ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

คณะกรรมการโยธาฯ เร่งตรวจสอบการดำเนินคดี ก่อสร้างต่อเติมอาคารโรงงานผิดกฎหมาย

คณะกรรมการโยธาฯ เร่งตรวจสอบการดำเนินคดี ก่อสร้างต่อเติมอาคารโรงงานผิดกฎหมาย

นายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง ในฐานะประธานคณะกรรมการการโยธา และผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด กรณีบริษัทบอร์เนียว เทคนิเคิลประเทศไทย จำกัด ก่อสร้างต่อเติมอาคารโรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งได้รับคำชี้แจงจากนางสาวระเบียบ กูบกระบี่ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ ว่า ขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้กับสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ แล้ว หากการสอบสวนพบว่ามีผู้ใดกระทำผิดขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกคน ซึ่งสำนักงานเขตหลักสี่ ได้ตรวจพบว่า บริษัทบอร์เนียว เทคนิเคิลประเทศไทย จำกัด ในฐานะเจ้าของอาคาร ได้ทำการดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้อนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ประกอบด้วย ชนิดโครงสร้างเหล็กชั้นเดียว ขนาดกว้างประมาณ 10x20 เมตร x สูง 5 เมตร จำนวน 1 หลัง ชนิดโครงสร้างเหล็กชั้นเดียว ขนาดกว้างประมาณ 10–17 เมตร x ยาว ประมาณ 90 เมตร x สูงประมาณ 5 เมตร จำนวน 1 หลังและชนิดโครงสร้างหลังคาเหล็ก ขนาดกว้างประมาณ 10 เมตร x ยาวประมาณ 60 เมตร x สูงจากพื้น 6 เมตร จำนวน 1 หลัง โดยใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณเสา คาน โครงสร้างหลังเป็นหลังคาเหล็กหลังคามุงด้วยเหล็กกรีดลอน (METAALSHEET) พื้น ค.ส.ล. ผนังก่ออิฐฉาบปูนบางส่วนจากพื้นประมาณ 1–2 เมตร เพื่อใช้ประโยชน์เป็นอาคารเก็บสินค้าของบริษัทฯ (ยาง ฟิมล์ น้ำมันเครื่อง)ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษตามมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 เหตุเกิดที่อาคารไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 3 ซ.วิภาวดีรังสิต 64 ถ.วิภาวดี แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่

ประธานคณะกรรมการการโยธา และผังเมือง สภากทม.กล่าวอีกว่า เนื่องจากคณะกรรมการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนค่อนข้างมากเกี่ยวกับการก่อสร้างและผังเมือง ทั้ง 50 เขต จึงหาข้อสรุปเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา รวมถึงติดตามตรวจสอบเพื่อประโยชน์ของกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งผลักดันให้เขตดำเนินการให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น ทั้งนี้แนวคิดของคณะกรรมการฯ เห็นว่า กทม.เป็นเมืองหลวง เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งบางเรื่องร้องเรียนไปที่เขต แต่แก้ไขแล้วอาจไม่จบลงที่เขต จึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องออกข้อบัญญัติฯ ใช้อำนาจท้องถิ่นที่มีอยู่ออกมาควบคุม บังคับใช้ ควบคู่ไปกับกฎหมายหลัก เพื่อให้เกิดมาตรฐานรัดกุมกันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น