ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

กทม. ปรับแผนบริหารงบประมาณ มองไกลล่วงหน้า 10 ปี

กทม. ปรับแผนบริหารงบประมาณ มองไกลล่วงหน้า 10 ปี

กทม. สร้างภูมิคุ้มกันด้านการคลัง เตรียมนำแผนบริหารการเงินการคลังเชิงรุกระยะ 10 ปี มาใช้ เพื่อรักษาวินัยการคลังให้มั่นคง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้

(28 มี.ค. 54) ณ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2554 ว่า กรุงเทพมหานครเตรียมนำแผนบริหารการเงินการคลังในเชิงรุกระยะ 10 ปี มาใช้ในการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2564 เพื่อรักษาวินัยการคลังให้อยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงและมีภูมิคุ้มกัน พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาและพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่มีความพร้อม ทันสมัย และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนขยายฐานภาษี อำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกในการชำระภาษีและค่าธรรมเนียมแก่ประชาชน

สำหรับเป้าหมายของแผนบริหารการคลัง ประกอบด้วย 5 ประการ คือ 1. การตั้งงบประมาณเชิงรุก เพื่อให้มีเม็ดเงินในการลงทุนโครงการที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อการแก้ปัญหาใหญ่และดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงสร้างขวัญกำลังใจและพัฒนาบุคลากรของกรุงเทพมหานครให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. การบริหารการคลังเชิงรุกและรัดกุม โดยหลักการบริหารจัดการอย่างสมดุล ประกอบด้วย การบริหารรายรับที่มีประสิทธิภาพ ใช้แผนบริหารรายจ่ายที่รัดกุม คือ เก็บได้เท่าใด จ่ายเท่านั้น หากเงินไม่พอใช้ ให้ยืมเงินสะสม โดยคงเงินสดในบัญชีไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท และชดใช้ในปีถัดไป พร้อมดูแลสถานภาพการคลังให้มั่นคง 3. ผลักดันให้ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมากขึ้น เพื่อดำเนินการในโครงการตามนโยบายของรัฐบาลและโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวม โดยตั้งเป้ารับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นปีละ 3% ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป็นต้นไป ซึ่งหากได้รับเงินอุดหนุนตามเป้าหมายในระยะ 10 ปี ข้างหน้า กรุงเทพมหานครจะมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 2.7 แสนล้านบาท 4. มีแผนงบประมาณ 10 ปีล่วงหน้า เพื่อรองรับการบริหารงานสำหรับผู้บริหารกรุงเทพมหานครชุดต่อๆ ไป ให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นแผนที่มีภูมิคุ้มกัน โดยอ้างอิงจากสถิติการเติบโตของรายรับของกรุงเทพมหานครที่ไม่แน่นอน จึงกำหนดอัตราการขยายตัวในระดับที่ปลอดภัยที่ 3% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจไว้แล้ว และ 5. ก้าวข้ามข้อจำกัดงบประมาณและวางแผนบริหารรายได้ระยะยาว โดยใช้นวัตกรรมทางการเงิน เพื่อลดภาระงบประมาณและให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน ขยายฐานภาษีและปรับปรุงอัตราภาษีให้เป็นปัจจุบันและเหมาะสม ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี 2542 และจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากการให้บริการอย่างยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น