ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กทม. ติวเข้มพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในโรงเรียน

กทม. ติวเข้มพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในโรงเรียน

(12 พ.ค. 54) ณ โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี : พญ.มนทิรา ทองสาริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 436 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในกรุงเทพมหานคร รวมถึงดูแล ป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ปัญหาการเรียนปัญหาด้านพฤติกรรมและลุกลามเป็นปัญหาทางสังคมที่ยากต่อการแก้ไข รวมทั้งอาจเป็นการเริ่มต้นของการใช้สารเสพติดต่อไป

สำหรับสถานการณ์การสูบบุหรี่ในปี พ.ศ. 2552 พบว่าในภาพรวมทั้งประเทศประชากรไทยมีแนวโน้มการสูบบุหรี่ลดลง แต่มีอัตราของนักสูบบุหรี่หน้าใหม่อายุ 15-24 ปี เพิ่มขึ้นจาก 1.60 ล้านคน เป็น 1.67 ล้านคน และเมื่อคิดอัตราการสูบบุหรี่ต่อคน พบว่ามีอัตราการสูบบุหรี่ต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 10.27 มวนต่อวันต่อคน สำหรับสถานการณ์ด้านการเข้าถึงแหล่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบพบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2555- 2553 มีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 โดยรอบโรงเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ร้อยละ 73 มีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในรัศมี 100 เมตร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในเวลา 7 นาที การเข้าถึงบุหรี่ของเด็กและเยาวชนอายุ 13-15 ปี พบว่าร้อยละ 47.9 สามารถซื้อบุหรี่ได้จากร้านค้าโดยผู้ขายไม่ปฏิเสธการขายทั้งๆ ที่ผิดกฎหมาย รองลงมาร้อยละ 25.5 ได้บุหรี่มาจากในบ้านของตนเอง และยังมีพฤติกรรมการขายแลกเปลี่ยนบุหรี่กับเพื่อนในวัยเดียวกัน

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ ได้กำหนดให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และเป็นสถานที่ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การประชุมครั้งนี้จะช่วยให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรับทราบและนำไปดำเนินงานในเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่ ในครู นักเรียน บุคคลากรในโรงเรียนและสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นเครือข่ายร่วมกันในการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในชุมชนรวมทั้งให้โรงเรียนเป็นสื่อสัญญาลักษณ์ในการสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ของสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น