บนต.กทม. รุ่น 12 เสนอดึงเกษตรกรร่วมพัฒนาที่ดินเพิ่มสีเขียวให้กรุงเทพฯ
นบต.กทม.รุ่น 12 ชี้ผลการศึกษาเพิ่มพื้นที่สีเขียวกรุงเทพฯ ดึงเกษตรกรมีส่วนร่วมพัฒนาที่ดินและผลผลิต โดยภาครัฐสนับสนุนแก้ปัญหาน้ำเสีย ศัตรูพืช บังคับใช้กฎหมายจริงจัง และพัฒนาผลผลิตให้อาชีพเกษตรกรมั่นคง มีเกียรติ มีรายได้ พร้อมสร้างผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดในวงกว้าง และสร้างจิตสำนึกลูกหลานสืบทอดอาชีพ หวังให้อาชีพเกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ
(16 ก.พ. 54) เวลา 09.00 น. : โรงแรมเวียงใต้ เขตพระนคร : นายโกสิน เทศวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. ในฐานะหัวหน้าคณะศึกษาดูงานหลักสูตรผู้บริหารมหานครระดับต้น รุ่นที่ 12 พร้อมด้วย นายหรรษารมย์ โกมุทผล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการกทม. นายจรูญ มีธนาถาวร ผู้อำนวยการเขตจอมทอง นางเพียงเพ็ญ สุขหมื่น ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาการบริหาร สถาบันพัฒนาข้าราชการกทม. ผู้แทนจากสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนสำนักพัฒนาสังคม และนายสุเทพ ธัญญสิทธิ์ วิทยากรที่ปรึกษาฯ ร่วมเป็นคณะวิทยากรในการรับฟังรายงานผลการศึกษา เรื่อง การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการสร้างพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษาพื้นที่เขตจอมทอง ซึ่งเป็นการนำเสนอผลการศึกษาเชิงวิชาการตามหลักสูตรก่อนสำเร็จการศึกษาของผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารมหานครระดับต้น (บนต.กทม.) รุ่นที่ 12 ประจำปีงบประมาณ 2554 โดยการประมวลความรู้ วิเคราะห์แนวทางการศึกษา และกรณีศึกษาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแนวทางและประโยชน์ต่อการพัฒนากรุงเทพมหานครในอนาคต
พัฒนาศักยภาพพื้นที่เกษตร สร้างสมดุลคนกับสิ่งแวดล้อม
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมผู้บริหารมหานครระดับต้น รุ่นที่ 12 ได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการสร้างพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษาพื้นที่เขตจอมทอง เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเป็น 1 ใน 9 ประเภทของพื้นที่สีเขียวตามแผนแม่บทพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร ที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ชุมชน ลดอุณหภูมิความร้อนของสภาพอากาศ ช่วยรักษาความสมดุลของสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งรับน้ำที่สำคัญของชุมชน ทำให้ทัศนียภาพสวยงาม ร่มรื่น อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ขณะเดียวกันพื้นที่เขตจอมทอง ยังเป็น 1 ใน 26 เขตเกษตรกรรมของกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่การเกษตรมากกว่า 2,000 ไร่ มีเกษตรกร จำนวน 378 ราย และมีผลไม้ขึ้นชื่ออย่าง “ส้มบางมด” รวมถึงสวนผัก และไม้ดอกไม้ประดับ อีกทั้งยังมีพื้นที่เกษตรกรรมรกร้างมากถึง 407 ไร่ ซึ่งสามารถพัฒนาศักยภาพในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ชี้ปัญหาพื้นที่เกษตรเขตจอมทอง พร้อมวอนภาครัฐเร่งช่วยเหลือ
จากการศึกษากลุ่มเกษตรกรพื้นที่เขตจอมทองจำนวน 163 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 378 ราย พบว่าพื้นที่เกษตรกรรมประสบปัญหาหลักในเรื่องน้ำเน่าเสีย พื้นที่ถูกปิดล้อมจากหมู่บ้านจัดสรรและการถมที่คูคลอง ศัตรูพืชและโรคพืช รวมถึงปัจจัยที่ใช้ในการผลิตมีราคาสูงขึ้น ซึ่งต้องการให้กทม. สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในการส่งเสริมให้ความรู้ด้านวิชาการเกษตร การจัดการคุณภาพน้ำให้เหมาะกับการทำเกษตรกรรม เพิ่มมาตรการใช้กฎหมายผังเมือง รวมถึงคุ้มครองพื้นที่ทำการเกษตรต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากกระบวนการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรมีความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่เกษตร เนื่องจากมีการรวมกลุ่มกันค่อนข้างเข้มแข็ง ตลอดจนมีศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรในพื้นที่ถึง 2 ศูนย์ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลการพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูป มีการประชุมคณะกรรมการฯ ต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมกับกรุงเทพมหานครในการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาเพิ่มที่เกษตรกรรม โครงการเกษตรผสมผสานและเกษตรพอเพียง โครงการเกษตรปลอดสารพิษ โครงการเกษตรชีวภาพ โครงการพัฒนาเกษตรเพื่อศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงโครงการอื่นๆ เช่น ลอกคูคลอง เป็นต้น เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวต่อไป
สร้างความมั่นคงอาชีพเกษตรกรรม สร้างสำนึกคนรุ่นหลังสืบทอดอาชีพ
ด้านคณะวิทยากรได้เสนอแนะแนวคิดเพิ่มเติมว่า ปัญหาพื้นที่สีเขียวไม่เพียงแต่ใช้มาตรการทางกฎหมายในการบังคับใช้ แต่รวมถึงการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นหลังตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่สีเขียว อีกทั้งส่งเสริมให้อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีเกียรติและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพื่อสืบทอดอาชีพและดำรงไว้ซึ่งพื้นที่เกษตรกรรม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเดินหน้าโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อีกทั้งสร้างผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ให้มีมูลค่ามากขึ้น สร้างชื่อผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และสร้างตลาดเพื่อรองรับสินค้า เพื่อสร้างรายได้และความมั่นคงในชีวิตให้แก่เกษตรกรและคนรุ่นหลังสนใจทำการเกษตรมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่สีเขียวเพิ่มตามไปด้วย ที่สำคัญเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว จะเป็นจริงได้ จะต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้อาชีพเกษตรกรของกรุงเทพมหานคร มีความเข้มแข็ง เป็นเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเลี้ยงคนกรุงเทพฯ และมุ่งสู่การเป็นครัวโลกในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น