ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คณะกรรมการการโยธาฯ สภากทม. เร่งแก้ปัญหาสร้างถนนในเขตทวีวัฒนา และต่อเติมอาคารผิดกฎหมาย

(9 ก.พ. 54) ที่ห้องประชุม 2 สภากรุงเทพมหานคร : นายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ ประธานคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมพิจารณา เรื่องร้องเรียนกรณีการก่อสร้างปรับปรุงถนนศาลาธรรมสพน์ และกรณีบริษัท บอร์เนียว เทคนิเคิล(ประเทศไทย) จำกัด ต่อเติมอาคารผิดกฎหมาย โดยมีนายประสิทธิ์ มะหะหมัด สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสะพานสูง น.ส.รัตติกาล แก้วเกิดมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสายไหม นายชูชาติ ประเสริฐกรรณ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสามวา และคณะกรรมการฯเข้าร่วมประชุม
นายวิสูตร กล่าวว่า สืบเนื่องจากได้รับหนังสือจาก ส.ก. และ ส.ข. ซึ่งได้รับร้องเรียนจากประชาชนในเขตทวีวัฒนา กรณีก่อสร้างปรับปรุงถนนศาลาธรรมสพน์ ช่วงคลองทวีวัฒนาถึงสุดระยะที่กำหนดให้ โดยสำนักการโยธา กทม. และบริษัท แสงชัยโชค จำกัด ผู้รับจ้าง ก่อสร้างถนนทำให้เกิดฝุ่นละออง และพบดินตกหล่นในการวางท่อระบายน้ำ ซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่มาคอยแซะดินที่ตกหล่นและฉีดน้ำล้างถนน อีกทั้งก่อสร้างไม่เป็นไปตามสัญญาจ้างและขอบเขตเนื้องาน หากก่อสร้างเสร็จอาจทำให้ทางเท้าเกิดการทรุดตัวได้ ภายหลังตรวจสอบพบว่าอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 4 สำนักการโยธา โดยได้รับคำชี้แจงว่า การก่อสร้างของผู้รับจ้างนั้นได้ราดน้ำผิวจราจร บริเวณสถานที่ก่อสร้างในช่วงเวลา 08.00-09.00 น. และ 15.30–16.00 น. ของแต่ละวันเพื่อป้องกันฝุ่นละออง และได้เก็บวัสดุที่ตกหล่นบนผิวจราจรและทำความสะอาด นอกจากนี้ยังได้บดอัดทรายก้นท่อระบายน้ำและพื้นฐานทางเท้า โดยใช้เครื่องบดอัดชนิดสั่นสะเทือน ทั้งนี้ในการก่อสร้างทางเท้าได้ใช้วัสดุประเภทดินถม ทรายถม หรือหินฝุ่น บดอัดแน่นตามเกณฑ์ มาตรฐานไม่น้อยกว่า 95%
สำหรับเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัท บอร์เนียว เทคนิเคิล (ประเทศไทย) จำกัด ต่อเติมอาคารผิดกฎหมาย ซี่งสำนักงานเขตหลักสี่ ได้เข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นการก่อสร้างโครงหลังคาเหล็กปกคลุมถนนจำนวน 1 โครงหลังคา ตั้งอยู่อาคารเลขที่ 89/175 หมู่ 3 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม.เพื่อใช้เป็นอาคารเก็บสินค้าของบริษัท เขตฯ จึงได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร คำสั่งห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคาร หรือบริเวณอาคาร รวมทั้งคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขยื่นคำขอรับใบอนุญาต ก่อสร้าง ดัดแปลง อาคารแล้ว และจะได้ดำเนินคดีอาญาฐานก่อสร้าง ดัดแปลง อาคาร โดยมิได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ต่อไป
ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องร้องเรียนทั้ง 2 กรณีนี้ คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร จะได้ลงไปสำรวจพื้นที่ทั้ง 2 เขต โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพื่อหาข้อสรุป และทำรายงานถึงประธานสภากรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเรื่องให้ฝ่ายบริหารดำเนินการต่อไป นอกจากนี้คณะกรรมการฯ จะได้ทำบันทึกถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยตรงเพื่อความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น