ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สำนักผังเมือง กทม. เชิญสื่อมวลชนรับฟังร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับที่ 3

สำนักผังเมือง กทม. เชิญสื่อมวลชนรับฟังร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับที่ 3

เชิญสื่อมวลชนรับฟังร่างผังเมืองรวมฯ ปรับปรุงครั้งที่ 3 พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจแนวทางการพัฒนาพื้นที่ และแจ้งให้ผู้ได้รับผลกระทบร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะปิดประกาศ 8 ส.ค.นี้ ณ 50 สำนักงานเขต และสำนักผังเมือง ก่อนจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยภาพรวม 25 ส.ค.54 ณ ศูนย์เยาวชนกทม.(ไทย-ญี่ปุ่น)

(29 ก.ค.54) เวลา 10.00 น. : นาย พรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนาประชาสัมพันธ์ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ณ จังหวัดนครนายก โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย สื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ 50 สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร กองประชาสัมพันธ์ กทม. และผู้เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ ประมาณ 200 คน ร่วมการสัมมนา เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างภาคราชการและประชาชนในการเผยแพร่และทำความเข้าใจ ถึงเป้าประสงค์ วิสัยทัศน์ และแนวทางการพัฒนากรุงเทพมหานครไปสู่มหานครแห่งอนาคต พร้อมทั้งเป็นเวทีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาปรับปรุงร่างผังเมืองรวมให้เกิดประโยชน์สูงสุด และขอ ความร่วมมือสื่อมวลชน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องด้านการประชาสัมพันธ์ ในการประชาสัมพันธ์การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างผัง เมืองรวม ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 ส.ค.54 ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกด้วย

ภายหลังจาก กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549 หรือ ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) สิ้นสุดการบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 พ.ค.54 กทม.ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ผังเมืองรวมฉบับดังกล่าว ครั้งที่ 1 ต่อไปอีก 1 ปี เป็นสิ้นสุดการใช้บังคับในวันที่ 15 พ.ค.55 เพื่อดำเนินการร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3) ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากตระหนักว่า สภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญหลายประการ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจโลกและปัญหาด้านการเมืองของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนทางรางและเพิ่มจำนวนสายทาง และการก่อสร้างอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่บริเวณโดยรอบสถานีและในแนวสายทาง โครงการขนาดใหญ่ อาทิ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (เกียกกาย) สถานีมักกะสัน และปัญหาผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนเป็นต้น

สำหรับ การสัมมนาในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการ วางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ซึ่ง สำนักผังเมือง กทม. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่การประเมินผลผังเมืองรวมฉบับปัจจุบัน ต่อ เนื่องมาถึงการวางผังเมืองฉบับใหม่ เช่น การประชุมประชาชนตามกลุ่มเขต หน่วยราชการ ภาคเอกชน รวมไปถึงการออกไปหารือกับจังหวัดปริมณฑล รวมกว่า 35 ครั้ง และขณะนี้ ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ได้รับความเห็นชอบจากคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร และอยู่ในขั้นตอนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งเมื่อผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว จะนำร่างผังเมืองรวมฯ ปรับปรุงครั้งที่ 3 เสนอต่อกรมโยธาธิการและผังเมือง และคณะกรรมการผังเมืองเพื่อพิจารณาตามลำดับ จากนั้นจะปิดประกาศเป็นเวลา 90 วัน เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบและให้ข้อคิดเห็น กรณีที่มีคำร้องจากประชาชน คณะกรรมการผังเมือจะพิจารณาและสั่งให้ดำเนินการต่อคำร้องดังกล่าว ก่อนที่จะเสนอผังเมืองรวมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อดำเนินการออก กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมือรวมต่อไป

รองผู้ว่าฯ พรเทพ กล่าวว่า กทม.ได้จัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 โดย จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองในฝันและน่าอยู่สำหรับทุกคน รวมถึงแก้ไขผังเมืองให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน โดยใช้

หลัก การอ้างอิงจากสถิติประชากรศาสตร์ และข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับการพัฒนาสูงสุด โดยในวันที่ 8 ส.ค.54 กทม.จะปิดประกาศร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ณ 50 สำนักงานเขต และสำนักผังเมือง กทม. จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปและผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดทำร่างผังเมือง รวมฯ แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์สำนักผังเมือง www.bangkokplan.org และ http://cpd.bangkok.go.th และจัดทำประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนทั่วไป ในวันที่ 25 ส.ค.54 ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น