ถกปัญหาการศึกษากลุ่มกรุงเทพกลาง
9 เขตกรุงเทพกลางถกปัญหาจัดการศึกษาโรงเรียนในสังกัด ชี้ปัญหาครูโอนย้ายส่งผลกระทบการเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง เตรียมขยายสัญญาจาก 3 ปีเป็น 5 ปี พร้อมเพิ่มสวัสดิการครูเพื่อขวัญและกำลังใจ ด้านรองผู้ว่าฯ ทยา แจงแนวทางแก้ไขปัญหาครู เตรียมให้ทุนนักเรียน ม.6 ในสังกัดเรียนต่อครุศาสตร์ สร้างครูพันธุ์ใหม่ ปลูกฝังวิชาชีพครูพร้อมแก้ปัญหาครูโอนย้ายในอนาคต
(26 ก.พ. 54) เวลา 10.00 น. : นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการสัญจร กลุ่มกรุงเทพกลาง เพื่อรับฟังการดำเนินงานตามนโยบายการศึกษาของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 9 สำนักงานเขตประกอบด้วย เขตพญาไท ดุสิต ดินแดง ราชเทวี ป้อมปราบศัตรูพ่าย วังทองหลาง สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย และพระนคร โดยมี นางบุษกร คงอุดม ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการศึกษา ผู้อำนวยการเขต ผู้บริหารโรงเรียน และหน่วยศึกษานิเทศก์ ร่วมการประชุม ณ โรงเรียนสามเสนนอก เขตดินแดง
แจงปัญหาการจัดการศึกษา 41 โรงเรียนในสังกัด
กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง มีโรงเรียนในสังกัดทั้งสิ้น 41 โรงเรียน ครู 1,112 คน นักเรียน 24,347 คน จัดการเรียนการสอนโดยเน้นความเป็นเลิศด้านศิลปวัฒนธรรม คุณธรรม และจริยธรรม เนื่องด้วยเป็นแหล่งชุมชนใจกลางเมือง มีจำนวนประชากรหนาแน่น อีกทั้งเป็นแหล่งธุรกิจการค้า แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น วัด วัง โบราณสถานซึ่งเป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรม และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก โดยปัญหาและอุปสรรคของการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ วิกฤตทางการเมืองในพื้นที่เขตชั้นในส่งผลนักเรียนไม่สามารถเรียนหนังสือได้อย่างเต็มที่ อาคารสถานที่คับแคบไม่มีพื้นที่ให้นักเรียนทำกิจกรรม ขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน ไม่มีสวัสดิการบ้านพักครูและการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ และไม่มีเจ้าหน้าที่ธุรการ การเงินและบัญชีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนขนาดเล็ก การจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นเวลาเปิดภาคเรียนอีกทั้งปัญหาการทำวิทยฐานะ ตลอดจนปัญหาครูต้องเข้าร่วมกิจกรรมของสำนักงานเขตและหน่วยงานภายนอกตามที่ร้องขอ ทำให้ครูสอนไม่เต็มที่ และที่สำคัญคือปัญหาครูโอนย้ายกลับภูมิลำเนาและไม่สามารถเรียกทดแทนตำแหน่งได้ในทันที ซึ่งผ่านมาในปี 2551 มีครูในสังกัดกทม. ขอโอนย้ายกลับภูมิลำเนา จำนวน 178 คน ปี 2552 จำนวน 287 คน ปี 2553 456 คน และปี 2554 (ต.ค. - ก.พ.) จำนวน 341 คน และโอนย้ายแล้ว 153 คน
เร่งสางทุกปัญหาครูไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา
ทั้งนี้เบื้องต้น สำนักการศึกษาได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาครูโอนย้ายกลับภูมิลำเนา โดยจะแก้ไขสัญญาการดำรงอยู่ในตำแหน่งก่อนโอนย้ายจาก 3 ปีเป็น 5 ปี และจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 1 ปี เพื่อจัดหาครูผู้สอนทดแทน ซึ่งหากตำแหน่งดังกล่าวไม่มีตำแหน่งทดแทนจะไม่สามารถขอโอนย้ายได้ ขณะเดียวกันสำนักการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงกำหนดวันสอบเพื่อเข้ารับราชการครูให้พร้อมกับการสอบครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อคัดเลือกผู้ที่ตั้งใจจะทำงานกับกทม. โดยแท้จริง ในส่วนของการฝึกอบรมครูให้ปรับเวลาการอบรมเป็นช่วงปิดภาคเรียนและไม่ตรงกับช่วงสอบของนักเรียน ปัญหาขาดแคลนเจ้าหน้าที่ธุรการ การเงินและบัญชี ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดสอบ
ในส่วนของปัญหาอาคารสถานที่คับแคบได้พิจารณาให้การก่อสร้างอาคารใหม่ของโรงเรียนมีความสูงขนาด 6 ชั้นขึ้นไป อีกทั้งอาจจะออกแบบให้อาคารสูงขึ้นเพื่อให้มีห้องพักสำหรับครูไปพร้อมกัน ส่วนปัญหาการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ มูลค่ารวมกว่า 900 ล้านบาท ซึ่งเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2551 ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาผู้มีสิทธิ์เคาะราคาประมูล หากไม่มีปัญหาร้องเรียนจะสามารถประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เคาะราคาและดำเนินการตามขั้นตอนได้ทันเปิดภาคการศึกษา 2554 ซึ่งจะทำให้นักเรียนในสังกัดมีคอมพิวเตอร์ใช้ทุกคน
เตรียมแผนสร้างครูพันธุ์ใหม่และคืนครูให้นักเรียน
รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวเสริมว่า กทม.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนในสังกัดมีคุณภาพ ขณะเดียวกันก็แก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูควบคู่ไปด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน อาทิ ปัญหาครูไม่ตรงวุฒิการศึกษาซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 2,000 คนจาก 15,000 คน ขณะนี้แก้ไขโดยการจัดอบรมพิเศษต่อเนื่องเพื่อให้มีพื้นฐานในการสอนอย่างแม่นยำ การส่งเสริมให้ครูทำวิทยฐานะ และการแก้ไขปัญหาครูโอนย้าย เป็นต้น พร้อมกันนี้กทม. มีนโยบายที่จะปลูกฝังความเป็นครูให้แก่นักเรียนในสังกัด ในโครงการคุรุทายาทเพื่อสร้างครูพันธุ์ใหม่ โดยให้ทุนการศึกษานักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่สนใจสาขาวิชาครุศาสตร์ มีผลการเรียนดี และสนใจด้านการศึกษา ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี 50 ทุน และจะขยายโครงการต่อเนื่อง อีกทั้งโครงการคืนครูให้นักเรียน เพื่อให้ครูและนักเรียนมีความใกล้ชิดกันและเต็มที่กับการเรียนการสอนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หน้าที่หลักที่สำคัญของครูคือการอยู่กับนักเรียน หากงานใดไม่มีเหตุจำเป็นหรือเป็นเรื่องของหน่วยงานภายนอกขอให้ผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้อำนวยการเขตพิจารณาความเหมาะสมในการส่งครูเข้าร่วมกิจกรรมด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น