ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

กทม. รุดตรวจสอบอาคารสูง หลังเกิดแผ่นดินไหว

กทม. รุดตรวจสอบอาคารสูง หลังเกิดแผ่นดินไหว

(25 มี.ค. 54) เวลา 11.00 น. : นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้โครงสร้างร่วมกับอาคารศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ และเป็นอาคารสูงที่อาจได้รับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศพม่า ระดับความรุนแรง 6.7 ริกเตอร์ เมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งแรงสั่นสะเทือนดังกล่าวได้กระจายไปทั่วภาคเหนือ และอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างและทางหนีไฟของอาคารดังกล่าว ไม่ปรากฏความผิดปกติแต่อย่างใด พบเพียงรอยร้าวจากการโบกปูน จากนั้นในเวลา 13.30 น. รองผู้ว่าฯกทม. ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารสูง ณ อาคารออลซีซั่นส์ ถ.วิทยุ ซึ่งมีความสูงของอาคาร 53 ชั้น แต่ไม่ปรากฏความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวเช่นเดียวกัน

รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า อาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานครที่ก่อสร้างภายหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 ส่วนใหญ่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวที่ระดับ 5 ริกเตอร์ได้ อีกทั้งอาคารสูงเหล่านี้จะมีวิธีการเฝ้าระวังและการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ จึงไม่น่าห่วงแต่อย่างใด แต่อาคารสูงที่ก่อสร้างก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น จำเป็นต้องมีการตรวจสอบโครงสร้างความมั่นคงแข็งแรงและปรับปรุงอาคารให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และสามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้มากขึ้น ทั้งนี้กทม. จะเสนอกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 เพื่อให้อาคารต่างๆ ที่ก่อสร้างก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติมีการปรับปรุงอาคารให้อยู่ในสภาพปลอดภัย และใช้วัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน นอกจากนี้ในส่วนของอาคารร้างและอาคารที่ปรับปรุงไม่ได้นั้น กทม. จะประสานวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบและปรับปรุงให้มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน ทั้งนี้กทม. ขอความร่วมมือจากเจ้าของอาคารสูงให้ทำการตรวจสอบโครงสร้างของอาคารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้อาคาร

รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวด้วยว่า หากเจ้าของอาคารสูงหรือประชาชนมีข้อสงสัยและต้องการให้กทม.เข้าไปตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร สามารถโทรแจ้งสายด่วนกทม. 1555 จากนั้นเจ้าหน้าที่จะโอนสายไปยังกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม. เพื่อให้ข้อมูลความรู้ อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบตามที่ร้องขอ ซึ่งขณะนี้กทม. ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบอาคารสูง ซึ่งอยู่ในย่านชุมชนและย่านธุรกิจเพื่อความปลอดภัยของประชาชน จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ อาคารชุดเสริมมิตรทาวเวอร์ 30 ชั้น อาคารชุดเฟิร์สทาวเวอร์ 22 ชั้น ศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ 29 ชั้น อาคารออลซีซั่นส์ 53 ชั้น อาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์ 58 ชั้น อาคาราชัยทาวเวอร์ 30 ชั้น อาคารเบญจินดา 36 ชั้น อาคารชินวัตร 3 ถ.วิภาวดีรังสิต 32 ชั้น อาคารไอทาวเวอร์ 32 ชั้น อาคารธนาคาราทหารไทย 34 ชั้น อาคารซันทาวเวอร์ 40 ชั้น และอาคารซันทาวเวอร์ 34 ชั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น