ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

รณรงค์ต่อเนื่อง สร้างโรงเรียนเขตปลอดบุหรี่

กทม. จับมือมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเวทีสัมมนาแนวทางเดินหน้าโรงเรียนนำร่องปลอดบุหรี่ พร้อมจัดสัปดาห์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในหน่วยงานในสังกัด เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. 54 ชวน ลด ละ เลิก บุหรี่ ปลุกกระแสคุ้มครองสุขภาพ พิทักษ์สิทธ์ ปกป้องเยาวชน และนักสูบหน้าใหม่ภายใต้คำขวัญ“พิทักษ์สิทธ์ตามกฎหมาย มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่”
(24 พ.ค. 54) พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว “การจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2554” และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการดำเนินงานโรงเรียนนำร่องปลอดบุหรี่ โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และ นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)

นำร่อง 6 โรงเรียนกทม. ต้นแบบปลอดบุหรี่
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดกิจกรรมเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. 54 โดยจัดโครงการโรงเรียนนำร่องปลอดบุหรี่ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 6 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนบำรุงรวิวรรณวิทยา เขตดอนเมือง โรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ เขตประเวศ โรงเรียนมัธยมปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา โรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง โรงเรียนคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม และโรงเรียนพระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์ เขตบางบอน เพื่อรณรงค์ ส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมายอย่างจริงจัง และขับเคลื่อนให้เกิดโรงเรียนนำร่องปลอดบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นต้นแบบแก่โรงเรียนอื่นๆ พร้อมกันนี้ได้จัดสัมมนาโรงเรียนนำร่องปลอดบุหรี่ เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันระหว่างครูเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินโครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่ครอบคลุมโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 436 แห่ง ต่อไป
จัดสัปดาห์ชวนเลิกบุหรี่ 30 พ.ค. – 3 มิ.ย. 54
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครกำหนดจัดสัปดาห์รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระหว่างวันที่ 30 พ.ค. - 3 มิ.ย. 54 ณ สำนักงานเขต 50 แห่ง โรงเรียน 436 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดกทม. 9 แห่ง โดยจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนลด ละ เลิกบุหรี่ ตระหนักถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ที่มีสารพิษกว่า 4,000 ชนิด เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคมะเร็งปอด ซึ่งได้รับความร่วมมือสนับสนุนสื่อรณรงค์และประชาสัมพันธ์จากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว

พบนักสูบหน้าใหม่เป็นเยาวชนและผู้หญิงเพิ่มขึ้น
พญ.มาลินี กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยปีนี้องค์การอนามัยโลก กำหนดประเด็นการรณรงค์ว่า “The Framework Convention On Tobacco Control (WHO FCTC)” ภาษาไทย คือ “พิทักษ์สิทธ์ตามกฎหมาย มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่” ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ในปี 2552 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าภาพรวมทั้งประเทศประชากรไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่ลดลง แต่มีอัตราของนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ อายุ 15-24 ปี เพิ่มขึ้นจาก 1.60 ล้านคน เป็น 1.67ล้านคน จะเห็นได้ว่าปริมาณของผู้สูบบุหรี่ที่เป็นเด็กและเยาวชนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สำหรับผู้สูบที่เป็นวัยรุ่นหญิงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.8 และคาดว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้สูบบุหรี่ 1 ล้านคน ทั้งประเทศประมาณ 12 ล้านคน แนวโน้มผู้สูบเป็นเยาวชนและผู้หญิงเพิ่มขึ้น

สิงห์อมควันปรึกษาและบำบัดฟรีที่ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลสังกัด กทม.
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญและมีนโยบายลดการสูบบุหรี่และพิทักษ์สิทธิ์ผู้ไม่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการสถานที่สาธารณะลดควันบุหรี่โดยนำร่อง 2 พื้นที่เขต ได้แก่ เขตราชเทวี และเขตห้วยขวาง ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่าย บังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2553 เรื่องกำหนดชื่อหรือประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และกำหนดส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่สาธารณะดังกล่าวเป็นเขตสูบบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่อย่างจริงจัง รวมถึงเน้นย้ำให้ส่วนราชการของกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาล สถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร และสถานที่สาธารณะ หมั่นสอดส่อง ดูแล ตรวจตรา ไม่ให้มีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ในสถานที่ดังกล่าว หากพบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนได้ที่ ศูนย์รับแจ้งทุกข์ของกรุงเทพมหานคร โทร. 1555 ได้ 24 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่สามารถขอรับคำปรึกษาและเข้ารับการบำบัดได้ที่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดกทม. 9 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น