพาหนะ เช่น การตรวจจับควันดำ รถร่วมบริการ รถสองแถว และรถราชการในสังกัดกรุงเทพมหานคร การตรวจวัดระดับเสียงจากเรือโดยสารในคลอง รถจักรยานยนต์ การตรวจสอบร้านจำหน่ายท่อไอเสียรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังรวมถึงการควบคุมมลพิษจากแหล่งอื่น เช่น การควบคุมและลดฝุ่นละอองจากสถานที่ก่อสร้าง การล้าง และดูดฝุ่นบนถนน การจัดการมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนผู้ขับขี่รถหมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อลดมลพิษ และกิจกรรมอาสาสมัครพิทักษ์อากาศของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
คุณภาพอากาศและเสียงในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มดีขึ้น เร่งแก้ปัญหาตรงจุด
นายวิจารย์ สิมาฉายา รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงสถานการณ์คุณภาพอากาศและเสียง ว่า แหล่งกำเนิดมลพิษอากาศเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การเผาไหม้ในพื้นที่ และยานพาหนะ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) และสารอินทรีย์ระเหยซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง โดยพบว่า ในปี 2540-2553 พื้นที่ทั่วไป เช่น ที่อยู่อาศัยมีฝุ่นละอองขนาดเล็กอยู่ในค่ามาตรฐานและมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ริมถนนสายหลักมีแนวโน้มลดลงแต่ยังคงมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐาน โดยในปี 2553 พบว่า บริเวณริมถนนสายหลักมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก คิดเป็นค่าเฉลี่ยมาตรฐาน 24 ชั่วโมงวัดได้ 195.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากที่กำหนดให้ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีค่าเฉลี่ยรายปี 55.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากที่กำหนดให้ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่คุณภาพเสียงต้องมีค่ามาตรฐานไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ แต่ปัจจุบันระดับเสียงดังบริเวณถนนอยู่ที่ 70.6 เดซิเบลเอ มีแนวโน้มเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานเช่นเดียวกัน ซึ่งหากเปรียบเทียบคุณภาพอากาศและเสียงกับเมืองใหญ่ในภูมิภาคเดียวกันแล้ว พื้นที่กรุงเทพมหานครมีคุณภาพอากาศดีกว่าเมืองปักกิ่ง โคลัมโบ นิวเดลี เซียงไฮ้ ขณะที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับไทเป และโซล แต่น้อยกว่าสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามเมื่อทราบปัญหาและแหล่งกำเนิดที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ดังเช่นในปี 2555 ประเทศไทยจะหันมาใช้น้ำมันยูโร 4 เพื่อลดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งเป็นสารพิษ ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทางเดินหายใจ และมีผลต่อโอโซนของโลก เป็นต้น
เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาคุณภาพอากาศและเสียงดีขึ้นใน 5 ปี
ในการสัมมนาได้มีการอภิปรายหัวข้อ “ทำอย่างไรให้ กทม.มีคุณภาพอากาศและเสียงดีขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ ผู้แทนชุมชน และตัวแทนเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อม ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งสรุปการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศและเสียง ประกอบด้วย บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด แก้ไขปัญหาการนำรถยนต์เก่ามาใช้จัด ทำแผนที่เขตมลพิษพร้อมทั้งประเมินความสามารถในการรองรับปริมาณมลพิษของแต่ละพื้นที่ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล การส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนระบบรางเต็มรูปแบบ เข้มงวดการใช้ประโยชน์พื้นที่และกำหนดพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ภาคราชการต้องปรับตัวในการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนของประชาชน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีลดมลพิษและรถประหยัดพลังงาน ขยายเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อากาศ จัดหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียนทุกสังกัดเพื่อนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกสาธารณะ การกำหนด ให้มีแผนปฏิบัติการที่ดีสำหรับกิจการก่อสร้าง การเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาพร้อมกำหนดตัวชี้วัดในการขับเคลื่อน และมุ่งแก้ไขปัญหาที่ต้นตอไม่ใช่ปลายเหตุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น