ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประชุมแผนงานผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาสุขภาพคนเมืองต่อเนื่อง

(8 ก.พ. 54) เวลา 09.30 น. ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม. : นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมผลักดันแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพคนเมืองกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553-2556 ไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการและกิจกรรม ประจำปี 2553 ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานตามแผน ประจำปี 2554 และกำหนดแผนดำเนินงานสำหรับปีงบประมาณ 2555 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาสุขภาพของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ภายใต้วิสัยทัศน์ กรุงเทพมหานครเมืองแห่งสุขภาพที่คนกรุงเทพ มีความสุข ปลอดภัย มีรายได้มั่นคงและสภาพแวดล้อมน่าอยู่อาศัย โดยการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

กำหนด 4 ยุทธศาสตร์ 7 เป้าหมายพัฒนาสุขภาพคนเมือง
สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพคนเมืองกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2553-2556 เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งสุขภาพ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขเทียบเท่าเมืองสำคัญในระดับสากล โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ประกอบด้วย การส่งเสริมให้คนกรุงเทพฯ มีสุขภาพที่ดี การพัฒนาเศรษฐกิจ การจัดการสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายในการพัฒนา 7 เรื่อง ได้แก่ 1. กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ประชาชนมีความสุข และมีสุขภาพดี 2. สังคมกรุงเทพฯ เป็นสังคมสมานฉันท์ เอื้ออาทรต่อกัน และปลอดภัยจากอาชญากรรม 3. ประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานและมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต 4. กรุงเทพฯ มีศิลปวัฒนธรรมของเมืองที่ได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่ 5. เศรษฐกิจเมืองกรุงเทพฯ มีความมั่นคง ประชาชนมีรายได้สามารถดูแลเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ 6. กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่อาศัยมีสภาพแวดล้อม ปลอดภัย สะอาด ร่มรื่น และสวยงาม และ 7. การบริหารจัดการของกรุงเทพมหานครมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ผลดำเนินงานปี 53 อัตราการป่วยลดลง สภาพแวดล้อมดีขึ้น
ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการและกิจกรรมตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพคนเมืองในปี 2553 อาทิ โครงการรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า อัตราการป่วย รวมถึงอัตราผู้ป่วยที่เสียชีวิตลดลง โดยจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกจากเดิมในปี 2551 คิดเป็น 127.3 ต่อแสนประชากร ลดลงเหลือ 103 ต่อแสนประชากรในปี 2553 การส่งเสริมชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรค โดยสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุข 10,676 คน ให้มีการปฏิบัติเชิงรุกเพื่อดูแลหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ตลอดจนจัดให้มีบริการดูแลสุขภาพในศูนย์สุขภาพชุมชน 1,671 แห่ง แก้ไขปัญหายาเสพติดโดยการป้องกันและบำบัดรักษาการติดยาเสพติดในชุมชน 165 ชุมชน รวม 17 เขต ลดปริมาณมูลฝอยได้ร้อยละ 0.25 ตันต่อวัน สามารถลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) ในพื้นที่ริมถนนผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 94.22 การลดพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมด้วยการติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 4,224 กล้อง เป็นต้น

รองปลัดฯ เผยสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบการพัฒนาสุขภาพคนเมือง
รองปลัดกทม. กล่าวว่า ปัญหาการเมืองภายในประเทศ อีกทั้งปัญหาเศรษฐกิจ และสถานการณ์ความวุ่นวายระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสุขภาพคนเมือง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการผลักดันแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพคนเมืองให้บรรลุเป้าหมาย อย่างไรก็ตามกทม. ต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลควรตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสุขภาพคนเมือง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมรายได้ และการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อคนกรุงเทพฯ มีสุขภาพดี คุณภาพชีวิตได้มาตรฐาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น