ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สร้างสถานประกอบการอาหารดีมีคุณภาพในกรุงเทพฯ

สร้างสถานประกอบการอาหารดีมีคุณภาพในกรุงเทพฯ

กทม. มอบเกียรติบัตรและป้ายสัญลักษณ์แก่สถานประกอบการ โรงงาน โรงแรม และห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านการประเมินยกระดับมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านอาหารประเภทการผลิตลูกชิ้น ขนมปังสด ขนมปังแห้ง ขนมจันอับ และขนมเปี๊ยะ เดินหน้าส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนให้ได้บริโภคอาหารสะอาด ปลอดภัยต่อเนื่อง

(29 ก.ค. 54) เวลา 14.00 น. ณ โรงแรมปริ๊นพาเลซ มหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย : พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานมอบเกียรติบัตรและป้ายสัญลักษณ์สถานประกอบกิจการประเภทขนมปังสด ขนมปังแห้ง จันอับ ขนมเปี๊ยะ และสถานประกอบกิจการประเภทการผลิตลูกชิ้นด้วยเครื่องจักร ที่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินตามโครงการการพัฒนายกระดับมาตรฐานสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม น้ำดื่ม ประจำปี 2554 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการต่อเนื่อง เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองอาหารปลอดภัย

พญ.มาลินี กล่าวว่า การตรวจประเมินคุณภาพสถานประกอบกิจการอาหาร เครื่องดื่ม และน้ำดื่มเพื่อควบคุม ป้องกัน และคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารประเภทต่างๆ ซึ่งกรุงเทพมหานครส่งเสริมให้สถานประกอบการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยว ในกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก การสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวได้บริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐาน จะช่วยสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว ถือเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ จากการตรวจประเมินสุขลักษณะสถานประกอบกิจการประเภทการผลิตลูกชิ้นด้วยเครื่องจักร ด้วยแบบตรวจสุขลักษณะตามหลักเกณฑ์ GMP กับการตรวจด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย พบว่า ในปี 2554 มีสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการตรวจ 42 แห่ง จากทั้งหมด 76 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 59.72 ซึ่งสถานประกอบการที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการตรวจส่วนใหญ่เกิดจากไม่เก็บ สิ่งของที่ไม่ใช้แล้วในบริเวณผลิต ไม่มีการบันทึกปริมาณการผลิต รวมถึงการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์และสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงานไม่ถูกต้อง เช่น ไม่สวมถุงมือหรือหมวกคลุมผม และปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นปัญหาในการบริหารจัดการที่ไม่มีผลต่อคุณภาพของ ลูกชิ้นโดยตรง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้กำชับผู้ประกอบการให้ควบคุมจุดวิกฤตของกระบวนการผลิตใน ขั้นตอนการบดผสมเนื้อไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมลงไปในเครื่องบดผสม และการต้มลูกชิ้นรักษาอุณหภูมิน้ำต้มให้พอเหมาะ เพื่อให้สามารถฆ่าเชื้อที่อาจปนเปื้อนมาได้ รวมถึงควรเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อรักษาสภาพผลิตภัณฑ์ให้มีความ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ส่วนการตรวจประเมินด้านสุขลักษณะสถานประกอบกิจการประเภทการทำขนมปังสด ขนมปังแห้ง จันอับ ขนมเปี๊ยะ เน้นตรวจประเมินสถานประกอบกิจการกลุ่มโรงงาน ห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นสถานที่หลักของการผลิตสินค้าก่อนกระจายให้กับร้านค้าต่างๆ อาทิ ตัวแทนจำหน่าย ศูนย์รวมผู้บริโภค และกลุ่มโรงแรมที่มีการต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งจากผลการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์วิธีที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice) ในสถานประกอบกิจการ 254 ราย ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมิน 218 ราย คิดเป็นร้อยละ 85.83 และไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมิน 36 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.17 เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ สถานที่ผลิตส่วนใหญ่ไม่มีมาตรการป้องกันสัตว์และแมลงเข้าไปในบริเวณการผลิต ไม่มีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ อีกทั้ง มีข้อบกพร่องในเรื่องสุขวิทยาส่วนบุคคลของผู้ปฏิบัติงาน เช่น ไม่สวมหมวกหรือผ้าคลุมผม สวมใส่เครื่องประดับขณะปฏิบัติงาน ไม่มีการกำหนดวิธีการหรือข้อปฏิบัติสำหรับผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตที่มีความจำเป็นต้องเข้าในบริเวณผลิต

สำหรับ สถานประกอบกิจการที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินดังกล่าว ทั้ง 2 ประเภท สำนักอนามัยจะประสานสำนักงานเขตเพื่อให้คำแนะนำและตรวจติดตามผลการปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่องด้านสุขลักษณะของสถานประกอบกิจการเพื่อพัฒนายกระดับสถาน ประกอบกิจการให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดต่อไป ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาสถานประกอบกิจการทั้ง 2 ประเภท ให้ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินทั้งหมดภายในปี 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น