กทม. จัดสัปดาห์ฆ่ายุงลาย ส่งเจ้าหน้าที่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทั่วพื้นที่ 50 เขต รณรงค์ป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก เน้นมาตรการตัดวงจรไข้เลือดออก กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เสี่ยง 19 – 22 ก.ค. นี้ พร้อมนำร่องใช้ระบบ GIS ในโรงเรียน 7 แห่ง ติดตามสาเหตุการขาดเรียน หากพบเป็นโรคระบาดส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการป้องกันทันที
(19 ก.ค. 54) เวลา 09.00 น.: พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน “รวมพลัง...สัปดาห์ฆ่ายุงลาย” พร้อมปล่อยขบวนรถรณรงค์ ให้ความรู้ และปฏิบัติงานกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ณ โรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง จากนั้นเยี่ยมชมชุมชนโซน 7 และโซน 10 ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่มีการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมให้ปลอดลูกน้ำยุงลาย พบปะให้กำลังใจนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมรวมพลังทำความสะอาดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ณ วัดปากบึง เขตลาดกระบัง
กรุงเทพมหานคร กำหนดจัดงาน “รวมพลัง...สัปดาห์ฆ่ายุงลาย” ระหว่างวันที่ 19 – 22 ก.ค. 54 โดยส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่รณรงค์ ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในชุมชน พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง และสำนักงานเขต ร่วมมือกับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมถึงปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต โดยเฉพาะ 5 พื้นที่เสี่ยง ได้แก่ ชุมชนเสี่ยง ศาสนสถาน สถานศึกษา สถานพยาบาล และสถานประกอบการเสี่ยง อาทิ ร้านขายของเก่า ร้านเกมส์ ร้านขายยางรถยนต์ ส่วนพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดปริมณฑล ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมรณรงค์ด้วย
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำระบบติดตามเด็กนักเรียนที่ขาดเรียนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยผ่านระบบ GIS โดยนำร่องในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่เขตลาดกระบัง 7 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบัง โรงเรียนบึงบัว โรงเรียนสุเหร่าลำยโส โรงเรียนขุมทอง โรงเรียนวัดบำรุงรื่น โรงเรียนลำพะอง และโรงเรียนวัดพลมนีย์ ซึ่งเด็กนักเรียนทุกคนจะมีประวัติไว้ในระบบและทุกคนต้องสแกนลายนิ้วมือทุกวันที่มาเรียนทั้งก่อนเข้าเรียนและก่อนกลับบ้าน กรณีพบว่ามีนักเรียนขาดเรียน ครูจะตรวจสอบสาเหตุของการขาดเรียน หากเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคระบาด ก็จะทราบได้ทันทีว่ามีการระบาดในพื้นที่ใด และสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการป้องกันและควบคุมได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกมีอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องเร่งป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดและมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานคร ปี 2554 ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. – 16 ก.ค. พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก 4,888 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิต 4 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 85.73 ต่อแสนประชากร และอัตราป่วยตายร้อยละ 0.08 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทั้งประเทศ ซึ่งมีผู้ป่วยรวม 27,548 ราย จำนวนผู้ป่วยในกรุงเทพฯ คิดเป็นร้อยละ 17.74 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งประเทศ
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชนและบริเวณบ้านของตนเองอย่างจริงจัง พร้อมทั้งเฝ้าระวังไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นในชุมชน หากพบผู้ป่วยเป็นไข้นานกว่า 1 วัน หรือต้องสงสัยเป็นโรคไข้เลือดออกให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือโทร. สายด่วน กทม. 1555 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อกรุงเทพมหานครจะได้จัดส่งทีมเคลื่อนที่เร็วเข้าตรวจสอบพื้นที่ กำจัดแหล่งพาหะของโรค และระงับการแพร่ระบาดของโรคทันที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น