ปัญหายาเสพติดถือเป็นปัญหาระดับประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหา การแพร่ระบาดของยาเสพติด เนื่องจากเป็นเมืองหลวง มีความเจริญทางเศรษฐกิจสังคมอย่างรวดเร็ว และมีความหนาแน่นของประชากร จึงเป็นแหล่งจำหน่ายและแหล่งพักยาเพื่อส่งออกต่างประเทศและกระจายไปสู่ภาคต่างๆ ของประเทศ ส่งผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคม ทั้งอาชญากรรม ปัญหาการศึกษา ปัญหาสังคม ฯลฯ
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือการมุ่งแก้ปัญหาที่ตัวคนเป็นหลัก ทั้งในด้านการปราบปราม และการลดโอกาสของการติด การเสพ การทดลองใช้ยาหรือสัมผัสกับยาเสพติดรวมทั้งลดความต้องการในการใช้ยาซึ่งวิธีที่จะช่วยในการเลิกใช้ยาได้นั้น คือ การบำบัด รักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วย ซึ่งมีการบำบัด รักษาผู้ติดยาเสพติดในปัจจุบัน 3 ระบบดังนี้
ระบบต้องโทษ ผู้ติดยาเสพติดที่ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติดและถูกคุมขัง ต้องได้รับการรักษาพยาบาลภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบได้แก่ ทัณฑสถานต่างๆ ของกรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน แต่เนื่องจากสถานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อแก้ไขปัญหานี้จึงได้มีการจัดตั้งระบบบังคับบำบัดขึ้น
ระบบบังคับบำบัด ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพที่จัดตั้งขึ้น ผู้ติดยาเสพติดที่ถูกจับในฐานะผู้เสพจะถูกจับกุมและนำเข้าระบบบังคับบำบัดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 หากผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูฯ มีผลการบำบัดรักษาเป็นที่น่าพอใจก็จะถูกปล่อยโดยไม่ดำเนินคดี
ระบบสมัครใจ เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดที่ต้องการเลิกยาเสพติดโดยสมัครใจมีโอกาสเลือก ที่จะเข้ารับการบำบัดรักษา โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถูกดำเนินคดีมาก่อนและไม่มีกรอบของกฎหมายเป็นตัวบังคับ ขึ้นอยู่กับตัวผู้เสพเอง โดยมีสหวิชาชีพให้การดูแลและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการบำบัดรักษา รวมทั้งครอบครัวและชุมชนก็สามารถมีส่วนร่วมชักชวนให้ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่องได้
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดประสบความสำเร็จมากที่สุด กรุงเทพมหานครจึงมุ่งเน้นการบำบัดรักษาระบบสมัครใจ เพราะหากผู้เข้ารับการบำบัดรักษามีความพร้อมทางด้านจิตใจแล้ว จะเป็นการง่ายต่อการรักษาให้หายขาดจากอาการติดยา เพื่อที่จะได้เป็นอีกทางในการลดปัญหายาเสพติด ด้วยเหตุนี้กทม. จึงได้จัดเตรียมสถานบำบัดฟื้นฟูรักษาผู้ติดยาเสพติดทั้งระบบบังคับบำบัดและระบบสมัครใจในการรองรับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งขอรับบริการได้ที่ศูนย์ซับน้ำตาของสำนักการแพทย์ คลินิกยาเสพติด 18 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่งของกรุงเทพมหานคร โดยให้การบำบัด รักษา ฟื้นฟูสภาพผู้ติดยาเสพติดแบบระบบผู้ป่วยนอก รวมทั้งการบำบัด รักษา ฟื้นฟูสภาพผู้ติดยาเสพติดระบบผู้ป่วยใน ณ สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (บ้านพิชิตใจ) ของสำนักอนามัยเป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ติดยาเสพติดได้รับการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพแบบครบวงจร รวมทั้งฝึกทักษะอาชีพเบื้องต้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้สมาชิกสามารถกลับไปดำเนินชีวิตในสังคมตามปกติ สามารถรับคำปรึกษาและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2329 1353, 0 2329 1566
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น