ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ผสานแนวร่วมควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกรุงเทพฯ

ผสานแนวร่วมควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกรุงเทพฯ
กทม. จับมือเครือข่าย เดินหน้าจัดทำแผนบูรณาการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร แก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สร้างแรงจูงใจให้เยาวชนและประชาชน ลด ละ เลิก ดื่มแอลกอฮอล์
(28 ก.พ. 54) ณ ห้องราชา 1 โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค : พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการจัดทำแผนบูรณาการการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ของกรุงเทพมหานครที่ปฏิบัติงานด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในมุมมองของนักวิชาการ โดยมีข้าราชการกรุงเทพมหานครจากสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักเทศกิจ สำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว สำนักงานเขต และผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 155 คน เข้าร่วมประชุม สำหรับกิจกรรมการประชุม ประกอบด้วย การบรรยาย อภิปราย และแลกเปลี่ยนความรู้ เนื้อหาเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในมุมมองของนักวิชาการด้านกฎหมาย สังคม การแพทย์และสาธารณสุข สถานการณ์ปัญหาสุราในประเทศไทย แผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ และแผนบูรณาการการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร โดยวิทยากรจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมสุขภาพจิต สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และมูลนิธิเพื่อนหญิง
พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหามาโดยตลอด มีการดำเนินการด้านต่างๆ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2553 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้จำนวนนักดื่มลดลงมากที่สุด และเป็นรูปธรรม รวมถึงมีการกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาให้ปลอดจากแหล่งอบายมุข ส่งเสริมมาตรการควบคุมการเข้าถึงแหล่งอบายมุขหรือสถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหายาเสพติดและอบายมุขตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพคนเมืองกรุงเทพมหานคร 2553 – 2556 เพื่อให้กรุงเทพมหานครก้าวสู่เป้าหมายการเป็นเมืองที่ปลอดภัย ทั้งนี้ การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ เครือข่ายประชาชน และเยาวชน จะเป็นกำลังสำคัญในการควบคุมและแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสำเร็จและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและสังคมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น