ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เปิดอุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง ป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

กทม. เปิดอุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. และความยาว 5 กม. เพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำเท่ากับการระบายน้ำออกจากสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 4 สระ ภายในเวลาไม่ถึง 1 วินาที พร้อมเดินหน้าสร้างอุโมงค์ยักษ์รัชดาภิเษก-สุทธิสาร อุโมงค์ยักษ์ดอนเมือง และอุโมงค์ยักษ์สวนหลวง ร.9 แล้วเสร็จไม่เกิน 5 ปี
(15 ก.พ. 54) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดอุโมงค์ยักษ์ พระรามเก้า-รามคำแหง ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อุโมงค์ยักษ์ภายใต้นโยบายกรุงเทพฯก้าวหน้าของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ร่วมพิธี ณ สถานีสูบน้ำพระโขนง ซอยย่อยสาวณิต ซ.สุขุมวิท 50 ถ.สุขุมวิท

กทม. สร้าง 4 อุโมงค์ยักษ์ เพิ่มขีดความสามารถระบายน้ำใต้ดิน
กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการก่อสร้างระบบอุโมงค์ยักษ์ 4 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของกรุงเทพฯ ประกอบด้วย อุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง อุโมงค์ยักษ์รัชดาภิเษก-สุทธิสาร อุโมงค์ยักษ์ดอนเมือง และอุโมงค์ยักษ์สวนหลวง ร.9 ซึ่งอุโมงค์ยักษ์ทั้ง4 แห่ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 เมตร นับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีขนาดใหญ่กว่าอุโมงค์ระบายน้ำทั่วไปซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 ม. ถึง 3 เท่า โดยจะสามารถระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีกมหาศาลเท่ากับการระบายน้ำออกจากสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 4 สระ ภายในเวลาไม่ถึง 1 วินาที มีความยาวของอุโมงค์ยักษ์ 4 แห่ง รวม 34.5 กม. ทำให้ปริมาณน้ำ ที่ไหลผ่านอุโมงค์ใต้ดินเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันไหลด้วยปริมาณรวมกันประมาณ 95 ลบ.ม./วินาที เป็น 240 ลบ.ม./วินาที

เดินหน้าก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์อีก 3 แห่งต่อเนื่อง
สำหรับอุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง สามารถระบายน้ำได้ปริมาณมากกว่า 60 ลบ.ม./วินาที มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. และความยาว 5 กม. จุดเริ่มต้นที่คลองลาดพร้าวเชื่อมกับคลองแสนแสบ และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ ห้วยขวาง และสะพานสูง อุโมงค์ยักษ์ที่สอง คือ อุโมงค์ยักษ์รัชดาภิเษก-สุทธิสาร จะเริ่มก่อสร้างกลางปี 54 เพื่อช่วยระบายน้ำในเขตพื้นที่ห้วยขวาง ดินแดง จตุจักร พญาไท ดุสิต และบางซื่อ โดยอุโมงค์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาวประมาณ 6.5 กม. เริ่มจาก ถ.รัชดาภิเษกตัดกับ ถ.สุทธิสารไปสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ยักษ์ที่สาม คือ อุโมงค์ยักษ์ดอนเมือง เป็นอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินที่ยาวที่สุด มีเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 6 ม. ความยาว 13.5 กม. โดยครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 100 ตารางกม. ย่านจตุจักร หลักสี่ บางเขน ดอนเมือง และบางส่วนของพื้นที่เขตสายไหม และอุโมงค์ยักษ์ที่สี่ คือ อุโมงค์ยักษ์สวนหลวง ร.9 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. และมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที มีความยาว 9.5 กม. เริ่มจากสวนหลวง ร.9 ไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์นี้จะทำให้พื้นที่กว่า 85 ตารางกม.ได้รับประโยชน์ รวมถึงพื้นที่ย่านประเวศ พระโขนง บางนา และสวนหลวง โดยอุโมงค์ยักษ์ดอนเมือง และอุโมงค์ยักษ์สวนหลวง ร.9 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 55 คาดว่าอุโมงค์ทั้งหมดจะก่อสร้างแล้วเสร็จไม่เกิน 5 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น